ดาวเทียม GOES-R ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศแล้ว เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 6.42 น. ตามเวลาประเทศไทย มันจะปฏิบัติหน้าที่เก็บข้อมูลด้านสภาพอากาศในสหรัฐอเมริกา และถือว่าเป็นดาวเทียมด้านสภาพอากาศที่ดีที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างมา
ดาวเทียม GOES-R ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศแล้ว
ดาวเทียมด้านสภาพอากาศใหม่ล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา ชื่อ GOES-R ได้ถูกปล่อยออกจากสถานีกองทัพอากาศแหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral Air Force Station) ในรัฐฟลอริดาเรียบร้อยแล้ว ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 6.42 น. ตามเวลาประเทศไทย ด้วยจรวด Alliance Atlas V และหาก GOES-R ได้ปฏิบัติการในวงโคจรเรียบร้อยแล้ว มันจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น GOES-16 แทน
"We have lift off!" NOAA'S GOES-R Satellite Heads to Orbit https://t.co/qKXExWbgdI pic.twitter.com/jRTbx5F0P5
— NOAA Satellites (@NOAASatellites) November 20, 2016
ดาวเทียม GOES-R ดาวเทียมด้านสภาพอากาศดีที่สุดที่เคยมีมา
ดาวเทียมในตระกูล Geostationary Operational Environmental Satellite หรือ GOES ได้เดินทางมาถึงรุ่นที่ 16 แล้ว ในชื่อ GOES-R (ยังไม่เริ่มปฏิบัติภารกิจ) ซึ่งรุ่นนี้ก็แน่นอนว่าเป็นรุ่นล่าสุดที่ประกอบใหม่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ ในด้านสภาพอากาศที่ดีที่สุดที่มนุษยชาติเคยมีมา โดยสิ่งที่ทำให้มันดีที่สุดประกอบไปด้วย 4 เหตุผลหลักดังนี้
1. พยากรณ์อากาศได้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ดาวเทียม GOES-R จะเปรียบเสมือนการเปลี่ยนผ่านจากยุคทีวีจอขาวดำมาเป็นทีวีจอสี ด้วยอุปกรณ์ทรงประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลชื่อ Advanced Baseline Imager หรือ ABI ซึ่งจะช่วยให้ช่วยให้องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ความสามารถในการเก็บข้อมูลด้านสภาพอากาศได้มากกว่าเดิม 3 เท่า มีคุณภาพมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า และรวดเร็วมากกว่าเดิมถึง 5 เท่า นอกจากนั้นเจ้า ABI นี้ก็ยังไปประยุกต์ใช้ในด้านที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศอย่างหลากหลาย ทั้ง มหาสมุทร ผืนดิน สภาพภูมิอากาศรวมไปถึงภัยพิบัติต่างๆ
2. ปฏิวัติวงการแผนที่ฟ้าแลบ
ดาวเทียม GOES-R จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่จะมีการจัดทำแผนที่ฟ้าแลบ (Lightning Mapper) ซึ่งโคจรอยู่ในอวกาศขึ้น อุปกรณ์จัดทำแผนที่บนดาวเทียมค้างฟ้าหรือ GLM จะทำหน้าที่ในการตรวจวัดฟ้าแลบทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งที่เกิดขึ้นในเมฆ ระหว่างก้อนเมฆ และระหว่างเมฆกับพื้นดิน อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งสหรัฐอเมริกาและพื้นที่มหาสมุทรโดยรอบ
สภาพอากาศที่เลวร้ายมักจะส่งสัญญาณในรูปแบบของฟ้าแลบที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการที่ GOES-R สามารถตรวจวัดฟ้าแลบและจัดทำเป็นแผนที่ตำแหน่งขึ้นมาได้นั้นจะทำให้มนุษย์สามารถพยากรณ์การเกิดพายุ หรือสภาพอากาศที่เลวร้ายในรูปแบบอื่นๆ ได้ก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน
3. ตรวจจับและคาดการณ์สภาพอากาศในอวกาศ
โลกยุคปัจจุบันต้องใช้ระบบไฟฟ้าในหลายๆ ด้านของชีวิต รวมไปถึงระบบสื่อสารไร้สายต่างๆ ซึ่งระบบพวกนี้อ่อนแอและอาจเสียหายเมื่อเจอพลังงานจากดวงอาทิตย์ที่ระเบิดออกมา แต่ด้วยเทคโนโลยีการตรวจจับสภาพอากาศในอวกาศจากดาวเทียม GOES-R ซึ่งมีเซนเซอร์ 2 ตัว ตัวแรกคือ SUVI จะคอยส่องดวงอาทิตย์อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง และวัดความเข้มของการระเบิดบนดวงอาทิตย์ รวมไปถึงตำแหน่งที่ระเบิดของพลังงานคลื่นแม่เหล็กที่เกิดขึ้น และหากการระเบิดของดวงอาทิตย์นี้เป็นอันตรายต่อโลก GOES-R จะส่งข้อมูลไปยังดาวเทียมอีกตัวชื่อ DSCVR เพื่อเตือนให้เราทราบก่อน 15-30 นาที เมื่อคลื่นแม่เหล็กที่เป็นอันตรายนี้เดินทางมาถึงโลก GOES-R ก็จะตรวจวัดสนามแม่เหล็ก อนุภาครังสี และส่งข้อมูลให้เราทราบอย่างแน่ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงของคลื่นแม่เหล็กนี้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นแบบนาทีต่อนาที
4. ภารกิจช่วยชีวิตจาก GOES-R
นอกจากข้อมูลด้านสภาพอากาศที่ GOES-R มีอย่างที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อนแล้ว ด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งบน GOES-R หากมันตรวจพบสัญญาณฉุกเฉินที่ส่งเข้ามา จากนักปืนเขา นักเดินเรือ นักบิน หรือใครก็ตาม มันจะส่งข้อมูลนี้ต่อไปยังองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือหน่วยงานด้านความปลอดภัยอื่นๆ เช่น ฐานทัพอากาศ เพื่อค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตต่อไป ยังช่วยส่งข้อมูลให้กับนักเดินเรือหรือนักบินที่ต้องการข้อมูลไปใช้ได้อีกด้วย
อ้างอิง: Space.com, GOES-R, NOAA: 6 Reasons Why NOAA’s GOES-R Satellite Matters, NOAA: GOES-R Launch