Timeline: จดหมาย-ความทรงจำ กับทะเลเรืองแสง ละอองดาวบนผืนทราย
หลายคนคงจะเคยเห็นภาพของ “ทะเลเรืองแสง” ในเฟซบุ๊กหรือหนังอย่างเรื่อง Timeline: จดหมาย-ความทรงจำ ซึ่งเห็นแสงวาบๆ สีน้ำเงินหรือฟ้าอมเขียวของเกลียวคลื่นที่ซัดเข้าชายฝั่งและบนหาดทรายราวกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า ตามชายหาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, มัลดีฟฟ์, ออสเตรเลีย, แถบทะเลแคริบเบียน แม้กระทั่ง หาดบางแสน จ.ชลบุรี และ หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี ของประเทศเราก็มี ตามมาด้วยคำถามที่เกิดขึ้นว่า ของจริงหรือภาพแต่ง? ซึ่งถ้าเป็นภาพแต่งก็ไม่ได้ทำยากอะไรซะด้วย แต่เจ้าสิ่งนี้คือ ของจริงครับ แถมเป็นของจริงที่ไม่ใช่จะเกิดที่ไหนก็ได้และไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ อีกด้วย! เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Bioluminescence
ทะเล เรืองแสงขึ้นมาได้อย่างไร
ตามธรรมชาติ ในทะเลจะมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แทบจะมองไม่เห็นล่องลอยอยู่มากมาย หลากหลายชนิด พวกนี้เรียกรวมๆ กันว่า แพลงก์ตอน (Plankton) ซึ่งจัดเป็นจุลชีพพวกโปรติสต์ โดยแพลงก์ตอนที่ทำให้เกิดการเรืองแสงนี้เป็นแพลงก์ตอนพืชในกลุ่ม ไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellates) เช่น Noctiluca scintillans , Gonyaulax sp. และ Pyrocystis sp. เป็นต้น แพลงก์ตอนพวกนี้พบได้ทั่วโลกเป็นปกติ แต่จะแพร่พันธุ์ได้มากเป็นพิเศษ (บางครั้งก็มากจนทำลายระบบนิเวศบริเวณนั้น) หรือ เกิดการ Bloom ขึ้นในทะเลที่มีแอมโมเนีย ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส อยู่มาก ซึ่งนั่นเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของพวกมันนั่นเอง
แพลงก์ตอนเหล่านี้สามารถเกิดปฏิกิริยาพิเศษเรียกว่า Bioluminescence ในออแกเนลล์ชื่อว่า ซินทิลลอนส์ (Scintillons) ซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาระหว่าง Luciferin Protein กับ เอนไซม์ Luciferase โดยใช้ ATP ทำให้เกิดการเรืองแสงสีน้ำเงิน (คล้ายๆ กับปฏิกิริยาเรืองแสงในหิ่งห้อยเลยครับ แต่เป็นคนละปฏิกิริยาและใช้สารคนละตัวกันนะครับ) เมื่อแพลงก์ตอนพวกนี้อยู่รวมกันมากๆ เราจึงเห็นทะเลเรืองแสงสีน้ำเงิน หรือ เขียวอมฟ้าออกมา
โดยปกติแล้วแพลงก์ตอนพวกนี้ไม่อันตราย แถมยังเป็นอาหารของปลาหลายชนิดด้วย แต่ถ้าในทะเลแถบนั้นมี แอมโมเนีย หรือฟอสฟอรัสมาก ทำให้แพลงก์ตอนพวกนี้จะขยายพันธุ์จนมีมากเกินไป ส่งผลให้แพลงก์ตอนชนิดอื่นๆ โตไม่ได้ และปลาที่กินแพลงก์ตอนกลุ่มนี้มากเกินไปก็จะได้รับแอมโมเนียมากผิดปกติ ทำให้ปลาตายได้ แย่กว่านั้นคือถ้าชาวประมงจับปลาบริเวณนั้นด้วย คนที่กินปลาเข้าไปก็จะได้รับพิษของแอมโมเนียไปด้วย
เราจะไปดู ทะเลเรืองแสง ที่ไหนได้บ้าง
โดยปกติทะเลเรืองแสงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ทั้งที่เคยเกิดขึ้นที่เมืองซานดิเอโก้, เกาะฮ่องกง, หาดบางแสน และหาดเจ้าหลาวล้วนเกิดจากการมีแอมโมเนียสูงผิดปกติอันเป็นผลจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงไม่เกิดทะเลเรืองแสงทุกวันและคาดการณ์การเกิดไม่ได้ ทะเลที่เรืองแสงบ่อยจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้องมีแหล่งอาหารของแพลงก์ตอนไดโนแฟกเจลเลตอยู่ตามธรรมชาติ อันได้แก่
อ่าวโยบุโกะ จังหวัดซะงะ ประเทศญี่ปุ่น
อ่าวโยบุโกะเป็นอ่าวในจังหวัดซะงะ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ในช่วงกลางคืนจะเห็นน้ำทะเลที่นี่เรืองแสงสีเขียวอมฟ้าออกมา ที่นี่ยังเป็นฉากในหนังเรื่อง Timeline จดหมาย-ความทรงจำ อีกด้วย เพียงแต่ของจริงอาจจะไม่ได้อลังการณ์เท่ากับในหนัง เพราะในหนังมีการใช้เทคนิค CG ช่วยในการถ่ายทำครับ
หมู่เกาะมัลดีฟฟ์
หมู่เกาะมัลดีฟฟ์ เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน ขึ้นชื่อเรื่องน้ำทะเลสวยใสมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นอกจากนี้ยังมีบางเกาะที่มักเกิด ทะเลเรืองแสง อยู่บ่อยๆ อีกด้วย
Bioluminescent Bay, ทะเลแคริบเบียน ประเทศเปอร์โต ริโก้
Bioluminescent Bay เป็นอ่าวหนึ่งในประเทศเปอร์โต ริโก้ ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลแคริบเบียน ทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ว่ากันว่าเป็นอ่าวที่มีการเรืองแสงสวยที่สุดในโลก เนื่องจากมีแพลงก์ตอนไดโนแฟลกเจลเลตอาศัยหนานแน่มากถึง 720,000 เซลล์ต่อน้ำ 1 แกลลอนเลยทีเดียว
เป็นยังไงบ้างครับ สำหรับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แปลกแต่มีจริง และเกิดขึ้นได้ด้วยฝีมือของ ไดโนแฟลกเจลเลต ที่แม้จะเป็นแค่แพลงก์ตอนเล็กๆ แต่ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ที่สวยงามและน่าแปลกใจได้ขนาดนี้ ถ้าช่วงหน้าร้อนนี้ไปเล่นน้ำทะเลที่ไหนแล้วเห็นน้ำทะเลเรืองแสงขึ้นมาได้ก็ไม่ต้องตกใจไปนะครับ เพราะทะเลก็เรืองแสงได้ ด้วยวิทยาศาสตร์
อ้างอิง: ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จันทบุรี, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, National Geographic, Voice TV, Wikipedia, Wegointer, Pantip