TOP

ค่าน้ำนม ทำไมน้ำนมแม่ วิทยาศาสตร์ยังมาแทนไม่ได้

ทุกคนต้องเคยเกิดผ่านช่วงวัยทารกกันมาก่อนใช่ไหมล่ะครับ และพวกเราคงจะจำความรักของแม่ในช่วงนั้นไม่ได้ แต่เชื่อว่าพวกเรารู้สึกถึงความรักเหล่านั้น ความรักที่แม่ให้ก็มาในหลายรูปแบบ การจะทดแทนกันจนหมดนั้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ใครจะรู้ล่ะครับว่า แม้กระทั่งน้ำนมของแม่นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งความรักที่แม่พิถีพิถันมอบให้เราเช่นเดียวกัน และมันเริ่มต้นตั้งแต่ที่เราอยู่ในครรภ์ เป็นความมหัศจรรย์ที่วิทยาศาสตร์ก็ยังทำของเลียนแบบขึ้นมาแทนไม่ได้

น้ำนมแม่ อาหารที่คุณแม่เตรียมตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์

ตั้งแต่ที่เราเริ่มเติบโตอยู่ในครรภ์ ร่างกายของแม่จะมีการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นแม่ที่ต้องคอยเลี้ยงดูเรา ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จำเป็นมากสำหรับการมีชีวิตในวัยทารกของเรานั้น คือ น้ำนมแม่ นั่นเองครับ

ทุกๆ 3 เดือน เต้านมของแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป เกิดจากสเต็มเซลล์และฮอร์โมน ทำให้เนื้อเยื่อในเต้านมจะถูกเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ที่มีความสามารถในการสร้างน้ำนม เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้คุณแม่ของเรา อาจรู้สึกเจ็บหรือตึงในระหว่าง 2-3 สัปดาห์แรกที่ตั้งครรภ์

หลังจากนั้น เมื่อเราคลอดออกมา ฮอร์โมนก็จะส่งสัญญาณให้มีน้ำนมนั้นพร้อมหลั่งให้เราดื่ม โดยเมื่อมีการสัมผัสกันระหว่างผิวของเราที่ยังเป็นทารกและผิวของแม่ ประกอบกับดูดของเรา เซลล์ประสาทจะส่งสัญญาณไปยังสมองให้หลั่งน้ำนมออกมานั่นเอง

สารอาหารในน้ำนมแม่ ความมหัศจรรย์ที่คุณแม่สร้าง

นมแม่ที่เราซึ่งเป็นทารกดื่มในแต่ละช่วง จะมีความแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะหัวน้ำนม, ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน, ระยะน้ำนมแม่ และระยะหย่านม

1. ระยะหัวน้ำนม (Colostrum milk)

สีของน้ำนมระยะ Colostrum (ภาพจาก: blog.naver.com)

สีของน้ำนมระยะ Colostrum (ภาพจาก: blog.naver.com)

ระยะหัวน้ำนมจะเริ่มต้นเมื่อทารกคลอดออกมาจากท้องแม่ ในระยะนี้น้ำนมจะมีสีเหลืองทองเข้ม เป็นโปรตีนซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ง่ายต่อการย่อย และระยะหัวน้ำนมนี้ น้ำนมจะมีความสำคัญมากในการปกป้อง สร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ มากกว่าจะเป็นพลังงานให้ร่างกาย โดยประกอบไปด้วย

  • เซลล์เม็ดเลือดขาว (leukocytes) ถึง 70% เพื่อช่วยทารกแรกเกิดให้มีชีวิตรอดในโลกภายนอกครรภ์
  • แอนตี้บอดี้ เพื่อต่อสู้กับไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ หนึ่งในแอนตี้บอดี้ที่สำคัญคือ secretory IgA (slgA) ในการป้องกันแอนตี้บอดี้อื่นๆ จากการถูกย่อยโดยกรดในกระเพาะอาหารและเอนไซม์ต่างๆ
  • ฮอร์โมนต่างๆ ที่ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่างๆ
  • แร่ธาตุ เช่น แมกนีเซียม (magnesium) ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูก ควบคุมการเต้นของหัวใจ และซิงก์ (zinc) ใช้ในการพัฒนาสมองและระบบภูมิคุ้มกันของทารก

หลังจากผ่านไป 2-5 วัน น้ำนมจะเริ่มเข้าสู่ระยะถัดไป คือ ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน

โครงสร้างจำลองของ secretory IgA (slgA) (ภาพจาก: uobaghdad.edu)

โครงสร้างจำลองของ secretory IgA (slgA) (ภาพจาก: uobaghdad.edu)

2. ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน (Transitional milk)

ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน จะมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 วันหลังคลอดไปจนถึงประมาณ 3 สัปดาห์ ในช่วงนี้จะสังเกตได้ว่าเต้านมของแม่จะมีขนาดโตและบวมขึ้น หนักขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับน้ำนมในระยะน้ำนมแม่ น้ำนมอาจมีได้หลายสีและจะเป็นสีอ่อนๆ เช่น สีขาว เหลืองอ่อน หรือน้ำเงินอ่อน เพราะเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน จึงมีการผสมกันระหว่างระยะที่ผ่านมาและระยะถัดไป

น้ำนมจะมีโปรตีนและแอนตี้บอดี้ลดลง เริ่มมีไขมันและน้ำตาล ให้พลังงานที่มากขึ้น ทารกในช่วงนี้จึงเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าในช่วงแรกคลอด

ระยะนมปรับเปลี่ยน น้ำนมอาจมีสีที่แตกต่างกัน (ภาพจาก: Ameda.com)

ระยะนมปรับเปลี่ยน น้ำนมอาจมีสีที่แตกต่างกัน (ภาพจาก: Ameda.com)

3. ระยะน้ำนมแม่ (Mature milk)

ระยะน้ำนมแม่เป็นระยะที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด ประกอบไปด้วย

  • โปรตีนมากกว่า 1,000 ชนิด เพื่อเป็นสารอาหาร กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันและพัฒนาเซลล์สมอง
  • คารโบไฮเดรต ประเภท โอลิโกแซ็กคาไรด์ (oligosaccharides) กว่า 200 ชนิด เพื่อพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงในการอักเสบของสมอง
  • สเต็มเซลล์ ที่อาจช่วยในการพัฒนาส่วนต่างๆ ของร่ายกาย และช่วยในการซ่อมแซมส่วนต่างๆ
  • RNA ขนาดเล็ก (microRNAs) กว่า 1,400 ชนิด ที่อาจเป็นส่วนสำคัญในการช่วยควบคุมการแสดงออกของยีน ควบคุมและป้องกันโรคต่างๆ ช่วยในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน
  • กรดไขมันสายยาว (Long-chain fatty acids) ช่วยในการพัฒนาสมอง ตา และระบบประสาท

และแน่นอนว่าทารกแรกเกิดต้องการน้ำนมแม่ในช่วงนี้ไปอีก 6 เดือน ดังนั้นในช่วงนี้คุณแม่จะต้องกินอาหารที่มีประโยชน์และรักษาสุขภาพร่างกายให้ดีที่สุด

สีของน้ำนมเปรียบเทียบระหว่างระยะหัวน้ำนมกับระยะน้ำนมแม่ (ภาพจาก: Wikipedia)

สีของน้ำนมเปรียบเทียบระหว่างระยะหัวน้ำนมกับระยะน้ำนมแม่ (ภาพจาก: Wikipedia)

4. ระยะหย่านม (Wean milk)

หลังจาก 6 เดือน จะเป็นระยะหย่านม ซึ่งเป็นระยะที่โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตในน้ำนมจะเพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการพลังงานของทารก เป็นช่วงที่เริ่มเตรียมตัวให้ทารกนั้นหย่านมนั่นเอง

ในช่วงนี้ทารกจะเริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นมาให้เห็น แต่ไม่ได้หมายความว่า พอฟันน้ำนมขึ้นมาแล้วคุณแม่จะต้องหยุดให้น้ำนมในทันที แต่จะต้องมีขั้นตอนกระบวนการหย่านมอีกซักระยะ อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกแนะนำให้คุณแม่ให้น้ำนมต่อไปเรื่อยๆ และเริ่มให้อาหารทารกหลังคลอดเป็นระยะเวลา 2 ปี

ทำไมวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถผลิตน้ำนมแม่ได้

ใครที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ก็คงจะเข้าใจแล้วล่ะครับว่า ทำไมนมผงถึงยังไม่สามารถผลิตขึ้นมาให้ทารกดื่นทดแทนนมแม่ได้ ให้อธิบายโดยย่ออีกครั้ง ส่วนหนึ่งนั่นก็เป็นสารอาหารและส่วนประกอบอื่นๆ ที่มีอยู่มากมาย ตั้งแต่

  • โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ที่จำเป็น
  • แร่ธาตุ สำคัญ ทั้งแมกนีเซียมและซิงก์
  • แอนตี้บอดี้ชนิดต่างๆ รวมไปถึงฮอร์โมน สเต็มเซลล์ และ RNA

ทั้งหมดนี้ทำให้ทารกนั้นย่อยน้ำนมแม่ได้ง่าย ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงาน พัฒนา ซ่อมแซม ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างดี

และอีกส่วนหนึ่งคือ พวกแอนตี้บอดี้ สเต็มเซลล์ และ RNA เป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นมา การจะทำนมผงให้ประกอบไปด้วยสารพวกนี้ หรือมาทดแทน เป็นอะไรที่ยากมากๆ นั่นเองครับ

ทารกดื่มน้ำนมที่ไม่ใช่แม่ของตัวเองได้หรือไม่

ได้ เนื่องจากมีผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่ง Central Florida พบว่า การแบ่งปันน้ำนมระหว่างคุณแม่กับเพื่อน หรือเพื่อนของเพื่อน หรือใครก็ตามที่เจอ นั้นเป็นเรื่องปกติ และการแบ่งปันน้ำนมแม่นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระหว่างคุณแม่ที่ผลิตน้ำนมได้มากพอกับคุณแม่ที่ไม่สามารถผลิตน้ำนมได้อย่างเพียงพอ แต่ยังรวมไปถึงคู่รักเพศเดียวกันอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในวงการสาธารณสุขของประเทศสหรัฐ เนื่องจากอัตราการแบ่งปันน้ำนมให้ทารกระหว่างคุณแม่นั้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการแบ่งปันน้ำนมนั้นจะปลอดภัยจริงๆ ก็ต่อเมื่อ มีการตรวจสอบประวัติสุขภาพของผู้บริจาคน้ำนม เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโรคต่างๆ เช่น HIV, โรคตับอักเสบ รวมไปถึงการพาสเจอร์ไรซ์น้ำนมเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดมากับน้ำนมด้วย

เด็กโต ดื่มน้ำนมแม่ได้หรือไม่

ได้ครับ แต่อย่างไรก็ตามในน้ำนมแม่มีโปรตีนและให้พลังงานน้อยกว่านมโคเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารอาหารในนมแม่นั้น เด็กโตก็สามารถหาได้จากอาหารประเภทอื่นๆ ดังนั้นการดื่มนมแม่ก็ดูจะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดนิดหน่อย

ถ้าไม่ดื่มนมแม่ ทำไมทารกถึงต้องกินนมผง กินนมโค ได้ไหม

ทารกที่ต้องกินนมผง คำตอบง่ายๆ เลยก็คือ ทารกไม่สามารถย่อยนมโคได้เหมือนกับนมแม่หรือนมผงนั่นเองครับ นอกจากนี้นมโคยังประกอบไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุอย่างเข้มข้น ทำให้ไตที่ยังเจริญได้ไม่เต็มที่เกิดความเครียดและอาจทำให้ทารกป่วยเป็นโรค ทั้งไข้หวัด ท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด หรืออื่นๆ ได้

อีกสาเหตุนั่นก็เป็นเพราะนมโค ขาดสารอาหารที่จำเป็นมากมาย ตามที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเองครับ

สีของน้ำนมแม่เปรียบเทียบกับนมผง (ภาพจาก: <a href="https://en.wikipedia.org/wiki/File:Formula_and_breastmilk.jpg" target="_blank">Wikipedia</a>)

สีของน้ำนมแม่เปรียบเทียบกับนมผง (ภาพจาก: Wikipedia)

อ้างอิง: The Amazing Science of Mother’s Milk, Transitional Breast Milk Stage, Breast Milk Color and How It ChangesHow Breast Milk Protects Newborns, Aboutmom.coWhy Formula Instead of Cow’s Milk?Should adults drink breast milk?More moms turn to breast milk sharing, but is it safe?

0/5 (0 Reviews)

ผู้ร่วมก่อตั้งชมรม SCIREN ชอบการทำสื่อและการตลาด ชอบวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ

error: