TOP

“The Sounds of Earth” คำทักทายจากดาวโลกถึงใครสักคนในห้วงอวกาศไกลโพ้น

หลายคนคงมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริง แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับความเชื่อและความลึกลับของห้วงอวกาศ แต่ก็มีทฤษฎีที่เป็นไปได้ว่าอารยธรรมต่างดาวนั้นน่าจะมีอยู่ที่ใดที่หนึ่งในจักรวาลอันกว้างใหญ่ มนุษย์โลกผู้สร้างอารยธรรมบนดาวเคราะห์ดวงเล็ก ๆ แห่งนี้ พยายามอย่างยิ่งที่จะสำรวจและออกตามหาความเป็นไปได้เหล่านั้น หลายคนอาจจะคิดว่า การพยายามสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวเกิดขึ้นในยุคที่มีวิทยาการสมัยใหม่ แต่เชื่อหรือไม่ว่า มนุษย์โลกเคยติดต่อสื่อสารกับใครสักคนนอกอวกาศมาตั้งแต่ยุค 80 แถมยังเคยส่งคำทักทายออกไปหามาแล้วด้วย!

เราก้าวออกจากระบบสุริยะของเราเข้าสู่เอกภพ เพียงเพื่อแสวงหาสันติภาพและมิตรภาพ
เรารู้ดีว่าดาวเคราะห์ของพวกเราและผู้อยู่อาศัยบนโลกทุกสิ่ง เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของจักรวาลอันยิ่งใหญ่ที่ล้อมรอบเรา

ออกสำรวจห้วงอวกาศ

โครงการวอยเอจเจอร์ (Voyager Program) เป็นโครงการยานอวกาศสำรวจของสหรัฐอเมริกา สร้างขึ้นโดยองค์กร JPL ภายใต้การสนับสนุนของ NASA โครงการนี้ประกอบด้วยยานอวกาศ 2 ลำ คือ ยานวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 และถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี ค.ศ.1977 และกำลังจะครบรอบ 42 ปีแห่งการเดินทางออกจากโลก ยานอวกาศทั้ง 2 ลำมีภารกิจเพื่อเก็บข้อมูลสำรวจศึกษาเกี่ยวกับดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ในตอนแรก แต่ยานทั้งสองยังสามารถปฏิบัติภารกิจไปในห้วงอวกาศรอบนอกของระบบสุริยะต่อไปได้ จึงกำลังมุ่งหน้าไปสู่จักรวาลอันไกลโพ้นห่างจากโลกไปกว่า 2 หมื่นล้านกิโลเมตร และยังคงทำภารกิจมาจนถึงทุกวันนี้

 

ยานวอยเอจเจอร์ 2 ถูกปล่อย ณ ฐานปล่อยยาน Titan III-Centaur เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.1977

ยานวอยเอจเจอร์ 1 ถูกปล่อย ณ ฐานปล่อยยาน Titan III-Centaur เมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ.1977 หลังจากปล่อยยานวอยเอจเจอร์ 2 ไปแล้ว 2 สัปดาห์

 

คำทักทายจากดาวโลก

นี่คือของขวัญจากโลกใบเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกลแห่งหนึ่ง ส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์แห่งเสียง วิทยาศาสตร์
ภาพ ดนตรี ความคิด และความรู้สึกของพวกเรา

ส่วนหนึ่งของบันทึกถึงห้วงอวกาศของ จิมมี คาร์เตอร์ (James Earl “Jimmy” Carter, Jr)
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 39 ที่บันทึกไปกับยานวอยเอจเจอร์

แผ่นจานทองคำ ถูกติดตั้งบนยานอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 โดยแผ่นจานนี้มีชื่อว่า “เสียงจากโลก (The Sounds of Earth)”

 

ในโครงการวอยเอจเจอร์ มีการส่งข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโลก ติดขึ้นไปกับยานทั้ง 2 ลำ โดยเชื่อว่าจะเป็นแคปซูลกาลเวลา (Time Capsule) และเพื่อเป็นคำแสดงมิตรไมตรีจากโลกไปยังห้วงอวกาศ หรือส่งถึงใครสักคนที่อยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งในจักรวาล หากว่ายานลำใดลำหนึ่งโชคดีและได้ไปพบกับอารยธรรมอื่น โดยบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ลงบนแผ่นจานทองคำ (Golden Record) จำนวน 2 แผ่น ซึ่งบันทึกเสียงและภาพของเหตุการณ์ต่าง ๆ บนโลก เช่น ภาพของโลก สิ่งมีชีวิตบนโลก ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ดนตรี เพลง เสียงธรรมชาติ รวมถึงเสียงคำพูดทักทายในภาษาต่าง ๆ มากถึง 55 ภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วย

 

สวัสดีค่ะ สหายในธรณีโพ้น
พวกเราในธรณีนี้ขอส่งมิตรจิตมา­ถึงท่านทุกคน

 

เสียงคำทักทายภาษาไทย โดยคุณรุจิรา ชินพงศ์ เมนดิโอเนส (Ruchira Chinnapongse Mendiones)
บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 8 (สำเร็จการศึกษา พ.ศ.2485) ขณะที่บันทึกเสียงเธอมีอายุ 59 ปี

 

 

ตัวอย่างภาพที่ถูกบันทึกลงบนแผ่นจานทองคำ

ค่าพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ (© Frank Drake)

ค่าพื้นฐานทางฟิสิกส์ (© Frank Drake)

โครงสร้างพื้นฐานทางเคมีของ DNA (© Jon Lomberg)

Anatomy กระดูกร่างกายของมนุษย์โลก

Anatomy ระบบอวัยวะร่างกายของมนุษย์โลก

ตัวอ่อนของมนุษย์โลก

รถติดบนถนนในกรุงเทพฯ ประเทศไทย (© UN Photo)

สัตว์ป่าบนโลก

ดาวเคราะห์โลกเมื่อมองจากอวกาศ

ดูเนื้อหาบนแผ่นทองคำทั้งหมดได้ที่นี่ : Contents of the Voyager Golden Record

 

นอกจากคำทักทายจากผู้คนต่าง ๆ บนโลกแล้ว ยังมีข้อความแสดงไมตรีจิตจาก ควร์ท วัลท์ไฮม์ (Kurt Josef Waldheim) เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นตัวแทนจาก 147 ประเทศทั่วโลก ณ ขณะนั้น เพื่อส่งข้อความแด่ห้วงอวกาศในนามของมนุษยชาติไว้ว่า

ในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐสมาชิก 147 ประเทศที่เป็นตัวแทนของมนุษย์เกือบทุกคนบนโลกนี้ ข้าพเจ้าขอส่งคำทักทายในนามของผู้คนบนโลกของพวกเรา เราก้าวออกจากระบบสุริยะของเราเข้าสู่เอกภพ เพียงเพื่อแสวงหาสันติภาพและมิตรภาพ เพื่อสอนถ้าเราได้รับการร้องขอ เพื่อถูกสอนหากเราโชคดี เรารู้ดีว่าดาวเคราะห์ของพวกเราและผู้อยู่อาศัยบนโลกทุกสิ่งเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของจักรวาลอันยิ่งใหญ่ที่ล้อมรอบเรา แต่ด้วยความนอบน้อมและความหวัง เราจึงย่างเท้าเข้าสู่ห้วงอวกาศนี้

 

เทปเสียงบันทึกคำทักทายทั้ง 55 ภาษาที่เดินทางไปกับยานวอยเอจเจอร์

คำทักทาย 55 ภาษา เวอร์ชั่นรีมิกซ์

 

ปลายทางสุดท้าย

นับตั้งแต่ยานวอยเอจเจอร์ 1 เดินทางออกจากโลกเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ.1977 ซึ่งกำลังจะครบรอบ 42 ปี หลังจากยานวอยเอจเจอร์ 2 ที่เดินทางออกไปก่อนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ปีเดียวกัน ก่อนจะแซงหน้าและทะยานทำภารกิจสำรวจ คือ การบินเฉียดดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ไททัน ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ ตามลำดับ และขณะนี้กำลังมุ่งหน้าออกจากระบบสุริยจักรวาลของเราไปยังห้วงอวกาศลึก โดยปัจจุบัน (ส.ค. 2019) ยานวอยเอจเจอร์ 1 อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 22,000 ล้านกิโลเมตร

วอยเอจเจอร์ทั้งคู่ ถูกลิขิตให้เร่ร่อนไปในทางช้างเผือก อาจจะชั่วนิรันดร์

ภาพจำลองของยานอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 ยานอวกาศที่เดินทางไกลและยาวนานที่สุดของมนุษยชาติ เดินทางออกจากโลกในปี 1977 และยังส่งข้อมูลกลับมาจนถึงทุกวันนี้

 

ยานวอยเอจเจอร์ 1 จะเดินทางถึงเมฆออร์ต (Oort Cloud) อันเชื่อว่าเป็นพื้นที่ขอบของระบบสุริยจักรวาล ในอีก 300 ปีข้างหน้า และจะใช้เวลาเดินทางมากกว่า 30,000 ปีในการข้ามผ่าน ยานวอยเอจเจอร์ 1 จะท่องไปในอวกาศโดยไม่เป้าหมาย ไม่ชนกับวัตถุใด ๆ และไม่มีทางที่จะกู้คืนได้อีก โดยหลังจากปี ค.ศ.2020 อุปกรณ์ทั้งหมดที่ติดตั้งบนยานจะเริ่มถูกปิดการทำงาน หลังจากเริ่มทยอยปิดระบบบางอย่างเพื่อประหยัดพลังงานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 หลังจากนั้น ยานจะใช้พลังงานไฟฟ้าเท่าที่เหลืออยู่ในการติดต่อและรับการควบคุมจากโลก ยานวอยเอจเจอร์ 1 จะยังคงสื่อสารกับโลกไปจนกระทั่งปี ค.ศ.2025 ซึ่งคาดว่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับยานจะหมดลง

 

ท้ายที่สุดยานจะขาดการติดต่อกับโลกไปตลอดกาล
และโคจรอย่างโดดเดี่ยวไปในห้วงอวกาศชั่วนิรันดร์

 

สามารถติดตามภารกิจ สถานะและตำแหน่งของยานวอยเอจเจอร์ทั้ง 2 ลำได้ที่ https://voyager.jpl.nasa.gov/mission/status/

แหล่งที่มาอ้างอิง

5/5 (1 Review)

ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ ผู้หลงใหลความลับแห่งจักรวาล

error: