TOP

Girls Don’t Cry เหตุผลของน้ำตา ร้องไห้ออกมาให้น้ำตาช่วยบรรเทา

ไม่ว่าใครก็คงมีเรื่องราวของความพยายามเพื่อความฝันและความหวังในชีวิต ไม่ต่างจากน้องๆ BNK48 ที่เป็นตัวอย่างของ “เด็กหญิงธรรมดาที่มีความพยายาม” น้องๆ ต้องฟันฟ่าอุปสรรคและการแข่งขัน ต้องเสียน้ำตาไปมากมายระหว่างทาง แต่เมื่อผ่านพ้นมาถึงเป้าหมายได้ เราจึงได้เห็นได้ว่า ผลของความพยายามสวยงามเพียงใด ถึงจะบอกว่า Girls don’t cry ให้เราเข้มแข็งขึ้น แต่น้ำตาก็ไม่ได้ไหลออกมาเฉพาะตอนที่เราเศร้าหรืออ่อนแอ แต่ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่ทำให้น้ำตาในวันนั้นก็มีประโยชน์ในวันนี้ด้วย

ทำไมน้ำตาถึงไหล ในแต่ละเหตุการณ์

จริงๆ แล้ว น้ำตาที่ไหลออกมานั้น สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท หลักๆ คือ น้ำตาที่ไหลเพราะความรู้สึก น้ำตาที่ไหลให้ความชุ่มชื้น และน้ำตาที่ไหลเพื่อป้องกันอันตราย ทั้ง 3 ประเภทนี้ มีเหตุผลที่แตกต่างกัน

น้ำตาที่ไหลเพราะความรู้สึก (Psychic tears)

น้ำตาประเภทนี้ เป็นน้ำตาที่ไหลออกมาในยามที่เราต้องการแสดงถึงความรู้สึกในด้านลบ ทั้งความเครียด ความกดดัน ความโกรธ ความเจ็บปวด ความทุกข์ และรวมไปถึงความรู้สึกในด้านบวก เช่น ในยามที่เราดีใจมากๆ หรือหัวเราะขำกลิ้งหยุดไม่ได้ ซึ่งน้ำตาที่ไหลเพราะความรู้สึกนี้ มีงานวิจัยบอกว่า จะมีฮอร์โมนโปรแลคติน, แอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมน (adrenocorticotropic; ACTH) และสารสื่อประสาทชื่อ Leu-enkephalin เป็นส่วนประกอบ

เราคงไม่สามารถร้องไห้โดยบังคับให้น้ำตาไม่ไหลได้ เพราะน้ำตาที่ไหลเพราะความรู้สึกนี้เป็นการไหลที่เป็นไปแบบอัตโนมัติ เนื่องจากระบบประสาทพาราซิมพาเตติกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติจะควบคุมต่อมน้ำตาผ่านสารสื่อประสาท และส่งต่อไปยังตัวรับชื่อนิโคตินิคและมัสคารินิก เมื่อตัวรับ 2 ชนิดนี้ถูกกระตุ้นโดยสารสื่อประสาท ต่อมน้ำตาก็จะหลั่งน้ำตาออกมา

(ภาพจาก:

(ภาพจาก: Beartai.com)

น้ำตาที่ไหลให้ความชุ่มชื้น (Basal tears)

หากใครเคยสังเกต น้ำตานี้จะไหลออกมาเอง บางคนก็บอกว่าไม่มีเหตุผล แต่จริงๆ แล้ว น้ำตาประเภทนี้ไหลออกมาเพื่อให้ดวงตาของเรามีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา น้ำตาประเภทนี้จะประกอบไปด้วย

  • น้ำ
  • ไกลโคโปรตีน
  • ไขมัน (lipid)
  • เอนไซม์ไลโซโซม
  • โปรตีนแลคโตเฟอริน และโปรตีนลิโปคาริน
  • สารภูมิต้านทาน (antibody)
  • น้ำตาลกลูโคส
  • ยูเรีย
  • โซเดียม และ โพแทสเซียม

ส่วนประกอบที่สำคัญในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย ก็คือเอนไซม์ไลโซโซมที่ทำหน้าที่ในการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน

ผลึกของไลโซโซมที่ถูกต้องด้วยเมทิลีนบลู (ภาพจาก: Wikipedia)

