TOP

ก่อนจะสูงเฉียดดาว ดอยเชียงดาวเคยเป็นทะเลมาก่อน

เทรนด์การปีนเขากำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นโดยเฉพาะช่วงสิ้นปีที่อากาศกำลังเย็นสบาย หนึ่งในสถานที่ที่พลาดไม่ได้ คือ ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย (ประมาณ 2,225 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) นอกจากความสวยงามของภูเขาที่โดดเด่นออกมาจากพื้นที่รอบข้าง ใครจะนึกว่าบริเวณที่ภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่ เคยเป็นทะเลมาก่อน!

ดอยเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน (ประมาณ 340-250 ล้านปี) หินปูนมีสีเทาและบางบริเวณมีสีเทาเข้ม ลักษณะเด่นของภูเขาหินปูนรวมถึงดอยเชียงดาวคือมีการแสดงลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst Topography) สังเกตได้จากยอดเขาแหลมหรือเป็นตะปุ่มตะป่ำเนื่องจากถูกกัดกร่อนไม่ว่าจะด้วยฝนกรดหรือลม

สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ เราสามารถพบซากดึกดำบรรพ์ (Fossils) ในหินปูนที่ดอยเชียงดาวด้วย!

ซากดึกดำบรรพ์สำคัญที่พบคือ ฟิวซูลินิด (Fusulinid) ซึ่งเป็นฟอสซิลดัชนี (Index Fossil) ที่บอกอายุหิน ว่ามีอายุอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัสถึงเพอร์เมียน นอกจากนี้ยังพบซากดึกดำบรรพ์พวกปะการังอีกด้วย ซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้เองเป็นตัวบอกพวกเราถึงสภาพแวดล้อมในอดีต(paleoenvironment) ว่า…
ดอยเชียงดาวเคยเป็นภูเขาใต้ทะเล (seamount)

ลักษณะหินปูนชนิดหนึ่งที่พบบนดอยเชียงดาว(Ueno & Charoentitirat, 2011)

รู้ได้ยังไงว่า ดอยเชียงดาว เคยเป็นภูเขาใต้ทะเลมาก่อน?

ลองนึกภาพตาม…

ประมาณ 250 ล้านกว่าปีก่อน บริเวณที่ดอยเชียงดาวตั้งอยู่เป็นทะเลที่สภาพแวดล้อมเหมาะให้สิ่งมีชีวิตทั้งฟิวซูลินิดหรือปะการังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีองค์ประกอบส่วนหนึ่งเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ดังนั้นพอพวกมันตาย จึงตกสะสมลงที่พื้นทะเลหรือบริเวณที่ราบสูงใต้ทะเล กลายเป็นภูเขาหินปูนใต้ทะเลนั่นเอง!

หลังจากนั้นกระบวนการธรณีแปรสัณฐาน ในกรณีนี้คือ การชนกันของแผ่นเปลือกโลกทวีป ได้ทำให้ทะเลโบราณปิดตัวลง และแผ่นเปลือกโลกยกตัวสูงขึ้นจนกลายเป็นดอยเชียงดาวอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

อะไรที่ทำให้ดอยเชียงดาว พิเศษกว่าที่อื่นๆ?

หากนึกถึงเวลาเราไปเที่ยวทะเล จะเห็นว่าพวกปะการังจะอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งมากนัก เป็นบริเวณที่น้ำทะเล ตื้น อุ่น และใส แสงแดดส่องถึง สิ่งมีชีวิตจะเจริญเติบโตได้ดี และพอมันตายก็จะตกสะสมเป็นหินปูน ดังนั้นหินปูนโดยปกติแล้วจะสะสมตัวบริเวณใกล้ๆชายฝั่งนั่นเอง

แต่ทว่า ดอยเชียงดาวไม่ได้เกิดอยู่ใกล้ชายฝั่งเลย! มันเกิดกลางทะเล! แล้วรู้ได้อย่างไร?….
ดอยเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูนที่มีการสะสมตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่มีตะกอนเม็ดจากบนบกมาแทรกเลย

พูดให้เข้าใจง่ายๆคือ
1. หากหินปูนเกิดใกล้ๆชายฝั่ง (บริเวณ I ในภาพ A) เราจะยังพอเห็นชั้นหินที่เป็นเม็ดทรายหรือตะกอนที่ถูกพัดมาจากบก มาแทรกตามหินปูนอยู่บ้าง แต่เพราะดอยเชียงดาวเกิดไกลออกไปจากชายฝั่ง (บริเวณ II ในภาพ A) จึงไม่พบพวกเม็ดตะกอนจากบกเลย
2. อีกหลักฐานหนึ่งที่มาสนับสนุนคือฟิวซูลินิดที่พบในดอยเชียงดาวเป็นสปีชีส์ที่มีอายุต่อเนื่องตั้งแต่คาร์บอนิเฟอรัสถึงเพอร์เมียนเลยทีเดียว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหินปูนตกสะสมตัวอย่างต่อเนื่องเป็นภูเขาลูกใหญ่อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

CD6(A) เปลือกโลกใต้มหาสมุทรที่ประกอบด้วยหินบะซอลต์ และภูเขาใต้ทะเล(www.fotolibra.com), (B) หินบะซอลต์รูปหมอน บริเวณ 40 กิโลเมตรทางทิศเหนือจากดอยเชียงดาว(Ueno & Charoentitirat, 2011)

นอกจากนี้ บริเวณที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นตกสะสม เป็นเปลือกโลกใต้มหาสมุทร (oceanic crust) ซึ่งเป็นหินบะซอลต์ที่่แสดงลักษณะเฉพาะ เรียกว่า ลาวารูปหมอน (pillow lava) เกิดจากการที่หินหนืด (magma) ใต้โลกปะทุออกมาเป็นลาวาบริเวณรอยแยกแผ่นเปลือกโลก สัมผัสน้ำทะเลและเย็นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นผิวของหินมีลักษณะกลม มน รูปทรงคล้ายหมอน (ภาพ A และ B)

หินบะซอลต์ที่โผล่ให้เราเห็นบนโลก จะมีลักษณะเนียนเรียบคล้ายเนินเทเลทับบี้ ไม่เป็นตะปุ่มตะป่ำ เหมือนหินปูน
ถ้าสังเกตดีๆ มันคือบริเวณฐานรอบๆของดอยเชียงดาว!

ด้วยหลักฐานของซากดึกดำบรรพ์ การไม่มีตะกอนจากบก บวกกับ หินบะซอลต์รูปหมอนที่ฐานภูเขา
ยิ่งเป็นหลักฐานเสริมกัน ว่าสภาพแวดล้อมในอดีตของบริเวณนี้ อยู่ไกลจากฝั่งและเคยเป็นทะเลแน่นอน! ?

ถ้าได้ไปเที่ยว ลองจินตนาการดูนะ (‘:

ป.ล. เมื่อสิ้นปี 2558 ได้มีโอกาสไปสันป่าเกี๊ยะกับเพื่อนที่ภาควิชา มองดอยเชียงดาวจากตรงนั้น แล้วมีความรู้สึกว่า…
“โอ้โหวว (สวยจัง) Seamount ใหญ่ขนาดนี้ จินตนาการไม่ถูกเลยว่าทะเลโบราณจะใหญ่โตแค่ไหนน… เจ๋งอะ!”

This is AMAZING!

References

  • Ridd, M. F., Barber, A. J., & Crow, M. J. (2011). The geology of Thailand. London: Geological Society.
  • Ueno, K., Charoentitirat, T., et al. (2008). The Doi Chiang Dao Limestone: Paleo-Tethyan Mid-oceanic Carbonates in the Inthanon Zone of
  • North Thailand. Proceedings of the International Symposia on Geoscience Resources and Environments of Asian Terranes (GREAT 2008), 4th IGCP 516, and 5th APSEG. Bangkok, 24-26 November 2008, 42-48.

0/5 (0 Reviews)
error: