TOP

ธงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย จงเข้าใจในมาตรฐานสี CIELAB ของธงชาติ

ธงชาติไทยเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ทุกคนรู้กันเป็นอย่างดีว่าธงชาติไทยมีกี่สี มีสีอะไรบ้าง แต่ประเทศไทยเพิ่งมีการกำหนดมาตรฐานแถบสีธงชาติไทยเมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาเพื่อให้มีมาตรฐานสีเป็นไปตามมาตรฐานสากล

กำหนดมาตรฐานค่าสีธงชาติไปเพื่ออะไร?

หลาย ๆ คนคงมีข้อสงสัยว่า แล้วจะกำหนดค่าสีธงชาติมาทำไมทุกคนก็รู้อยู่แล้วไม่ใช่หรอว่ามีสีอะไรบ้าง? หรือว่ามีการเปลี่ยนสีธงชาติ?
การกำหนดค่าสีนั้นเป็นตัวเลขนั้นเป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้ในการสื่อสารว่าสีที่ว่านั้นคือสีอะไร การเรียกชื่อสีที่เราเรียกกันอยู่ในทุก ๆ วัน เช่น สีเขียว, สีแดง, สีดำ ก็เป็นวิธีการสื่อสารว่าสีนั้นคือสีอะไร แต่การเรียกแค่ชื่อสีอย่างเดียวมันยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสีที่ว่านั้นคือสีอะไร อาจจะเกิดความเข้าใจผิดได้ เช่น สีเขียว เขียวเข้ม? เขียวอ่อน? เขียวไหน? เขียวสตาร์บัคหรอ? หรือเขียวแบบชาเขียว? แล้วชาเขียวนั้นใส่นมมั้ย? หรือเขียวแบบธนาคารกสิกรไทย? หรือว่าเขียวแบบใบไม้? อ้าว แล้วใบไม้ต้นอะไร?
การกำหนดค่าสีเป็นตัวเลขเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้การสื่อสารถึงสีนั้นไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งการกำหนดสีเป็นค่าตัวเลขหรือรหัสอะไรบางอย่าง ผู้หญิงหลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกันดี แต่อาจไม่รู้มาก่อนก็ได้ว่านี้คือการกำหนดค่าสี นั้นก็คือสีของเครื่องสำอางค์ต่าง ๆ นั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น รองพื้น ลิปสติก หรืออย่างอื่น จะมีการกำหนดรหัสของสีนั้น ๆ ไว้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดและความสะดวกในการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อและผู้ขาย

แล้วสีที่กำหนดเป็นค่าสีอะไร ทำไมดูประหลาด?

ค่าสีของธงชาติไทยที่กำหนดมานั้น กำหนดมาในระบบสี CIELAB โดยระบบสีนี้กำเนิดขึ้นโดยหน่วยงานชื่อว่า International Commission on Illumination หรือ CIE ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานของการส่องสว่างของแสงและสี ค่าสีของธงชาติไทยที่กำหนดเป็นมาตรฐานนั้นถูกกำหนดไว้ในระบบสี CIELAB ซึ่งจะเป็นตาราง มีหน้าตาประมาณนี้

ตารางช่องข้างล่างยังว่างๆ บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะเติมอะไรลงไป คำตอบก็คือ เราต้องเติม ตัวเลขลงไปนั่นเองครับ แล้วตัวเลขพวกนี้มาจากไหน ต้องวัดสีธงด้วยเครื่องอะไรถึงจะได้ตัวเลขนั้นมา เรามาดูทีละตัวกันเลยครับ

อุปกรณ์อ่านค่าสี CIELAB

ค่าสี CIELAB นั้น ประกอบไปด้วยค่า 3 ค่านั้นคือ L*, a*, b* ซึ่ง ค่าสีที่กำหนดมานี้ถูกวัดจากเครื่อง Colorimetric spectrophotometer ซึ่งเจ้าเครื่อง Colorimetric spectrophotometer เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้วัดสีของวัตถุต่างๆ ออกมาเป็นตัวเลขของค่าสี แล้วค่าแต่ละตัวมันบอกอะไรเราบ้าง ดูกันต่อเลยครับ