ผลึกของไลโซโซมที่ถูกต้องด้วยเมทิลีนบลู (ภาพจาก: Wikipedia)

น้ำตาที่ไหลเพื่อป้องกันอันตราย

เมื่อเราหั่นหัวหอม หรือระคายเคืองจากน้ำหอม แก๊ส หรือฝุ่งต่างๆ รวมไปถึงเมื่อตาของเราโดนแสงจ้า อาการไอ หรือตอนที่เราหาว น้ำตาประเภทนี้ก็จะไหลออกมาเพื่อล้างสิ่งสกปรก สารต่างๆ ที่อาจเป็นอันตราย เพื่อปกป้องดวงตาและอวัยวะภายในดวงตา ด้วยการควบคุมของเส้นประสาท Ophthalmic

ภาพแสดงเส้นประสาท Ophthalmic (ภาพจาก: anatomyqa.com)

ผู้หญิง ร้องไห้ง่ายกว่าผู้ชาย… จริงไหม?

งานวิจัยจากดร. William H. Frey  ซึ่งเป็นนักชีวเคมี ในปี 1980  พบว่า ผู้หญิงร้องไห้เฉลี่ยถึง 5.3 ครั้งต่อเดือน ในขณะที่ผู้ชายร้องไห้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.3 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยใหม่ในปี 2011 นำโดยดร. Lauren Bylsma จากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กพบว่าจำนวนครั้งการร้องไห้โดยเฉลี่ยของผู้หญิงและผู้ชายนั้น ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด

“ผู้หญิงร้องไห้ง่ายกว่าผู้ชาย” ก็อาจจะเป็นความจริงในเชิงชีววิทยาเนื่องจาก ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่แสดงลักษณะความเป็นชาย อาจเป็นตัวยับยั้งการร้องไห้ ในขณะที่ฮอร์โมนโปรแลคตินซึ่งพบมากในผู้หญิงจะเป็นกระตุ้นให้เกิดการร้องไห้

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากสถาบันวิจัย Cross-Cultural ได้ทำการศึกษาคนจาก 35 ประเทศ พบว่า อัตราการร้องไห้ของผู้หญิงและผู้ชายจะมากขึ้นในประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่า เช่น สหรัฐอเมริกา, ชิลี หรือสวีเดน แต่ในประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกน้อยกว่า เช่น กาน่า ไนจีเรีย และเนปาล ผู้หญิงจะมีอัตราการร้องไห้สูงกว่าผู้ชายอยู่นิดหน่อย

น้ำตาที่ไหลเป็นการส่งสัญญาณ เป็นการเอาตัวรอด

ตอนเราเป็นเด็ก เราต้องเคยร้องไห้ แม้ในยามที่พูดได้แล้ว หรือยังไม่สามารถพูดได้ เพราะการร้องไห้ของมนุษย์นั้น เป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งเพื่อแสดงออกถึงความกลัว ความหิว และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นการส่งสัญญาณไปยังพ่อ แม่ หรือคนในครอบครัว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามนุษย์ที่โตกว่า ว่าเราผู้เป็นเด็กนั้น ต้องการได้รับการปกป้อง ดูแล หรือแม้กระทั่งมนุษย์ที่โตแล้วก็ตาม การร้องไห้ก็เป็นการส่งสัญญาณไปยังเพื่อนมนุษย์ว่าเราต้องการความช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้ก็อาจสรุปได้ว่าการร้องไห้เป็นกลไกการเอาตัวรอดอย่างหนึ่งของมนุษย์

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในหนูตุ่น (mole rat) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกหนูในเขตแอฟริกาตะวันออก พบว่าตุ่นหนูที่ตาบอดจะใช้สารเคมีในน้ำตาทาไปทั่วทั้งตัวเป็นกลยุทธในการขับไล่หนูตุ่นที่ดุร้ายอีกด้วย

สุดท้ายนี้ไม่ว่าเราจะร้องไห้ด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม

ร้องไห้ออกมา ถ้ามันช่วยให้สบายใจ

อ้างอิง: Why we cry, The science of tear, Tear – WikipediaNobel Scientist’s Claim Examined: Do Women Actually Cry More?

0/5 (0 Reviews)

ผู้ร่วมก่อตั้งชมรม SCIREN ชอบการทำสื่อและการตลาด ชอบวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ

error: