Girls Don’t Cry เหตุผลของน้ำตา ร้องไห้ออกมาให้น้ำตาช่วยบรรเทา
ไม่ว่าใครก็คงมีเรื่องราวของความพยายามเพื่อความฝันและความหวังในชีวิต ไม่ต่างจากน้องๆ BNK48 ที่เป็นตัวอย่างของ “เด็กหญิงธรรมดาที่มีความพยายาม” น้องๆ ต้องฟันฟ่าอุปสรรคและการแข่งขัน ต้องเสียน้ำตาไปมากมายระหว่างทาง แต่เมื่อผ่านพ้นมาถึงเป้าหมายได้ เราจึงได้เห็นได้ว่า ผลของความพยายามสวยงามเพียงใด ถึงจะบอกว่า Girls don’t cry ให้เราเข้มแข็งขึ้น แต่น้ำตาก็ไม่ได้ไหลออกมาเฉพาะตอนที่เราเศร้าหรืออ่อนแอ แต่ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่ทำให้น้ำตาในวันนั้นก็มีประโยชน์ในวันนี้ด้วย
ทำไมน้ำตาถึงไหล ในแต่ละเหตุการณ์
จริงๆ แล้ว น้ำตาที่ไหลออกมานั้น สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท หลักๆ คือ น้ำตาที่ไหลเพราะความรู้สึก น้ำตาที่ไหลให้ความชุ่มชื้น และน้ำตาที่ไหลเพื่อป้องกันอันตราย ทั้ง 3 ประเภทนี้ มีเหตุผลที่แตกต่างกัน
น้ำตาที่ไหลเพราะความรู้สึก (Psychic tears)
น้ำตาประเภทนี้ เป็นน้ำตาที่ไหลออกมาในยามที่เราต้องการแสดงถึงความรู้สึกในด้านลบ ทั้งความเครียด ความกดดัน ความโกรธ ความเจ็บปวด ความทุกข์ และรวมไปถึงความรู้สึกในด้านบวก เช่น ในยามที่เราดีใจมากๆ หรือหัวเราะขำกลิ้งหยุดไม่ได้ ซึ่งน้ำตาที่ไหลเพราะความรู้สึกนี้ มีงานวิจัยบอกว่า จะมีฮอร์โมนโปรแลคติน, แอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมน (adrenocorticotropic; ACTH) และสารสื่อประสาทชื่อ Leu-enkephalin เป็นส่วนประกอบ
เราคงไม่สามารถร้องไห้โดยบังคับให้น้ำตาไม่ไหลได้ เพราะน้ำตาที่ไหลเพราะความรู้สึกนี้เป็นการไหลที่เป็นไปแบบอัตโนมัติ เนื่องจากระบบประสาทพาราซิมพาเตติกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติจะควบคุมต่อมน้ำตาผ่านสารสื่อประสาท และส่งต่อไปยังตัวรับชื่อนิโคตินิคและมัสคารินิก เมื่อตัวรับ 2 ชนิดนี้ถูกกระตุ้นโดยสารสื่อประสาท ต่อมน้ำตาก็จะหลั่งน้ำตาออกมา
น้ำตาที่ไหลให้ความชุ่มชื้น (Basal tears)
หากใครเคยสังเกต น้ำตานี้จะไหลออกมาเอง บางคนก็บอกว่าไม่มีเหตุผล แต่จริงๆ แล้ว น้ำตาประเภทนี้ไหลออกมาเพื่อให้ดวงตาของเรามีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา น้ำตาประเภทนี้จะประกอบไปด้วย
- น้ำ
- ไกลโคโปรตีน
- ไขมัน (lipid)
- เอนไซม์ไลโซโซม
- โปรตีนแลคโตเฟอริน และโปรตีนลิโปคาริน
- สารภูมิต้านทาน (antibody)
- น้ำตาลกลูโคส
- ยูเรีย
- โซเดียม และ โพแทสเซียม
ส่วนประกอบที่สำคัญในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย ก็คือเอนไซม์ไลโซโซมที่ทำหน้าที่ในการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน
น้ำตาที่ไหลเพื่อป้องกันอันตราย
เมื่อเราหั่นหัวหอม หรือระคายเคืองจากน้ำหอม แก๊ส หรือฝุ่งต่างๆ รวมไปถึงเมื่อตาของเราโดนแสงจ้า อาการไอ หรือตอนที่เราหาว น้ำตาประเภทนี้ก็จะไหลออกมาเพื่อล้างสิ่งสกปรก สารต่างๆ ที่อาจเป็นอันตราย เพื่อปกป้องดวงตาและอวัยวะภายในดวงตา ด้วยการควบคุมของเส้นประสาท Ophthalmic
ผู้หญิง ร้องไห้ง่ายกว่าผู้ชาย… จริงไหม?
งานวิจัยจากดร. William H. Frey ซึ่งเป็นนักชีวเคมี ในปี 1980 พบว่า ผู้หญิงร้องไห้เฉลี่ยถึง 5.3 ครั้งต่อเดือน ในขณะที่ผู้ชายร้องไห้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.3 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยใหม่ในปี 2011 นำโดยดร. Lauren Bylsma จากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กพบว่าจำนวนครั้งการร้องไห้โดยเฉลี่ยของผู้หญิงและผู้ชายนั้น ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด
“ผู้หญิงร้องไห้ง่ายกว่าผู้ชาย” ก็อาจจะเป็นความจริงในเชิงชีววิทยาเนื่องจาก ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่แสดงลักษณะความเป็นชาย อาจเป็นตัวยับยั้งการร้องไห้ ในขณะที่ฮอร์โมนโปรแลคตินซึ่งพบมากในผู้หญิงจะเป็นกระตุ้นให้เกิดการร้องไห้
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากสถาบันวิจัย Cross-Cultural ได้ทำการศึกษาคนจาก 35 ประเทศ พบว่า อัตราการร้องไห้ของผู้หญิงและผู้ชายจะมากขึ้นในประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่า เช่น สหรัฐอเมริกา, ชิลี หรือสวีเดน แต่ในประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกน้อยกว่า เช่น กาน่า ไนจีเรีย และเนปาล ผู้หญิงจะมีอัตราการร้องไห้สูงกว่าผู้ชายอยู่นิดหน่อย
น้ำตาที่ไหลเป็นการส่งสัญญาณ เป็นการเอาตัวรอด
ตอนเราเป็นเด็ก เราต้องเคยร้องไห้ แม้ในยามที่พูดได้แล้ว หรือยังไม่สามารถพูดได้ เพราะการร้องไห้ของมนุษย์นั้น เป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งเพื่อแสดงออกถึงความกลัว ความหิว และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นการส่งสัญญาณไปยังพ่อ แม่ หรือคนในครอบครัว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามนุษย์ที่โตกว่า ว่าเราผู้เป็นเด็กนั้น ต้องการได้รับการปกป้อง ดูแล หรือแม้กระทั่งมนุษย์ที่โตแล้วก็ตาม การร้องไห้ก็เป็นการส่งสัญญาณไปยังเพื่อนมนุษย์ว่าเราต้องการความช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้ก็อาจสรุปได้ว่าการร้องไห้เป็นกลไกการเอาตัวรอดอย่างหนึ่งของมนุษย์
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในหนูตุ่น (mole rat) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกหนูในเขตแอฟริกาตะวันออก พบว่าตุ่นหนูที่ตาบอดจะใช้สารเคมีในน้ำตาทาไปทั่วทั้งตัวเป็นกลยุทธในการขับไล่หนูตุ่นที่ดุร้ายอีกด้วย
สุดท้ายนี้ไม่ว่าเราจะร้องไห้ด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม
ร้องไห้ออกมา ถ้ามันช่วยให้สบายใจ
อ้างอิง: Why we cry, The science of tear, Tear – Wikipedia, Nobel Scientist’s Claim Examined: Do Women Actually Cry More?