Colorimetric spectrophotometer

หน้าตาของ Colorimetric spectrophotometer (ภาพจาก: ACTTR Technology)

CIELAB ค่าแต่ละตัวบอกสมบัติดังนี้

a* : จำง่ายๆ ว่า ย่อจากมา Apple หรือแอปเปิลนั่นเองครับ ซึ่งแอปเปิลจะมีสีแดงกับเขียว ดังนั้นค่า a* นี้เมื่อเป็นบวกจะมีสีแดง ยิ่งบวกมากยิ่งแดงมาก และถ้าเป็นลบจะมีสีเขียว ยิ่งติดลบมากก็ยิ่งเขียวมากเช่นกัน
b* : b นี้ จำง่ายๆ ก็ย่อมาจาก Banana ครับ เรื่องกล้วยๆ แบบนี้ ถ้า b* เป็นบวกจะเป็นสีเหลือง ยิ่งบวกมากยิ่งเหลืองมาก แต่ถ้าเป็นลบ กล้วย b* นี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน …นั่นแหละครับ
L* : บอกถึง ความสว่างของสี จำว่าเป็นแสงไฟที่สาดลงไปบนแอปเปิลและกล้วยของเราครับ มีค่าได้ตั้งแต่ 0-100 นั้นคือ ถ้าค่านี้เป็น 0 คือมืดสุด ค่านี้เป็น 100 ก็คือสว่างสุด

ต่อไปเป็นตัวสุดท้าย นั่นก็คือ  ΔE* ครับ

ค่า ΔE* (เดลต้าอี) ความแตกต่างของสีแอปเปิลกับกล้วย

ค่า ΔE* (เดลต้าอี) นี้จะกำหนดขึ้นเพื่อบอกเราว่า สี 2 สีนี้มีความต่างกันมากน้อยขนาดไหน ค่ายิ่งมาก สี 2 สีนั้นก็จะมีความต่างกันมาก ดังนั้นตัวเลขที่กำหนดเอาไว้ จะบอกว่า สีธงที่ออกมา ห้ามมีความต่างเกินที่กำหนดเอาไว้เท่านี้นะ ธงชาติไทยที่จะผลิตขึ้นหากยึดตามมาตรฐานนี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องผลิตให้ได้ค่าสี L* a* b* เท่ากับที่กำหนดไว้ 100% โดยหากวัดสีของธงชาติที่ผลิตเสร็จเรียบร้อย เมื่อนำค่าสีมาเทียบหาความต่างของสีจากค่าสีตามมาตรฐานในตาราง แล้วมีค่า ΔE* ไม่เกิน 1.5 ถือว่ายอมรับได้ นำไปใช้งานได้นั่นเองครับ

มาตรฐานค่าสีธงชาติไทย

การดำเนินงานกำหนดมรตราฐานค่าสีธงชาติไทยครั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นภาครัฐและเอกชนทั้ง 9 แห่งคือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานกฎระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการคัดเลือกธงต้นแบบที่จะนำมาใช้วัดและกำหนดสี

โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้รับมอบหมายให้คัดเลือกธงจาก 3 แหล่ง ได้แก่

  1. ธงชาติจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จากธง 2 ประเภท ได้แก่ ธงชัยเฉลิมพล และ ธงไตรรงค์
  2. ธงชาติจากพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย
  3. ธงจากราชนาวี

สุดท้าย เมื่อผ่านการวัด และกำหนด ได้ออกมาเป็นค่าสีของธงชาติไทยที่กำหนดเป็นมาตรฐานนั้นถูกกำหนดไว้ในระบบสี CIELAB คือ

ทำไมถึงกำหนดเป็นค่าสี CIELAB?

