TOP

Fermi Paradox เมื่อดาวมีเป็นล้าน แล้วมนุษย์ต่างดาวหายไปไหน?

หากใครบางคนได้ลองแหงนหน้ามองดูท้องฟ้าตอนกลางคืน อาจจะเคยเห็นดาวต่างๆ ในค่ำคืนอันมืดมิด แสงดาวฤกษ์ที่ส่องสว่างระยิบระยับห่างออกไปหลายล้านปีแสง อาจทำให้เรานึกถึงใครบางคนหรือจับมือใครซักคนนั่งมองดาวบนฟ้าไปด้วยกัน หรือเคยคิดไหมว่า บนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ สิ่งที่เรากำลังมองคือจักรวาลอันกว้างไกล อาจจะมีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ อาศัยอยู่เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ ถ้าจักรวาลนั้นมีมนุษย์ต่างดาวอยู่จริงๆ แล้ว “ทุกคนไปอยู่ไหนกันหมด” นี่คือข้อสงสัยของคุณ Enrico Fermi นักฟิสิกส์ชาวอิตาลี ผู้ประดิษฐ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์คนแรกของโลก เราเรียกข้อสงสัยนี้ว่า Fermi Paradox 

เอกภพนั้นกว้างใหญ่

กาแลคซี่จำนวนมากมายในเอกภพนั้น มีการประมาณเอาไว้ว่าเมื่อรวมกันแล้ว มีจำนวนดาวมากถึง \(10^{22}\) – \(10^{24}\) นั่นหมายความว่ามันมีจำนวนเม็ดทรายบนโลกทั้งหมดรวมกันเสียอีก!

ดังนั้น เมื่อมีดาวเยอะแยะมากมายขนาดนี้ ก็น่าจะมีดาวที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ (sun-like star) เยอะไปด้วย เมื่อมีดวงอาทิตย์เยอะก็น่าจะมีดาวที่มีลักษณะคล้ายโลก (Earth-like) มากตามไปด้วย ดาวที่มีลักษณะคล้ายโลกนี้จะคำนึงถึงอุณหภูมิ ที่อาจจะมีน้ำและมีความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากถึง 100 ล้านล้านล้านดวง

และในจำนวนดาวคล้ายโลกทั้งหมด ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาอยู่บนดาวประมาณ 10,000 ล้านล้าน ดวง และในจำนวน 10,000 ล้านล้าน ดวง ก็น่าจะมีดาวของสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรมแบบเราหรือมากกว่าเราอยู่ 100,000 ดวง

แล้วทุกคนอยู่ไหนกันหมด?

การแบ่งประเภทอารยธรรมต่างๆ

ถ้าสมมติฐานของเราถูกต้อง องค์กรที่ทำหน้าที่ในการคอยฟังสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือ SETI (Search for Extraterrestrial Intelligence) ก็น่าจะต้องตรวจจับสัญญาณหนึ่งจากดาวทั้งหมด 100,000 ดวงได้บ้างแหละ แต่ก็เงียบกริบ… ซึ่งตั้งแต่การเกิดบิ๊กแบง ก็น่าจะมีดาวคล้ายโลกเกิดก่อนดาวโลกของเราอยู่หลายล้านปี และเป็นจำนวนที่มากพอที่สิ่งมีชีวิตบนดาวนั้นน่าจะพัฒนาอารยธรรมและเทคโนโลยีนำโลกของเราไป โดยมีวิธีการหนึ่ง ชื่อว่า Kardashev scale ซึ่งมีไว้สำหรับใช้ในการแบ่งอารยธรรมหลักๆ ออกเป็น 3 แบบได้แก่

Type I

อารยธรรมมีความสามารถในการใช้พลังงานจากดาวดวงนั้น โดยมนุษย์ชาติมีความใกล้เคียงกับ Type นี้)

Type II

เริ่มเจ๋งขึ้นมาหน่อย คือ อารยธรรมสามารถควบคุมพลังงานทุกอย่างได้จากดวงอาทิตย์ของดาวดวงนั้น ซึ่งอาจจะเริ่มยากสำหรับเราพวก Type I ที่จะจินตนาการถึง

Type III

สุดยอดของทุกอย่าง คือ เราสามารถดึงพลังงานจากทั้งกาแลกซี่ได้ทั้งกาแลกซี่มาใช้

ซึ่งถ้าหากมีอารยธรรมใดก็ตามที่อยู่ใน Type III ก็จะมีความสามารถในการเดินทางข้ามดาว หรือแม้กระทั้งสร้างอารยธรรม (colonize) ของตัวเองบนดาวเคราะห์ต่างๆ ในกาแลกซี่นั้น โดยการสร้างเครื่องจักรบางอย่างขึ้นมา และใช้เวลาประมาณ 500 ปีในการสร้างดาวเคราะห์ดวงถัดไปอีก 2 ดวง และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เสมือนการแตกหน่อ โดยจะใช้เวลาทั้งหมด 3.75 ล้านปี ในการสร้างอารยธรรมของตัวเองครอบคลุมทั้งกาแลกซี่

Colonizing the Galaxy

(ภาพจาก: waitbutwhy)

จากการอธิบายมาทั้งหมดนี้ ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิใน Type III อย่างน้อยๆ ก็ 1,000 อารยธรรมแหละน่า

แล้วทุกคนอยู่ไหนกันหมด?

ยินดีต้อนรับสู่ Fermi Paradox

แน่นอนว่า Fermi Paradox นั้นยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เราทำได้เพียงแค่ อธิบายสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ เท่านั้น ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในการอธิบายว่า ทุกคนอยู่ไหนกันหมด นั้น เริ่มจากการแบ่งประเภทของคำอธิบายออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่มีระดับสติปัญญาเหนือกว่าเรา (Type II และ Type III)

ดาวอื่นในเอกภพก็มีสิ่งมีชีวิต แต่เนื่องจากในการกำเนิดของเอกภพนั้น มีสิ่งทีเรียกว่า The Great Filter อยู่ ซึ่งเป็นตัวกรองของอารยธรรมต่างๆ หากผ่านตัวกรองนี้ไปได้ ก็จะเกิดการวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดด และมีแต่พวกเรานี่แหละที่ผ่านตัวกรองนี้มาได้ โดยสามารถแบ่งย่อยไปอีกว่า

  • 1.1 สิ่งมีชีวิตแบบเรานั้นหายาก

หมายความว่า เราได้ก้าวผ่าน The Great Filter มาเรียบร้อย และมีสิ่งมีชีวิตที่ก้าวผ่านตัวกรองนี้มาได้น้อยมาก ทำให้สิ่งมีชีวิตแบบเรานั้นหาได้ยาก

มีเพียงอารยธรรมของเราและอีกเพียงหนึ่งอารยธรรมที่ผ่าน The Great Filters (ภาพจาก: waitbutwhy)

  • 1.2 เราเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่ผ่านมาได้

พวกเราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ผ่าน The Great Filter มาได้ และกำลังมีวิวัฒนาการไปสู่อารยธรรมใน Type III

(ภาพจาก: waitbutwhy)

  • 1.3 เรายังไม่ดีพอ

หมายความว่า พวกเรายังไม่ได้ผ่าน The Great Filter มาด้วยซ้ำ ซึ่งอนาคตของเราอาจต้องเผชิญกับภัยทางธรรมชาติครั้งใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกรอง เช่น การระเบิดของรังสีแกมม่า แผ่นดินไหว อุกกาบาต เป็นต้น

(ภาพจาก: waitbutwhy)

2. มีชีวิตที่มีระดับสติปัญญาเหนือกว่าเรา (Type II และ Type III) แต่มีเหตุผลที่เรายังไม่รับรู้ถึงพวกเขา

ลืมเรื่องที่พวกเรานั้นหายาก เป็นพวกแรก หรือไม่ดีพอข้างบนนั้นไป เนื่องจากคำอธิบายกลุ่มนี้ไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านั้น โดยสามารถแยกย่อยคำอธิบายได้ออกเป็นความเป็นไปได้ทั้งหมดดังนี้

  • ความเป็นไปได้ที่ 1

    สิ่งมีชีวิตทรงปัญญาเหล่านั้นเคยมาหาโลกเราแล้ว ก่อนที่มนุษย์จะกำเนิดขึ้นมา

  • ความเป็นไปได้ที่ 2

    กาแลคซี่ของเราได้ถูกปกครองโดยเหล่าสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาแล้ว เพียงแต่เราอาศัยอยู่ในชายขอบของกาแลคซี่เท่านั้น (คือเราอยู่ในส่วนที่ยังไม่เจริญนั่นเอง)

(ภาพจาก: pics about space)

  • ความเป็นไปได้ที่ 3

    ความคิดเรื่องการล่าอาณานิคมนั้นเชยสำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีปัญญาสูงกว่าเรา

  • ความเป็นไปได้ที่ 4

    มีอารยธรรมที่มีความน่ากลัว (เป็นผู้ล่า) อยู่ อารยธรรมที่ดีๆ เลยต้องปกปิดตัวเองไว้ โดยการไม่ส่งสัญญาณอะไรออกมา

  • ความเป็นไปได้ที่ 5

    มีอารยธรรมที่สูงส่งมากเพียงอารยธรรมเดียว (ผู้ล่าเพียงหนึ่งเดียว) ซึ่งคอยกำจัดอารยธรรมที่จะก้าวขึ้นมาในระดับเดียวกัน

(ภาพจาก: comicvine)

  • ความเป็นไปได้ที่ 6

    มีสัญญาณส่งมาหาเราเยอะมาก แต่เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอในการตรวจจับ

  • ความเป็นไปได้ที่ 7

    เราได้รับสัญญาณที่ส่งมา แต่รัฐบาลปกปิดไม่ให้คนทั่วไปได้รับรู้

  • ความเป็นไปได้ที่ 8

    เราถูกเฝ้าดูอยู่โดยอารยธรรมที่สูงกว่า หรือที่เรียกกันว่า Zoo Hypothesis

  • ความเป็นไปได้ที่ 9

    อารยธรรมที่สูงกว่าเรานั้นอยู่รอบๆ ตัวเรานี่แหละ เพียงแต่เรามีสติปัญญาไม่เพียงพอที่จะรับรู้ (คืออาจจะอยู่กันคนละมิติ)

  • ความเป็นไปได้ที่ 10

    เราคิดผิดทั้งหมดเกี่ยวกับความเป็นจริง เราอาจเป็นเพียงแค่ Hologram หรือเราอาจจะกำลังถูกทดลองโดยใครสักคน (ออกแนว The Sims)

จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า เราอาจไม่ใช่หนึ่งเดียวในจักรวาลอย่างแน่นอน และการจะจินตนาการถึงสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาสูงกว่าเรา (Type II & III) ก็ยังเป็นเรื่องยาก จากการคำนวณโดย Carl Sagan นั้น เรายังอยู่เพียง Type ที่ 0.7 เท่านั้นgv’ ดังนั้นเรา มนุษยชาติยังต้องพบเจออะไรอีกมาก และการศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพ ก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นดีใช่ไหมล่ะ

ถ้าใครมีเรื่องอยากอธิบายเพิ่มเติม สามารถ comment ได้ข้างล่างนี้เลยนะครับ

อ้างอิง: waitbutwhy

5/5 (2 Reviews)

ผู้ร่วมก่อตั้งชมรม SCIREN ชอบการทำสื่อและการตลาด ชอบวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ

error: