TOP

ความสงสัยข้างหลอดยาทาสิว Benzoyl peroxide

เชื่อว่าแทบทุกคนเคยประสบกับโรคผิวหนังที่อยู่คู่กับชีวิตวัยรุ่นมาทุกยุคสมัย โรคที่มา ๆ หาย ๆ แต่มาทีไรก็ทิ้งรอยไว้บนใบหน้าให้ปวดใจทุกครั้ง โรคผิวหนังโรคนั้นก็คือ ‘สิว’ นั่นเอง และเราก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เคยเป็นสิว หรือกำลังเป็นสิวอยู่ ต้องเคยผ่านการทายารักษาสิวในลักษณะครีมข้นสีขาว หรือเจลสีขุ่น ๆ ที่มี Benzoyl peroxide เป็น active ingredient ทั่วใบหน้าก่อนล้างหน้า 15 นาทีอย่างแน่นอน แต่หากยังนึกไม่ออก เรามีตัวอย่างหลอดยาที่ว่านี้ให้ทุกคนดูกัน

หลาย ๆ คนคงร้อง อ๋อ ! และคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับ Benzac AC® และ PanOxyl® แต่เคยสงสัยกันมั้ยว่า สิ่งที่เราทาลงบนผิวหน้าอันแสนบอบบางของเรานั้น มันคืออะไร มีหน้าที่อะไร ทาไปทำไม และออกฤทธิ์อย่างไร…?

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับยารักษาสิวที่แสนคุ้นเคย เราขออธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับสาเหตุของเจ้าโรคผิวหนังที่ชื่อว่า สิว ให้เข้าใจตรงกันก่อนดีกว่า

สิว เรื่องไม่สิวของวัยรุ่น

เชื่อมั้ยว่า แม้ว่าการแพทย์จะก้าวหน้าไปมากขนาดไหน แต่ทุกวันนี้ นักวิจัยทางการแพทย์ก็ยังไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุของการเกิดสิวได้หมด มีเพียงข้อสันนิษฐานที่ได้มาจากการทดลองต่าง ๆ โดยสามารถจำแนกสาเหตุแห่งสิวได้จาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายใน และ ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายใน ก็ได้แก่ ฮอร์โมน กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด

ส่วนปัจจัยภายนอก จะเป็นสิ่งที่ร่างกายได้รับ เช่น อาหารการกิน มลภาวะ ความเครียด แบคทีเรีย เป็นต้น

โดยสิวที่เป็นปัญหากับชีวิตวัยรุ่นมาก ๆ และน่ารำคาญเป็นที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้น สิวอักเสบ ที่ขึ้นมาทีไรก็ปวดตุบ ๆ มีหนอง และทิ้งรอยแดงเอาไว้ ซ้ำร้ายถ้าเป็นนาน ๆ หน้าก็เป็นหลุมสิวอีก ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ของสิวประเภทนี้ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Propionibacterium acnes

Propionibacterium acnes คืออะไร

Propionibacterium acnes เป็นแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างแท่ง ไม่ใช้ออกซิเจนในการเจริญแต่สามารถทนต่อออกซิเจนได้ในระดับหนึ่ง (aerotolerance anaerobic bacteria) เจริญได้ดีที่อุณหภูมิ 30-38 องศาเซลเซียส โดยชื่อ genus Propionibacterium นั้นได้มาจากความสามารถในการผลิต Propionic acid ของมัน และเป็นตัวการสำคัญตัวการหนึ่งในการทำให้เกิดสิวสักเสบ

Propionibacterium acnes ภายใต้ Scanning Electron Microscope

P. acnes นั้นชอบที่จะอาศัยอยู่ในรูขุมขนของเรา มีแหล่งอาหารคือน้ำมันจากต่อมน้ำมัน โดยจะเปลี่ยนน้ำมันที่ต่อมน้ำมันผลิตออกมาไปเป็นกรดไขมันอิสระ (และกรีเซอรอล) ซึงมีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการอักเสบของรูขุมขน และกระตุ้นให้ต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกติ

แล้วสิวเกิดขึ้นได้ยังไง?

ย้อนกลับมาที่การเกิดสิวกันนิดนึง วัฏจักรของสิวจาก P. acnes นั้นเริ่มมาจากการอุดตันของรูขุมขนจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว โดยอาจเป็นผลมาจากการผลัดเซลล์ผิวหนังผิดปกติ (Follicular hyperkeratinisation) และ/หรือมีฝุ่นเข้าไปอุดตัน เมื่อรวมกับน้ำมันที่ทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับออกซิเจนในอากาศแล้ว ก็จะกลายเป็นก้อนแข็งที่ขวางเส้นทางการระบายน้ำมัน (sebum) ที่ผลิตจากต่อมน้ำมัน (sebaceous gland) ในรูขุมขนของเรา

เมื่อรูขุมขนอุดตัน สิ่งที่ตามมาก็คือ ออกซิเจนในอากาศจะเข้ามาในรูขุมขนได้น้อยลงมาก และน้ำมันที่ถูกผลิตออกมาก็จะคั่งค้างอยู่ภายในรูขุมขน ซึ่งนี่คือสิ่งที่ P. acnes ใฝ่ฝัน ออกซิเจนน้อย และมีอาหารอย่างน้ำมันและเซลล์ที่ตายแล้วรวมกันอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เมื่อทุกอย่างพร้อม แบคทีเรียก็เจริญ เพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างมีความสุข

ทีนี้ ลองเลื่อนกลับขึ้นไปอ่านด้านบนดู…

ใช่แล้ว… การเจริญของ P. acnes ทำให้รูขุมขนของเราเกิดการอักเสบขึ้น และเมื่อเกิดอันตรายต่อส่วนในส่วนหนึ่งของร่างกาย ร่างกายก็ต้องหาวิธีกำจัดเจ้าแบคทีเรียนี้ด้วยระบบภูมิคุ้มกัน โดยการส่งเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage มาจับกิน, กระตุ้นให้ monocyte หลั่งสารสั่งทำลายเซลล์ (TNF-α) และ cytokines ต่าง ๆ และวิธีการอื่น ๆ รวมไปถึงกลไกการกำจัดแบคทีเรียด้วย Reactive Oxygen Species ซึ่งอย่างหลังนี้ก็เหมือนดาบ 2 คม เพราะมันออกฤทธิ์แบบไม่เลือกหน้า คือจะเป็นพิษต่อเซลล์ทุกชนิดรวมไปถึงเซลล์ผิวหนังของเราด้วย เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของเราทำงานไปนาน ๆ การอักเสบนั้นก็อาจลุกลามไปได้หากร่างกายไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพพอ ทำให้เกิดความเจ็บปวดจากการอักเสบในบริเวณที่เป็นสิว หนอง และรอยแดงจากสิว

จึงเป็นที่มาของยาทารักษาสิวที่มีอยู่หลากหลายชนิด ทั้งยาปฏิชีวนะ สารฆ่าหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อ สารกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ฯลฯ

Benzoyl peroxide คืออะไร

เจ้าสารเคมีที่เราคุ้นเคยบนหลอดยาทาสิวที่ beauty blogger ต่างยกให้เป็น a must คือสารประกอบอินทรีย์ที่ประกอบด้วย Benzoyl group 2 วง เชื่อมกันด้วย peroxide link มีคุณสมบัติในการรักษาสิว, ฟอกสีแป้ง ผม และฟัน และถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้กำหนด Benzoyl peroxide ให้เป็นหนึ่งในยารักษาโรคที่สำคัญในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน จึงสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาต่าง ๆ

โครงสร้างโมเลกุลของ Benzoyl peroxide ประกอบด้วย Benzoyl group 2 วง เชื่อมกันด้วย peroxide link

การออกฤทธิ์ของ Benzoyl peroxide (ต่อไปนี้จะขอเรียกสั้น ๆ ว่า BPO)  นั้นยังไม่เป็นที่สรุปอย่างแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่า เมื่อเราทา BPO ลงบนผิวแล้ว โมเลกุล BPO ซึ่งมีความเป็น lipophilic จะสามารถแทรกซึมผ่านชั้นผิวหนังเข้าไปในรูขุมขนได้เป็นอย่างดี จากนั้นก็จะสลายพันธะอย่างรวดเร็วและเกิดเป็น Benzoic acid และ oxygen radical ออกมา โดย radical นี้ก็จะเข้าออกซิไดส์โปรตีนบนเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียตาย ส่งผลให้การเจริญของ P. acnes ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า BPO สามารถช่วยลดการสร้างน้ำมันของต่อมน้ำมัน มีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอก, สามารถรีดิวซ์ Oxygen radical ที่เป็นตัวการหนึ่งในการกระตุ้นการอักเสบ และเป็น comedolytic กล่าวคือ สามารถทำให้โคมีโดน (comedones) ที่อุดตันอยู่ในรูขุมขนนั้นหลุดออกมาได้ง่ายอีกด้วย

สิ่งที่สำคัญคือ แบคทีเรียจะไม่เกิดการดื้อยาเหมือนการใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพ

ทำไมทาแล้วแสบหน้า?

แม้ว่า BPO จะมีข้อดีมากมาย แต่สารเคมีก็คือสารเคมีวันยังค่ำ การได้รับสารเคมีใด ๆ ล้วนส่งผลต่อร่างกาย ซึ่งอาการแสบหน้าหลังทาก็เป็นหนึ่งในผลข้างเคียงของ BPO ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีรายงานว่าผู้ใช้จำนวนหนึ่งซึ่งเซลล์ผิวหนังมีความไวต่อ BPO จะเกิดอาการแห้ง แดง ผิวหนังลอกเป็นขุย และรู้สึกแสบที่ผิวหนังได้ แพทย์ผิวหนังจึงแนะนำให้ใช้ BPO ความเข้มข้นต่ำ ๆ (2.5 – 5%) และปริมาณน้อย ๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้อีกจำนวนหนึ่งก็ไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ จากการใช้ BPO

ผลข้างเคียงอีกอย่างหนึ่งของการใช้ BPO ติดต่อกันนาน ๆ คือ การเสียสมดุลของประชากรจุลินทรีย์บนผิวหนังของเรา เพราะอย่างที่ได้บอกไปข้างต้นว่า BPO นั้นออกฤทธิ์แบบไม่จำเพาะ และไม่เกี่ยวข้องกับการต้านทานยาเหมือนกับยาปฏิชีวนะ ดังนั้น แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ ทำหน้าที่เหมือนฝ่ายรักษาความปลอดภัย คอยสร้างสาร/สภาวะที่ควบคุมจุลินทรีย์แปลกปลอมบนผิวหน้าของเราก็จะถูกกำจัดไปด้วย เมื่อแบคทีเรียเหล่านี้หายไป ปราการผิวของเราก็อ่อนแอลง ดังนั้นจึงควรใช้ในปริมาณพอเหมาะ และไม่ใช้ติดต่อกันนานเกินไป

อ่านจนถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าทุกคนคงได้ความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสิวที่เกิดจากแบคทีเรีย Propionibacterium acnes และยา Benzoyl peroxide ที่ฮอตฮิตในทุกกระทู้รีวิวการรักษาสิวกันไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี เราแนะนำให้ทุกคนที่กำลังประสบปัญหาสิวอยู่ ไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อหาวิธีการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม มากกว่าการวิเคราะห์อาการด้วยตัวเองแล้วพุ่งเข้าร้านขายยาไปซื้อยามาใช้เองนะ เพราะอย่าลืมว่า สิว เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุร้อยแปดพันประการ หากใช้ยาไม่ถูก ก็เหมือนแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ดีไม่ดีก็อาจส่งผลเสียกับผิวหน้าของเราด้วย 🙂

อ้างอิง: Cosmetics and Dermatologic Problems and Solutions, Third Edition By Zoe Diana DraelosRecent Advances in Acne Pathogenesis (2014)Treating Acne Vulgaris: Systemic, Local and Combination TherapyChemistryexplained (Acne Medication)Using Benzoyl peroxide to treat acneBenzoyl peroxidewhat does benzoyl peroxide do?The role of benzoyl peroxide in the management of acne vulgaris

5/5 (1 Review)

บัณฑิตจุลชีววิทยา (MCCU#39) หลงใหลในวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางจนเรียนต่อ ป.โท ก่อนจะพบความจริงอันโหดร้ายที่ว่ามันไม่ง่ายเลย

error: