TOP

เสนอปฏิทินโลกแบบใหม่ 365 วันเท่าเดิม เพิ่มเติมคือมี 13 เดือน

จากบทความก่อนหน้านี้ที่เคยเล่าไว้เกี่ยวกับหลักการนับวัน เดือน ปี และแนวคิดที่ให้ 1 ปีมี 13 เดือนตามกลุ่มดาวจักรราศี 13 ชื่อ กันไปแล้ว วันนี้ผมมีแบบการนับ ปฏิทินโลกแบบใหม่ (International Fixed Calendar) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจมาให้ชาว soscity ได้รู้จักกัน

อารัมภบท

ปฏิทิน (calendar) เป็นสิ่งบอกเวลาที่มนุษย์คิดค้นและใช้กันมานับแต่สมัยโบราณ บนโลกนี้มีปฏิทินมากมายหลายยุคและหลายเผ่าพันธุ์ โดยพัฒนาและปรับเปลี่ยนเรื่อยมา โดยอาศัยการอ้างอิงจากตำแหน่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฤดูกาล หรือแม้กระทั่งกลุ่มดาวจักรราศี ปฏิทินบนโลกจึงถูกปรับปรุงนับครั้งไม่ถ้วน อันเนื่องมาจากการเหลื่อมกันของวันเวลาที่ใช้อ้างอิงเหล่านั้น ทำให้ฤดูกาลกับวันสำคัญคลาดเคลื่อนสะสมจากเดิมไปทุกปี จนกระทั่งมีการปฏิรูปปฏิทินครั้งสำคัญเกิดขึ้นราว 400 ปีก่อน เป็นปฏิทินที่ทั่วโลกนิยมใช้และเข้าใจความหมายเหมือนกัน ซึ่งก็คือปฏิทินปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่ มีชื่อเรียกว่า ปฏิทินเกรโกเรียน (Gregorian Calendar)

ทำความรู้จักกับสิ่งที่เรารู้จักดีอยู่แล้ว

เป็นที่เข้าใจกันว่าปฏิทินเกรโกเรียน เป็นปฏิทินที่แม่นยำโดยยึดตามหลักสุริยคติ (อ้างอิงตำแหน่งของโลกต่อดวงอาทิตย์) โดยให้ใน 1 ปีมี 365 วัน แบ่งเป็น 12 เดือน แต่ละเดือนมีจำนวนวัน 28-31 วัน โดยในทุก ๆ 4 ปี กำหนดให้เพิ่มวันเข้าไปอีก 1 วัน เนื่องจากเป็นผลจากการปัดเศษเวลาเฉลี่ยที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยให้ปีนั้นเรียกว่า ปีอธิกสุรทิน (Leap year) ซึ่งทำให้ในปีนั้นมี 366 วัน โดยวันที่ที่เพิ่มเข้ามาคือวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ดังเช่นที่พวกเราเข้าใจเสมอมา

อย่างไรก็ตามยังมีหลักเพิ่มเติมลงไปอีก เนื่องจากในความเป็นจริงเมื่อคำนวณอย่างละเอียดแล้ว ระยะเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ (1 ปี) ใช้เวลาประมาณ 365.242199074 วัน แต่ปฏิทินเกรโกเรียนกำหนดให้หนึ่งปีมี 365.2425 วัน จึงกำหนดให้ปีที่หารด้วย 100 ลงตัวไม่ใช่ปีอธิกสุรทิน ยกเว้นปีที่หารด้วย 400 ลงตัว (ไม่งงนะ) เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากปฏิทินเกรโกเรียนถูกออกแบบมาเพื่อรักษาวันวสันตวิษุวัต (Vernal equinox) ให้ใกล้เคียงกับวันที่ 21 มีนาคมซึ่งเป็นหนึ่งในวันที่แกนโลกเลื่อนมาอยู่ในระนาบได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ ซึ่งวันนั้นกลางวันจะเท่ากับกลางคืนมากที่สุด

หลักการทดเวลาในลักษณะเช่นนี้ยังคงต้องรักษาไว้เช่นเดิม เพื่อเป็นการรักษาระยะฤดูกาลโลกให้ใกล้เคียงกันทุกปี แม้ว่าเศษตัวเลขจะค่อยๆ สะสมทบกันมานับหลายร้อยปีแล้วก็ตาม

สิ่งที่เป็น Original ไม่ได้แปลว่าจะต้องดีเสมอไป

อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าปฏิทินไม่ว่าจะฉบับใดก็ตาม ยังต้องอาศัยวิธีการนับทดเวลาเช่นนี้เสมอ เป็นเพราะฤดูกาลและเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ไม่ได้เกิดซ้ำเป็นจำนวนเต็มวัน แต่จากปฏิทินเกรโกเรียนที่เราคุ้นชินนั้น มีสิ่งสังเกตสำคัญที่หลายคนน่าจะสงสัย หรือต้องการคำอธิบาย นั่นก็คือจำนวนวันในแต่ละเดือน ทำไมถึงต้องมี 28 30 หรือ 31 วัน และทำไมใน 1 ปี ถึงต้องมี 12 เดือน

ตอบแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ มันถูกกำหนดขึ้น เพราะปฏิทินแต่ละยุคนั้นแน่นอนว่าไม่ได้มีจำนวนเดือน จำนวนวันอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ จนกระทั่งปี ค.ศ. -45 (45 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ปฏิทินจูเลียนที่สร้างโดยจูเลียส ซีซาร์ กำหนดให้ 1 ปีมี 12 เดือน เดือนคี่มี 31 วัน เดือนคู่มี 30 วัน ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์มี 28 วันในปีปกติสุรทินและ 29 วันในปีอธิกสุรทิน

ปฏิทินจูเลียน (Julian calendar)

ปฏิทินจูเลียน (Julian calendar)

ซึ่งจุดนี้เองกำลังเป็นที่สนใจกันในปัจจุบัน (เข้าเรื่องได้สักที) ว่าการกำหนดจำนวนวันในแต่ละเดือนดังนี้นั้น มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่

ใดๆ ในโลกล้วนต้องมีการเปลี่ยนแปลง

Moses Bruine Cotsworth (Dec 3, 1859 – Jun 4, 1943) นักบัญชีชาวอังกฤษ เคยเสนอวิธีการนับปฏิทินแบบใหม่ (International Fixed Calendar; Cotsworth plan) ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1902 (ราว 100 ปีที่แล้ว) ซึ่งวิธีที่เขาคิดค้นขึ้นนั้น อาจน่าสนใจสำหรับใครบางคนมากกว่าปฏิทินปัจจุบันก็ได้

หลักการ

  • 1 ปี มี 365 วัน (หรือ 366 วันสำหรับปีอธิกสุรทิน)
  • 1 ปี มี 52 สัปดาห์ ทุกสัปดาห์เริ่มต้นด้วยวันอาทิตย์ ลงท้ายด้วยวันเสาร์
  • แต่ละเดือน มี 4 สัปดาห์ และมีจำนวนวันเท่ากันเสมอคือ 28 วัน
  • ส่งผลให้ 1 ปี มี 13 เดือน แต่ละเดือนมีหน้าตาเหมือนกันเป๊ะ แบบนี้
SUNMONTUEWEDTHUFRISAT
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728

 

ซึ่งถ้านับดีๆแล้ว ปฏิทินนี้จะบรรจุวันได้ทั้งหมด (7 วัน)×(4 สัปดาห์)×(13 เดือน) = 364 วัน จึงกำหนดให้วันสุดท้ายของปีเป็นวัน Year Day ซึ่งกำหนดให้เป็นวันอาทิตย์ดับเบิล (Double Sunday) ก่อนจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 1 มกราคมในปีถัดไป โดยหากปีใดเป็นปีอธิกสุรทิน (ปีที่มี 366 วัน) ก็กำหนดให้มีวันอาทิตย์ดับเบิลเพิ่มในวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน เรียกว่าวัน Leap Day ก่อนจะขึ้นเดือนใหม่ และกำหนดให้เดือนที่ 13 แทรกอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ชื่อเดือนว่า Sol เพราะเป็นช่วงกลางฤดูร้อน (ของประเทศแถบตะวันตก) ปฏิทินของ Cotsworth จึงมีหน้าตาตายตัวแบบนี้

เดือนเริ่มต้น**สิ้นสุด**วันพิเศษ
มกราคม1 ม.ค.28 ม.ค.
กุมภาพันธ์29 ม.ค.25 ก.พ.
มีนาคม26 ก.พ.25 มี.ค.
*24 มี.ค.
เมษายน26 มี.ค.
*25 มี.ค.
22 เม.ย.
*21 เม.ย.
พฤษภาคม23 เม.ย.
*22 เม.ย.
20 พ.ค.
*19 พ.ค.
มิถุนายน21 พ.ค.
*20 พ.ค.
17 มิ.ย.
*16 มิ.ย.
LEAP DAY
*17 มิ.ย.
SOL18 มิ.ย.15 ก.ค.
กรกฎาคม16 ก.ค.12 ส.ค.
สิงหาคม13 ส.ค.9 ก.ย.
กันยายน10 ก.ย.7 ต.ค.
ตุลาคม8 ต.ค.4 พ.ย.
พฤศจิกายน5 พ.ย.2 ธ.ค.
ธันวาคม3 ธ.ค.30 ธ.ค.YEAR DAY
31 ธ.ค.

*ใช้สำหรับปีอธิกสุรทินที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน
**วันที่เทียบกับปฏิทินเกรโกเรียนที่มีวันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม เป็นวันแรกของปี

การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ยากต่อการยอมรับ

(ซ้าย) ใบเสนอแบบปฏิทิน 13 เดือนเปรียบเทียบให้เห็นว่าทุกเดือนของปีจะมีหน้าตาเหมือนเดือนกุมภาพันธ์ของปี 1931 / (ขวา) นิตยสาร The Outlook เมื่อปี 1927 ตีพิมพ์ภาพเปรียบเทียบปฏิทินแบบเกรโกเรียน (บน) เทียบกับปฏิทินแบบใหม่ (ล่าง)

(ซ้าย) ใบเสนอแบบปฏิทิน 13 เดือนเปรียบเทียบให้เห็นว่าทุกเดือนของปีจะมีหน้าตาเหมือนเดือนกุมภาพันธ์ของปี 1931 / (ขวา) นิตยสาร The Outlook เมื่อปี 1927 ตีพิมพ์ภาพเปรียบเทียบปฏิทินแบบเกรโกเรียน (บน) เทียบกับปฏิทินแบบใหม่ (ล่าง)

The International Fixed Calendar League (IFC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1923 หลังจากที่องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ได้คัดเลือกปฏิทินฉบับนี้ให้เป็น 1 ใน 130 แบบเสนอปฏิทินที่ดีที่สุด โดยมี Sir Sandford Fleming เป็นประธาน และได้ตั้งสำนักงานที่ลอนดอน และต่อมาในรอเชสเตอร์ ของนิวยอร์ก เพื่อหวังทำการเผยแพร่ให้แพร่หลาย ซึ่งมี George Eastman ผู้ก่อตั้งบริษัทโกดัก (Kodak) และผู้สนับสนุน IFC ในเวลานั้น ได้ทดลองนำปฏิทินฉบับนี้ไปใช้ในบริษัท Kodak ของตนด้วย แต่เพียงไม่นานการดำเนินการของ IFC รวมทั้งปฏิทินฉบับนี้ก็ยุติลง หลังจากไม่ผ่านการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากองค์การสันนิบาตชาติในปี ค.ศ.1937

ปฏิทิน 13 เดือนของบริษัท Kodak

ปฏิทิน 13 เดือนของบริษัท Kodak

ข้อดี/ข้อด้อย หากปฏิทิน Cotsworth ถูกนำมาใช้

ข้อดี

  • ปฏิทินจะเหมือนกันทุกปี คือมีแน่นอน 52 สัปดาห์ แบ่งออกเป็น 13 เดือน เดือนละ 28 วัน ซึ่งแตกต่างจากปฏิทินเกรโกเรียนที่แต่ละปีจะแตกต่างกัน ทำให้การกำหนดเวลาและการวางแผนการทำงานต่าง ๆ เป็นเรื่องง่าย
  • ทุกเลขวันที่ในเดือนจะตรงกับชื่อวันเดิมในเดือนอื่น ๆ เช่น วันที่ 19 ของทุกเดือนก็จะเป็นวันพฤหัสบดีเสมอ
  • วันหยุดนักขัตฤกษ์ สามารถกำหนดให้เป็นวันใดวันหนึ่งที่ตายตัวไปเลยได้ และหยุดวันเดิมแน่นอนทุกปี ไม่ต้องลุ้นประกาศวันหยุดชดเชยรายปี
  • การทำข้อมูลด้านสถิติของแต่ละเดือนจะมีความถูกต้องมากขึ้น เนื่องจากทุกเดือนมีวันทำการตรงหมายเลขกัน
  • ผู้สนับสนุน IFC มองว่า การมี 13 เดือนที่เท่ากันทุกเดือนนั้นเป็นผลในแง่ดีสำหรับธุรกิจประเภทกระแสรายเดือน (เพราะมีเดือนเพิ่มมามากขึ้นไงล่ะ!)

ข้อด้อย

  • สำหรับผู้ที่เชื่อเรื่องลางร้าย ปฏิทินของ Cotsworth จะปรากฏวันศุกร์ 13 (Friday the 13th) อยู่ทุกเดือน ซึ่งเรื่องนี้สามารถแก้ไขโดยกำหนดให้วันแรกของสัปดาห์เป็นวันจันทร์
  • “13” เป็นตัวเลขที่หารไม่ลงตัวสำหรับการสรุปผลรายไตรมาส ซึ่งแก้ไขโดยเปลี่ยนมาใช้การสรุปไตรมาสละ 13 สัปดาห์แทน
  • ชาวยิว คริสเตียน และอิสลามบางกลุ่ม ที่มีประเพณีบูชาพระเจ้า ในวันที่ 7 แรกของปีจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากในความเป็นจริง วันที่ 7 ของปีตามปฏิทินของ Cotsworth จะถือเป็นวันที่ 8 ถ้านับ Year Day เป็นวันแรกของปี
  • วันครบรอบสำคัญ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์จะต้องมีการคำนวณใหม่ทั้งหมด หากคำนวณแล้วตรงกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ก็จะต้องประกาศวันชดเชยในวันแรกของสัปดาห์ถัดไป เช่น วันแม่แห่งชาติ ที่จะไปตรงกับวันเสาร์สิ้นเดือนกรกฎาคม จะต้องถูกประกาศชดเชยในวันจันทร์แรกของเดือนสิงหาคมแทน (ลองย้อนไปดูในตัวอย่างปฏิทินดูนะ)

 

จบไปแล้วสำหรับเรื่องราวน่าสนใจของตัวเลขไม่กี่ตัว แต่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ปฏิทินแบบ 13 เดือนนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงในปัจจุบัน แต่ถ้าถามชาว soscity คุณคิดว่าปฏิทินแบบไหนที่ตัวคุณเองอยากใช้มากที่สุด บางที ปฏิทินแบบ 13 เดือนอาจจะทำให้เราจำวันเกิดคนรู้จัก จำวันครบรอบสำคัญได้มากขึ้น หรือแม้แต่มีวันอาทิตย์ดับเบิลให้เราได้ใช้ขยายเวลาความสุขของเรา ฟังดูอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ถ้าหากมันมีจริงแม้เพียงปีละครั้งก็คงจะดี จริงไหมครับ

 

แหล่งที่มาอ้างอิง

5/5 (1 Review)

ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ ผู้หลงใหลความลับแห่งจักรวาล

error: