วันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาในห้องสี่เหลี่ยมไม่คุ้นเคย ตรงหน้าคุณมีอาหารจานโปรดตั้งตระหง่านส่งกลิ่นหอมฉุย คุณจะกินมันไหม? หากเปลี่ยนใหม่ บังเอิญว่าคุณตื่นมาแล้วพบว่าแทนที่จะยืนด้วยสองขา แต่คุณดั๊นยืนไม่ขึ้นเสียอย่างนั้น.. กลายสภาพเป็นหนูสีขาวขนฟู (แต่ยังดีว่าคุณไม่ตกใจกับสถานการณ์) แล้วตอนนี้ถ้าตรงหน้าคุณคือก้อนเนยแข็งหอมฉุย คุณจะกินมันไหมนะ?
สมองมนุษย์ไม่ต่างกับสมองหนูที่นำมาขยาย?
หากเปรียบเทียบความยับยั้งชั่งใจระหว่างคนกับหนู ฝ่ายที่มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ดีกว่าย่อมเป็นมนุษย์ แต่สำหรับในทางปฏิบัติ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีหลักฐานในการยืนยันว่าเพราะเหตุใดสมองของมนุษย์กับสมองของหนูจึงต่างกัน จนมีคำพูดที่ว่า “สมองมนุษย์ไม่ต่างกับสมองหนูที่นำมาขยาย”
หากแต่นักประสาทวิทยาสองกลุ่มสะดุดเจอเซลล์ประสาทชนิดหนึ่งโดยบังเอิญและร่วมมือกันสืบค้นหาคำตอบร่วมหลายปี ผ่านการใช้กรรมวิธีดั้งเดิมผสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะรูปร่าง รูปทรง หรือการทำงานก็ดูจะผิดแผกแตกต่างจากเซลล์ประสาทชนิดอื่น และสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือเซลล์ชนิดนี้ไม่พบในสิ่งมีชีวิตจำพวกหนู
“เราไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมสมองของมนุษย์จึงพิเศษกว่าสมองของสัตว์ชนิดอื่น” – Ed Lein, Ph.D., Investigator at the Allen Institute for Brain Science.
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เวลาร่วมกันหาคำตอบของปัญหาจนพบชิ้นส่วนจิ๊กซอตัวสำคัญยิ่ง การทดลองครั้งนี้ได้ใช้สมองของผู้บริจาคชายในช่วงอายุ 50 ปีสองคน โดยนำเนื่อเยื่อส่วน Cortex ตอนบนซึ่งเชื่อว่าเป็นส่วนทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ไม่ว่าจะจากขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนร่างกายหรือจากหน้าที่ที่มักข้องเกี่ยวกับระบบการรู้คิดที่ซับซ้อน “มันเป็นส่วนซับซ้อนที่สุด และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีรูปแบบซับซ้อนที่สุดในธรรมชาติ” Lein กล่าวเสริม
เซลล์ประสาทชนิดใหม่ ที่บ่งบอกว่าสมองมนุษย์แตกต่างจากหนู
Rosehip neuron คือชื่อของเซลล์ประสาทใหม่แกะกล่องชนิดนี้ เนื่องด้วยรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับกุหลาบที่เพิ่งสลัดกลีบไปจนหมด โดยนักประสาทวิทยาจำแนกอยู่ในกลุ่ม Inhibitory neurons ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการส่งข้อมูลของเซลล์ประสาท โดยขาของเซลล์ชนิดนี้ไปจับกับเซลล์ประสาทในพื้นที่ Cortex ส่วนอื่นที่ชื่อว่า Pyramidal neuron
“ถ้าคุณเปรียบ Inhabitory neurons เหมือนเบรครถละก็ Rosehip neurons จะทำให้เราหยุดรถในที่เฉพาะขณะคุณขับ” “ยกตัวอย่างเช่น การเบรครถเฉพาะเมื่อไปที่ทำงาน หรือตอนไปร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่ใช่รถทุกคัน (หรือสมองของสัตว์อื่น ๆ) จะมีเจ้าเบรคตัวนี้ด้วย” – Gábor Tamás, Ph.D., a neuroscientist at the University of Szeged in Szeged, Hungary
แม้งานทดลองชิ้นนี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าเซลล์ประสาทชนิดใหม่พบเฉพาะในมนุษย์ แต่ก็สามารถยืนยันได้ว่าไม่พบใน Rodent หรือสัตว์ฟันแทะอย่างหนูแน่นอน ส่งผลให้งานทดลองเกี่ยวกับโรคทางสมองในมนุษย์ที่มักทดลองกับหนูไม่อาจตอบโจทย์ได้อีกต่อไป รวมถึงสามารถปัดทิ้งวาทกรรมเหมารวมที่ว่า ‘สมองมนุษย์ไม่ต่างจากสมองหนูที่นำมาขยาย’ ได้อย่างสิ้นเชิง
“ผู้คนให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองเรื่องนี้มาหลายปี โดยงานวิจัยครั้งนี้สามารถตอบกลับประเด็นปัญหาข้างต้นจากหลายแง่มุม” – Trygve Bakken, M.D., Ph.D., Senior Scientist at the Allen Institute for Brain Science
ส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์สามารถนำมาอธิบายโมเดลได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลในโมเดลของสัตว์ แต่
สิ่งที่แยกเราจากสิ่งมีชีวิตอื่นคือความสามารถของสมองมนุษย์
การค้นพบเซลล์เล็กจิ๋วสามารถทำให้วงการวิทยาศาสตร์และมายาคติแบบเดิมถูกทำลาย ทั้งยังเปิดประตูให้กับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มากมายในอนาคต ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายต่อไปของ Tamás และทีมคือ การตรวจสอบชิ้นส่วนสมองของผู้มีพยาธิสภาพทางประสาทเพื่อดูความเกี่ยวข้องของ Rosehip Neuron ที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรคทางสมองในมนุษย์
อ้างอิง: Techology Networks, Allen Institue, DOI: 10.1038/s41593-018-0205-2