IWGSC ซึ่งประกอบด้วยทีมนักวิจัยจากนานาชาติ 200 คน ได้เผยแพร่รายละเอียดการเรียงลำดับของจีโนมข้าวสาลี ลงในวารสาร Science เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลา 13 ปี ในการวิจัย เนื่องจากยีนของข้าวสาลีนั้นมีมากกว่ามนุษย์ถึง 5 เท่า การทำแผนที่ยีนข้าวสาลีนี้จะช่วยให้เราสามารถดัดแปลงพันธุกรรมข้าวสาลีเพื่อทนต่อสภาพอากาศและโรคต่างๆ ได้ในอนาคต
จีโนมข้าวสาลี สำคัญอย่างไร วิจัยกันไปเพื่ออะไร
ในสิ่งมีชีวิต อย่างที่เรารู้กันว่าจะประกอบไปด้วย DNA และส่วนที่เรียงลำดับกันจนขึ้นมาเป็น DNA เราเรียกว่า ยีน (gene) ทีนี้ DNA ทั้งหมดที่อยู่ในสิ่งมีชีวิต เราเรียกมันว่าจีโนม (genome) นั่นเองครับ
ทีนี้ จีโนม คือ ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ใช้ในการสร้างและการดำรงชีวิตอย่างปกติของสิ่งมีชีวิต เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวหรือแผนที่ของสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งเลยทีเดียว
ข้าวสาลี เป็นพืชที่ปลูกกันมากที่สุดในโลก เพื่อใช้เป็นอาหารให้แก่มนุษย์และสัตว์หลายชนิด การศึกษาและทำความเข้าใจจีโนมของข้าวสาลี จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการดัดแปลงยีนของข้าวสาลี เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การดัดแปลงยีนเพื่อทำให้ข้าวสาลีทนต่อความร้อนได้มากขึ้น สร้างผลผลิตได้มากขึ้น เนื่องจากสภาวะโลกร้อน และยังรวมไปถึงการเพิ่มคุณภาพของสารอาหารในข้าวสาลี
มีการทำนายกันว่า ประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 9.6 พันล้านคนภายในปี 2050 ดังนั้นข้าวสาลีจึงต้องมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นถึง 1.6% ในทุกๆ ปี เพื่อให้ทันต่อความต้องการของมนุษย์
ทำไมการทำแผนที่จีโนมข้าวสาลี ถึงใช้เวลาวิจัยกันมากกว่า 13 ปี
จีโนมของมนุษย์เรา มียีนอยู่ประมาณ 30,000 ยีนเท่านั้น เป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจีโนมของข้าวสาลี ที่มีอยู่ประมาณ 120,000 ยีน ดังนั้น การศึกษาการเรียงลำดับของยีนต้องใช้นักวิจัยและเวลาอย่างมากในการศึกษา
International Wheat Genome Sequencing Consortium หรือ IWGSC ซึ่งประกอบไปด้วยทีมนักวิจัย 200 ชีวิต จาก 73 สถาบัน 20 ประเทศทั่วโลก ได้ทำการศึกษาวิจัย กันเป็นเวลาถึง 13 ปี ผลลัพธ์สุดท้ายคือแผนที่บ่งบอกตำแหน่งของยีนจำนวน 107,891 ยีน ยีนเครื่องหมายมากกว่า 4 ล้านยีน รวมไปถึงยังสามารถบอกความแตกต่างในการเรียงลำดับข้อมูลของยีนและยีนเครื่องหมายซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่มีผลต่อการแสดงออกของยีน
งานวิจัยชิ้นสำคัญนี้ ก็ได้ตีพิมพ์ลงใน Science ซึ่งเป็นวารสารระดับนานาชาติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา
อ้างอิง: IWGSC Press Release – The Wheat Code is Finally cracked, Phys.org, WIRED