ExoMars ภารกิจตามหาร่องรอยของชีวิตบนดาวอังคาร
เคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารไหม? คือคำถามสำคัญสำหรับมนุษยชาติที่ต่างกำลังค้นหาคำตอบของคำถามนี้อยู่อย่างแข็งขัน ซึ่งองค์การอวกาศยุโรปก็ได้เผยถึงแผนการอันยิ่งใหญ่กินเวลาตั้งแต่ปี 2016 นี้ไปจนถึงปี 2020 ในการสำรวจสภาพแวดล้อมและศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตามหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร
ภารกิจ ExoMars ตามหาร่องรอยของชีวิตบนดาวอังคาร
องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ร่วมมือกับองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Roscosmos) ในการปฏิบัติภารกิจ ExoMars 2016 และ ExoMars 2020 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้
วัตถุประสงค์ด้านการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ เช่น
- การค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารทั้งอดีตและปัจจุบัน
- การตรวจสอบน้ำและสภาพแวดล้อมเชิงธรณีเคมี (geochemical) ของดาวอังคาร
- การตรวจหาแก๊สและที่มาของแก๊สในชั้นบรรยากาศ
วัตถุประสงค์ทางเทคโนโลยี เช่น
- เทคโนโลยีการลงจอดของยานที่บรรทุกน้ำหนักมาก (large payloads)
- การใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนผิวดาวอังคาร
- การขุดเจาะ (ที่ความลึก 2 เมตร) เพื่อเก็บตัวอย่าง
- การพัฒนาเทคโนโลยีและความสามารถของยานสำรวจผิวดาว (ยานโรเวอร์)
ExoMars 2016: สำรวจ ทดสอบ ปูทางไปสู่ภารกิจในอนาคต
ภารกิจสำหรับโปรแกรม ExoMars ในปี 2016 นี้คือการส่งยานที่ชื่อ Orbiter และ Schiaparelli ไปสู่ดาวอังคารเพื่อตรวจหาแก๊สมีเทนรวมไปถึงการตามหาแก๊สอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของสิ่งมีชีวิตหรือกระบวนการทางธรณีวิทยาได้ โดยล่าสุด (ตุลาคม 2016) ยานพึ่งจะเดินทางถึงดาวอังคารได้สำเร็จ
YES! CONFIRMED! I'm in Mars orbit! #ExoMars pic.twitter.com/9qsegy8Hh2
— ExoMars orbiter (@ESA_TGO) October 19, 2016
ภารกิจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาแก๊สมีเทนและแก๊สอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีความเข้มข้นน้อยมาก (น้อยกว่า 1% ของชั้นบรรยากาศ) แต่อย่างไรก็ตามแก๊สเหล่านี้อาจเป็นกุญแจเพื่อนำไปสู่หลักฐานของสิ่งมีชีวิตหรือกระบวนการทางธรณีวิทยาบนดาวอังคารได้ โดยมีชื่อภารกิจว่า Trace Gas Orbiter (TGO)
ภารกิจ TGO นี้จะประกอบด้วยยานสำรวจ 2 ประเภทที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน นั่นก็คือยาน Orbiter และยานลงจอด Schiaparelli ในส่วนแรกคือ Orbiter จะทำหน้าที่โคจรรอบดาวอังคารเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพชั้นบรรยากาศ วัดปริมาณแก๊สมีเทนและสร้างแผนที่ รวมไปถึงแก๊สในชั้นบรรยากาศอื่นๆ และสาเหตุในการสูญเสียบรรยากาศของดาวอังคาร จากนั้นจะปล่อยยาน Schiaparelli เพื่อลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคาร
ภารกิจของยาน Schiaparelli ไม่ได้มีหน้าที่หลักในการสำรวจพื้นผิวของดาวอังคาร มันถูกส่งออกไปเป็นโครงการนำร่องเพื่อทดสอบเทคโนโลยีในการลงจอด ที่เรียกว่า “Aerobraking” เป็นการใช้แรงเสียดทานจากชั้นบรรยากาศและปรับวิถีวงโคจรอย่างช้าๆ เพื่อลงจอด เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับภารกิจ ExoMars 2020 ในการส่งยานโรเวอร์มาสำรวจดาวอังคารนี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามหาก Schiaparelli ติดตั้งเซ็นเซอร์ชื่อ DREAMS เพื่อใช้ในการตรวจวัดสภาพต่างๆ ของพื้นผิวดาว เช่น ความเร็วและทิศทางลม ความชื้น ความดัน อุณหภูมิพื้นผิว เป็นต้น
ล่าสุดดูเหมือนว่าการลงจอดของ Schiaparelli จะล้มเหลวเนื่องจากเกิดความผิดพลาดบางอย่างกับร่มชูชีพและเครื่องยนต์จรวดที่จะช่วยปรับทิศทางรวมถึงชลอความเร็วกลับจุดไม่ติดระหว่างการลงจอด และในตอนนี้มีการถ่ายภาพจุดตกของยานมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากข้อสรุปตอนนี้ ยาน Schiaparelli อาจเกิดการตกกระแทกด้วยความเร็วมากกว่า 180 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จนเกิดการระเบิด แต่อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ข้อมูลบางส่วนในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมาจากเซ็นเซอร์บน Schiaparelli เรียบร้อยแล้ว
Mars exploration is hard, and that’s one of the reasons we do it
ทำไมต้องศึกษาแก๊สมีเทน
เนื่องจากแก๊สมีเทนเป็นผลผลิตที่ได้จากแบคทีเรีย รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าดาวอังคารมีการปล่อยแก๊สมีเทนที่มีความเข้มสูงจากใต้พื้นผิวออกไปสู่ชั้นบรรยากาศอยู่เสมอ นอกจากนี้แก๊สมีเทนยังสามารถเกิดได้จากกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ หรือ การทำปฏิกิริยากันของน้ำและแร่บางชนิด
ดังั้นภารกิจ ExoMars นี้ ทั้งแผน 2016 ไปจนถึง 2020 จะเป็นหลักฐานในการยืนยันว่าดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตหรือมีความเคลื่อนไหว มีกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น น้ำ เกิดขึ้นอยู่หรือไม่ นั่นเอง
ExoMars 2020: ตรวจค้น เจาะลึก ดาวอังคาร
ภารกิจของ ExoMars 2020 จะทำการส่งยานโรเวอร์ของยุโรปและแท่นสำรวจพื้นผิว (surface platform) ของรัสเซีย ไปยังพื้นผิวของดาวอังคาร โดยอาศัยจรวดโปรตอน
ยานโรเวอร์จะมีหน้าที่แล่นไปบนพื้นผิวของดาวอังคารเพื่อทำการตรวจวัดคุณสมบัติของสเปกตรัม มีการขุดเจาะเพื่อเก็บตัวอย่างดิน ตะกอน หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ เพื่อนำมาประมวลผลและส่งข้อมูลกลับมายังโลกผ่านอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนตัวยานต่อไป โดยยานโรเวอร์จะมีความสามารถในการสร้างแผนที่อาศัยกล้องสเตอริโอและคำนวณเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาและเดินทางให้ได้ 100 เมตรต่อ sol. (sol. คือหน่วยเรียกวันบนดาวอังคาร)
แท่นสำรวจพื้นผิวจะอยู่กับที่เพื่อตรวจวัดสภาพแวดล้อม ณ จุดที่ยานลงจอด ซึ่งจะมีการถ่ายภาพในบริเวณนี้โดยตลอดเพื่อติดตามสภาพแวดอากาศและบรรยากาศในระยะยาว นอกจากนี้อุปกรณ์และเซ็นเซอร์บนแท่นจะถูกใช้เพื่อศึกษาดินภายในพื้นผิวที่ก่อให้เกิดน้ำ และตรวจวัดรังสีที่เกิดขึ้นบนผิวดาว เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับโครงการ ExoMars 2016 ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังตรวจหาธรณีวิทยาเชิงฟิสิกส์เพื่อศึกษาโครงสร้างภายในของดาวอังคารอีกด้วย
อ้างอิง: ESA: EXOMARS TRACE GAS ORBITER AND SCHIAPARELLI MISSION (2016), ESA: EXOMARS TRACE GAS ORBITER INSTRUMENTS, Wikipedia: ExoMars, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, ESA: EXOMARS MISSION (2020), ESA: EXOMARS ROVER, ESA: EXOMARS 2020 SURFACE PLATFORM, Popular Science