New York City ป่าคอนกรีตอันแสนแออัด เป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดได้อย่างไร
เวลาเรานึกภาพผลกระทบของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม ภาพหนึ่งที่มักจะถูกเรียกขึ้นมาในหัวคือภาพของเมืองใหญ่ หนาแน่น รถติด เต็มไปด้วยตึก มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปล่อยของเสียมากมาย นอกจากนี้ยังมีการใช้พลังงานมหาศาล แตกต่างจากชนบนหรือชานเมือง ที่หนาแน่นน้อยกว่า ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่า ดู “เป็นมิตร” กับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
แต่จริงๆ แล้ว รูปแบบการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด ส่งผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด คือการอยู่ในเมืองใหญ่ บทความที่เขียนในครั้งนี้เป็นการเล่าเรื่องจากหนังสือ The Green Metropolis โดย David Owen
หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า เมืองใดในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด? หลายคนอาจนึกภาพเมืองชนบทสวยงาม หมู่บ้านกลางทุ่ง กระท่อมกลางป่า ผู้คนอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วคำตอบคือ New York City หรือมหานครนิวยอร์ก ศูนย์รวมความเจริญทุกรูปแบบ และเป็นบ้านของประชาชนหลายล้านคน
หลายคนอาจไม่เชื่อว่านิวยอร์กจะเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดได้ยังไง นิวยอร์กเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันหนึ่งของอเมริกา มีการใช้ไฟฟ้า ใช้ทรัพยากร และปล่อยของเสีย สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และใครก็ตามที่ไปเห็นสภาพของเมือง ความหนาแน่นของผู้คน ก็ยากที่จะจินตนาการได้ว่า นิวยอร์ก เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซ้ำร้าย หลายคนอาจจะคิดด้วยซ้ำว่า เมืองนิวยอร์กนี่แหละที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้นิวยอร์ก เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในอเมริกา ก็คือความหนาแน่นนี่แหละ แม้ว่าการใช้พลังงานของเมืองทั้งเมืองจะสูงมาก แต่เมื่อนำมาหารเฉลี่ยกับจำนวนประชากรในเมืองทั้งหมด จะพบว่า
ชาวเมืองนิวยอร์กนั้นมีอัตราการใช้พลังงานและทรัพยากร “ต่อหัว” ต่ำที่สุด ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้เพราะว่านิวยอร์ก เป็นเมืองเพียงไม่กี่เมืองในอเมริกาที่วิธีการเดินทางหลักของผู้คนคือ “การเดินและการขนส่งสาธารณะ” สัดส่วนประชากรนิวยอร์กที่มีรถยนต์นั้นต่ำสุดในประเทศ และคนส่วนใหญ่อยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และไม่มีข้าวของเยอะเหมือนคนอเมริกันทั่วๆไป การใช้ชีวิตของคนเมืองนิวยอร์กจึงประหยัด และมีประสิทธิภาพ และจากการที่ได้เดินทางไปเมืองนิวยอร์กด้วยตัวเองเมื่ออาทิตย์ก่อน ก็ได้พบว่าการเดินทางในเมืองนั้นสะดวกมากจริงๆ ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินครอบคลุมเกือบทั้งเมือง สามารถเดินทางไปเกือบทุกจุดเองได้อย่างสะดวกสบาย (แม้ว่าตัวสถานีและรางรถไฟจะสกปรกไปบ้างก็ตาม) รถในถนนก็มีไม่เยอะมาก ฟุตบาทกว้าง และมีคนเดินไปมามากมาย การมีรถยนต์ในเมืองนิวยอร์กนั้นเป็นภาระมากกว่าเป็นตัวช่วย
ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่ในชนบท ห่างไกลจากสถานที่ต่างๆ อัตราการใช้ทรัพยากรจะสูงขึ้นมาก บ้านจะมีขนาดใหญ่ และจะมีองค์ประกอบที่ … อาจจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ … หลายอย่าง เช่น สระน้ำ สนามหญ้า ฯลฯ ของเหล่านี้ต้องใช้พลังงาน ใช้สารเคมีในการดูแลมากมายมหาศาล สาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ท่อน้ำ สายไฟ ก็ต้องโยงมาไกลเพื่อบ้านเราบ้านเดียว หรือเพื่อนบ้านไม่กี่หลัง และสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ส่งผลกระทบมากที่สุดก็คือ รถยนต์ เพราะในการออกมาอยู่ไกลๆ รถยนต์ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ มีคนเคยเปรียบเปรยว่า การย้ายมาอยู่ข้างนอกเมืองไม่ใช่การย้ายมาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่เป็นการ “ย้ายมาอยู่ในรถ” เพราะจะไปทำอะไรนอกบ้าน ก็จำเป็นต้องใช้รถตลอด ไม่ว่าจะไปซื้อของ ไปโรงเรียน ไปหาหมอ ฯลฯ ซึ่งการขับรถส่วนตัวนั้นเป็นอะไรที่เปลืองพลังงานมากๆ เรามักจะคิดแค่ว่าการย้ายมาอยู่ในชนบทนั้นจะทำให้เราใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการบังคับให้เราต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นไปด้วย
การที่คนมาอยู่กันหนาแน่นนั้นช่วยให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทรัพยากรทุกอย่างที่ใช้ไปนั้นมีประโยชน์มากขึ้น เมื่อคนมาอยู่กันเยอะๆ ระบบขนส่งมวลชนก็สามารถดำเนินการให้เกิดกำไรได้ โครงสร้างพื้นฐานเช่นท่อน้ำ เสาไฟ ก็ไม่ต้องสร้างมาก ถนน ก็ไม่ต้องใหญ่มาก เพราะจำนวนคนที่ใช้รถมีไม่มาก บ้านคนจะมีขนาดเล็กลง ทำให้เรามีข้าวของน้อยลง ใช้ทรัพยากรน้อยลง
เวลาเราเห็นอัตราการใช้ทรัพยากร การปล่อยของเสียของเมืองใหญ่ๆ เราลืมคิดไปว่าในเมืองเหล่านี้ มีประชากรอยู่เท่าไหร่ และเมื่อหาค่าเฉลี่ยออกมาแล้วเป็นอย่างไร ทำให้หลายๆคนเข้าใจผิด คิดว่าเมือง เป็นผู้ร้าย เป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เมืองเป็นตัวช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมต่างหาก ลองนึกภาพง่ายๆ ว่าถ้าให้ทุกคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ไปใช้ชีวิตแบบคนในชนบท อยู่กันแบบกระจัดกระจาย “ใกล้ชิดธรรมชาติ” รับรองว่าจะไม่เหลือธรรมชาติให้ใกล้ชิดแน่นอน พื้นที่ทั้งหมดจะถูกบุกรุกและจับจอง และการใช้ทรัพยากรจะพู่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว
การที่เมืองนิวยอร์กเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เพราะว่าคนนิวยอร์กเป็นคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่สุด แต่เป็นเพราะว่าสภาพของเมืองบังคับให้ทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบนี้ เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบไม่รู้ตัว (unconsciously green) ซึ่งเป็นอะไรที่ดีไปอีกแบบ เพราะไม่จำเป็นต้องมีการบังคับใดๆ ทุกคนแค่ใช้ชีวิตตามปกติ ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว
สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือการวางผังเมือง ต้องออกแบบให้ผู้คนเดินทางได้สะดวกที่สุด ให้ระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพ และให้ให้ประชากรหนาแน่นแต่คุณภาพชีวิตไม่เลวร้าย นิวยอร์กมีความโชคดีตรงที่ เกาะแมนฮัตตัน มีน้ำล้อมรอบทุกด้าน ขยายไปไหนไม่ได้ เมืองก็เลยต้องออกแบบมาให้คนอยู่หนาแน่น เมืองเก่าๆในยุโรปหลายๆเมืองก็ได้เปรียบตรงที่สร้างมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ เลยต้องออกแบบให้คนเดินได้เป็นหลัก และผู้คนก็อยู่ใกล้ๆกัน แต่พอมีรถยนต์ ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อคนเรามีความสามารถที่จะเดินทางได้ไกลขึ้น เราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะกระจายตัวออกไปเรื่อยๆ เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “sprawling” คือเกิดเป็นชานเมืองรุกคืบออกไปเรื่อยๆ เหมือนเนื้องอก จนในปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ของอเมริกาเลย เมืองหลายๆเมืองนั้นทุกอย่างกระจายตัวมากจนรถยนต์กลายเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเมือง Durham ที่ตัวผมเองอยู่ในปัจจุบันก็เป็นแบบนี้เช่นกัน และต้องยอมรับด้วยว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ระบบขนส่งมวลชนค่อนข้างแย่ รัฐบาลเอางบประมาณไปพัฒนาระบบทางหลวงเป็นหลัก ต่างจากประเทศในทวีปยุโรปที่ระบบขนส่งมวลชนพัฒนาดีกว่ามากๆ เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นคนอเมริกาเค้าก็บอกว่าเหตุผลหลักที่เป็นแบบนี้เพราะ “American people loves their car so much.” รถยนต์เลยกลายเป็นวิธีการเดินทางหลักไป
เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ไม่ใช่เมืองที่บ้านแต่ละหลังมีสวนอยู่บนหลังคา มีแผลโซล่าร์เซลล์ มีกังหันลมไว้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือสร้างจากวัสดุธรรมชาติ แต่เป็นเมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นหลัก และบ้านของแต่ละคนมีขนาดไม่ใหญ่มาก เรามักจะนึกภาพการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ใช้พลังงานสะอาด เรามักจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์ “สีเขียว” ทั้งๆ ที่
วิธีการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด คือการใช้ชีวิตให้มีประสิทธิภาพในเชิงทรัพยากรและพลังงานมากที่สุด ใช้ทุกอย่างให้น้อยที่สุด
จากมุมมองส่วนตัว บทเรียนสำคัญจากหนังสือเล่มนี้อย่างหนึ่งคือ ชีวิตในเมืองอาจจะไม่ใช่ชีวิตที่น่าอยู่มากนัก แต่ก็เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยกว่าการอยู่นอกเมือง (อาจมีข้อยกเว้นบ้าง) และที่เขียนบทความนี้ไม่ได้ต้องการไล่ให้ทุกคนไปอยู่ในเมือง แค่ต้องการแสดงให้เห็นว่าความเป็นอยู่ในแต่ละรูปแบบสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ถ้าเราต้องออกไปอยู่ชนบทห่างไกล เราก็จะได้รู้ว่าการใช้ชีวิตของเรานั้นมีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากรมากกว่าชีวิตในเมือง จะได้พยายามลดให้ได้มากที่สุด และแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่ก็เชื่อหลักการนี้ก็สามารถเอาไปใช้กับประเทศอื่นๆได้เช่นกัน
บทเรียนอีกอย่างคือ เรามักจะใช้ “common sense” ในการทำความเข้าใจปัญหา ซึ่งมักจะไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงเท่าไหร่ สมองเรานั้นถูกข้อมูลหลอกลวงได้ง่ายมาก และความรู้สึกอาจจะเชื่อไม่ได้เสมอไป เหมือนตัวอย่างของเมืองนิวยอร์ก เรารับรู้ปริมาณการใช้ทรัพยากรในภาพรวม เห็นว่ามันเยอะ แต่เราลืมคิดเฉลี่ยต่อจำนวนคน ภาพที่เรารับรู้จึงผิดจากความเป็นจริง และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย การเข้าใจปัญหาแบบผิดๆ และพยายามแก้โดยที่ไม่รู้สาเหตุจริงๆ อาจจะทำให้ปัญหาแย่กว่าเดิมก็ได้