Timeline: จดหมาย-ความทรงจำ กับทะเลเรืองแสง ละอองดาวบนผืนทราย
หลายคนคงจะเคยเห็นภาพของ “ทะเลเรืองแสง” ในเฟซบุ๊กหรือหนังอย่างเรื่อง Timeline: จดหมาย-ความทรงจำ ซึ่งเห็นแสงวาบๆ สีน้ำเงินหรือฟ้าอมเขียวของเกลียวคลื่นที่ซัดเข้าชายฝั่งและบนหาดทรายราวกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า ตามชายหาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, มัลดีฟฟ์, ออสเตรเลีย, แถบทะเลแคริบเบียน แม้กระทั่ง หาดบางแสน จ.ชลบุรี และ หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี ของประเทศเราก็มี ตามมาด้วยคำถามที่เกิดขึ้นว่า ของจริงหรือภาพแต่ง? ซึ่งถ้าเป็นภาพแต่งก็ไม่ได้ทำยากอะไรซะด้วย แต่เจ้าสิ่งนี้คือ ของจริงครับ แถมเป็นของจริงที่ไม่ใช่จะเกิดที่ไหนก็ได้และไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ อีกด้วย! เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Bioluminescence
ทะเลเรืองแสง จากภาพยนตร์เรื่อง Timeline: จดหมาย-ความทรงจำ
ทะเล เรืองแสงขึ้นมาได้อย่างไร
ตามธรรมชาติ ในทะเลจะมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แทบจะมองไม่เห็นล่องลอยอยู่มากมาย หลากหลายชนิด พวกนี้เรียกรวมๆ กันว่า แพลงก์ตอน (Plankton) ซึ่งจัดเป็นจุลชีพพวกโปรติสต์ โดยแพลงก์ตอนที่ทำให้เกิดการเรืองแสงนี้เป็นแพลงก์ตอนพืชในกลุ่ม ไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellates) เช่น Noctiluca scintillans , Gonyaulax sp. และ Pyrocystis sp. เป็นต้น แพลงก์ตอนพวกนี้พบได้ทั่วโลกเป็นปกติ แต่จะแพร่พันธุ์ได้มากเป็นพิเศษ (บางครั้งก็มากจนทำลายระบบนิเวศบริเวณนั้น) หรือ เกิดการ Bloom ขึ้นในทะเลที่มีแอมโมเนีย ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส อยู่มาก ซึ่งนั่นเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของพวกมันนั่นเอง
Noctiluca scintillans (ภาพจาก : Imgur)
แพลงก์ตอนเหล่านี้สามารถเกิดปฏิกิริยาพิเศษเรียกว่า Bioluminescence ในออแกเนลล์ชื่อว่า ซินทิลลอนส์ (Scintillons) ซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาระหว่าง Luciferin Protein กับ เอนไซม์ Luciferase โดยใช้ ATP ทำให้เกิดการเรืองแสงสีน้ำเงิน (คล้ายๆ กับปฏิกิริยาเรืองแสงในหิ่งห้อยเลยครับ แต่เป็นคนละปฏิกิริยาและใช้สารคนละตัวกันนะครับ) เมื่อแพลงก์ตอนพวกนี้อยู่รวมกันมากๆ เราจึงเห็นทะเลเรืองแสงสีน้ำเงิน หรือ เขียวอมฟ้าออกมา
ชายหาดเรืองแสง หมู่เกาะมัลดีฟฟ์ (ภาพจาก : Geographical – UK )
โดยปกติแล้วแพลงก์ตอนพวกนี้ไม่อันตราย แถมยังเป็นอาหารของปลาหลายชนิดด้วย แต่ถ้าในทะเลแถบนั้นมี แอมโมเนีย หรือฟอสฟอรัสมาก ทำให้แพลงก์ตอนพวกนี้จะขยายพันธุ์จนมีมากเกินไป ส่งผลให้แพลงก์ตอนชนิดอื่นๆ โตไม่ได้ และปลาที่กินแพลงก์ตอนกลุ่มนี้มากเกินไปก็จะได้รับแอมโมเนียมากผิดปกติ ทำให้ปลาตายได้ แย่กว่านั้นคือถ้าชาวประมงจับปลาบริเวณนั้นด้วย คนที่กินปลาเข้าไปก็จะได้รับพิษของแอมโมเนียไปด้วย
ชายหาดแห่งหนึ่งที่เกิด Bioluminescense หรือ Blue Waves (ภาพจาก : Imgur)
เราจะไปดู ทะเลเรืองแสง ที่ไหนได้บ้าง
โดยปกติทะเลเรืองแสงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ทั้งที่เคยเกิดขึ้นที่เมืองซานดิเอโก้, เกาะฮ่องกง, หาดบางแสน และหาดเจ้าหลาวล้วนเกิดจากการมีแอมโมเนียสูงผิดปกติอันเป็นผลจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงไม่เกิดทะเลเรืองแสงทุกวันและคาดการณ์การเกิดไม่ได้ ทะเลที่เรืองแสงบ่อยจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้องมีแหล่งอาหารของแพลงก์ตอนไดโนแฟกเจลเลตอยู่ตามธรรมชาติ อันได้แก่
อ่าวโยบุโกะ จังหวัดซะงะ ประเทศญี่ปุ่น
อ่าวโยบุโกะเป็นอ่าวในจังหวัดซะงะ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ในช่วงกลางคืนจะเห็นน้ำทะเลที่นี่เรืองแสงสีเขียวอมฟ้าออกมา ที่นี่ยังเป็นฉากในหนังเรื่อง Timeline จดหมาย-ความทรงจำ อีกด้วย เพียงแต่ของจริงอาจจะไม่ได้อลังการณ์เท่ากับในหนัง เพราะในหนังมีการใช้เทคนิค CG ช่วยในการถ่ายทำครับ
อ่าวโยบุโกะ จังหวัดซะงะ, เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น (ภาพจาก : Eduzones)
หมู่เกาะมัลดีฟฟ์
หมู่เกาะมัลดีฟฟ์ เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน ขึ้นชื่อเรื่องน้ำทะเลสวยใสมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นอกจากนี้ยังมีบางเกาะที่มักเกิด ทะเลเรืองแสง อยู่บ่อยๆ อีกด้วย
เกาะหนึ่งใน หมู่เกาะมัลดีฟฟ์, ทะเลอันดามัน (ภาพจาก : smartsme.tv)
Bioluminescent Bay, ทะเลแคริบเบียน ประเทศเปอร์โต ริโก้
Bioluminescent Bay เป็นอ่าวหนึ่งในประเทศเปอร์โต ริโก้ ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลแคริบเบียน ทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ว่ากันว่าเป็นอ่าวที่มีการเรืองแสงสวยที่สุดในโลก เนื่องจากมีแพลงก์ตอนไดโนแฟลกเจลเลตอาศัยหนานแน่มากถึง 720,000 เซลล์ต่อน้ำ 1 แกลลอนเลยทีเดียว
Bioluminescent Bay, ทะเลแคริบเบียน ประเทศเปอร์โต ริโก้ (ภาพจาก : www.travelchannel.com และ tiger.towson.edu )
เป็นยังไงบ้างครับ สำหรับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แปลกแต่มีจริง และเกิดขึ้นได้ด้วยฝีมือของ ไดโนแฟลกเจลเลต ที่แม้จะเป็นแค่แพลงก์ตอนเล็กๆ แต่ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ที่สวยงามและน่าแปลกใจได้ขนาดนี้ ถ้าช่วงหน้าร้อนนี้ไปเล่นน้ำทะเลที่ไหนแล้วเห็นน้ำทะเลเรืองแสงขึ้นมาได้ก็ไม่ต้องตกใจไปนะครับ เพราะทะเลก็เรืองแสงได้ ด้วยวิทยาศาสตร์
อ้างอิง: ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จันทบุรี, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, National Geographic, Voice TV, Wikipedia, Wegointer, Pantip