เรื่องนี้ต้องขออธิบายถึงการมองเห็นสีของมนุษย์เราก่อน โดยการที่เรามองเห็นสีได้นั้นมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่างคือ

  1. แหล่งกำเนิดแสง เช่น ดวงอาทิตย์ หรือหลอดไฟ
  2. วัตถุ
  3. ตา

แสงจากแหล่งกำเนิดแสงจะเดินทางมากระทบกับวัตถุ แล้ววัตถุนั้นจะดูกลืนแสงเอาไว้ส่วนหนึ่ง และสะท้อนแสงส่วนหนึ่งออกมากระทบกับดวงตาของเรา จากนั้นแสงที่เข้าดวงตา ก็จะถูกแปลงให้เป็นสัญญาณส่งไปที่สมองแล้วตีความออกมาเป็นสี ดังนั้นสีที่เราเห็น จึงเป็นสีที่สะท้อนออกมาจากวัตถุนั่นเองครับ

ทีนี้ค่าสี CIELAB นั้นได้มาจากการคำนวนของชุดข้อมูล 3 อย่าง ที่อาศัยหลักการการมองเห็นสีของมนุษย์ครับ คือ

  1. ชุดข้อมูลของแหล่งกำเนิดแสง
  2. ชุดข้อมูลของวัตถุ
  3. ชุดข้อมูลของดวงตา

เมื่อมีการเปลี่ยนแหล่งกำเนิดแสง เช่น เปลี่ยนไปใช้หลอดไฟสีอื่น หรือมองในแสงสีอื่น ๆ แปลว่า ชุดข้อมูลของแหล่งกำเนิดแสง ในข้อ 1 นั้นเปลี่ยนแปลงไปแต่วัตถุที่มองยังเป็นอันเดิม ก็จะทำให้ค่าสี CIELAB ที่ได้ปลี่ยนไป เช่นเดียวกันกับหากเราเปลี่ยนวัตถุที่แสงตกกระทบ แต่ถ้าเราเปลี่ยนวัตถุแต่อยู่ภายใต้แหล่งกำเนิดแสงเดิม ค่าสี CIELAB ที่ได้ก็จะเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน

ดังนั้นถ้าเราเอาธงชาติผืนเดิมไปดูภายใต้แหล่งกำเนิดแสงที่ต่างกัน สีที่เราเห็น และค่าสีก็จะเปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากธงชาตินั้นเราประดับไว้ในหลายสถานที่ เช่นภายนอกอาคาร, ภายในอาคาร, ภายในสนามกีฬา การกำหนดมาตรฐานออกมาเป็นค่าสี CIELAB นั้นทำให้การผลิตธงชาติเพื่อมาประดับในโอกาสต่าง ๆ นั้นมีสีที่คนเห็นใกล้เคียงกัน ธงชาติที่ผลิตขึ้นมาอาจจะมีสีไม่เหมือนกันเลยก็ได้ แต่เมื่อนำไปประดับภายใต้แหล่งกำเนิดแสงที่ต่างกันตามจุดประสงค์ของการผลิตแล้ว สีที่คนเห็นนั้นใกล้เคียงกัน

ทำไมไม่กำหนดออกมาเป็นค่าสี RGB หรือ CMYK ?

ค่าสี RGB และ CMYK นั้นใครที่ทำงานกราฟิกน่าจะคุ้ยเคยกันดี ที่ไม่กำหนดในรูปแบบนี้นั่นก็เพราะระบบสี RGB นั้นประกอบไปด้วย สี 3 สีคือ แดง (Red, R), เขียว (Green, G) และ น้ำเงิน (Blue, B) ซึ่งแต่ละสีเป็นแม่สีของแสง บอกถึงสัดส่วนของแต่ละสี ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ระบบสีนี้ก็คือ จอแสดงผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ จอคอมพิวเตอร์ TV สมมติว่าถ้าเราเปิดรูปนึงที่มีค่าสี RGB เท่ากัน โดยเปิดด้วยจอต่าง ๆ เช่น เปิดในโทรศัพท์มือถือ เปิดในคอมพิวเตอร์ เปิดในTV แล้วเอามาเทียบกัน จะเห็นว่าไม่มีจอไหนเลยที่จะเห็นรูปมีสีเหมือนกัน จอนึงอาจจะมีสีอมเหลือง อีกจออมเขียว อีกจอมืดกว่า อีกจอสว่างกว่า อีกจอสีสดกว่า เพราะมีปัจจัยอีกหลายอย่างมาก ๆ ที่ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นไม่สามารถแสดงผลค่าสี RGB เดียวกัน แล้วทำให้ออกมามีสีเดียวกันได้ 100%

ลองเปิดรูปนี้เทียบกันหลาย ๆ จอดูสิ!

เช่นเดียวกันกับระบบสี CMYK ที่ประกอบไปด้วย สี 4 สีนั้นก็คือ ฟ้าเขียว (Cyan, C), ม่วงแดง (Magenta, M), เหลือง (Yellow, Y) และดำ (Black, K) ซึ่งแต่ละสีเป็นแม่สีในระบบนี้ ซึ่งค่าสี CMYK ใน 1 ชุดจะบอกว่า ในตำแหน่งนั้นมีสีแต่ละสีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ ระบบสีนี้ใช้กันอย่างมากในงานพิมพ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตตามบ้านหรือเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ตขนาดใหญ่ในโรงพิมพ์ ซึ่งค่าสีนี้บอกถึงสัดส่วนของสีต่าง ๆ ที่เราพิมพ์ลงไปเท่านั้น หากกระดาษหรือวัสดุที่เราใช้พิมพ์ลงไปมีสีต่างกันสุดท้ายแล้ว สีที่ปรากฎก็ต่างกัน เช่นหากเราพิมพ์ภาพเดิม ลงบนกระดาษธรรมดาขนาด A4 กับพิมพ์ลงบนกระดาษถนอมสายตาที่มีสีเหลือง สีในภาพก็จะไม่เหมือนกัน เช่น ขนแมวในภาพด้านบน หากพิมพ์ลงบนกระดาษธรรมดาจะมีสีขาว แต่บนกระดาษถนอมสายตากลับมีสีเหลือง ในที่นี้มีปัจจัยจากสีของกระดาษเข้ามาทำให้สีไม่เหมือนกัน และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ค่าสี CMYK ค่าเดียวกัน เมื่อเอาไปพิมพ์บนวัสดุต่าง ๆ แล้วสีออกมาไม่เหมือนกัน

ดังนั้นการกำหนดมาตรฐานสีของธงชาติเป็นค่าสี RGB และ CMKY นั้นดูจะไม่เหมาะเท่าไหร่เนื่องจากที่ค่าสี RGB หรือ CMYK เดียวกันนั้น ถ้าเอาไปแสดงผลหรือพิมพ์บนอุปกรณ์ต่าง ๆ อาจจะให้สีที่ไม่เหมือนกัน การกำหนดมาตราฐานธงเป็นค่าสี CIELAB จึงเอาไว้อ้างอิง เป็นการควบคุมสีของธงให้ออกเหมือนกันในทุกสภาพแวดล้อม ให้ธงชาติที่ผลิตได้มีความสวยงาม ไม่ว่าจะนำไปประดับในโอกาสต่าง ๆ สถานที่ต่าง ๆ เราจะได้มองเห็นเป็นสีที่มีความใกล้เคียงกัน ไม่ว่าผู้ที่ผลิตธงชาตินั้นจะเป็นใครนั่นเองครับ (รวมถึงต่างประเทศด้วยนะ)

อ้างอิง: ราชกิจจานุเบกษา, ThaiPBS, X-Rite

5/5 (1 Review)

เด็กที่เรียนวิทยาศาสตร์ ชอบเทคโนโลยี, Generative art และเรื่องผี

error: