TOP

เที่ยวหน้าร้อนแบบไม่กลัวยูวี แค่รู้วิธีเลือกครีมกันแดด

ช่วงนี้ประเทศไทยก็เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว เห็นหลายคนบ่นว่าอากาศร้อนมาก หลายคนใช้ช่วงวันหยุดหน้าร้อนนี้เป็นโอกาสที่จะกลับเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ หรือไปเที่ยวทะเลกับเพื่อนๆ และครอบครัว โดยแต่ละครอบครัวก็มักจะออกไปซื้อของสำหรับกิจกรรมในวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นชุดว่ายน้ำ หรืออุปกรณ์สำหรับกีฬาทางน้ำสนุกๆ แต่ที่ขาดไม่ได้สำหรับหน้าร้อน คงหนีไม่พ้นเรื่องของครีมกันแดด ซึ่งในห้างร้านต่างๆ มีวางขายอยู่หลากหลายรูปแบบจนแทบจะเลือกกันไม่ถูกเลย วันนี้เด็กวิทยาอย่างเราอยากมาแนะนำ วิธีเลือกครีมกันแดด แบบวิทยๆ ที่ถูกต้องให้ได้ศึกษากัน

ว่าแต่ครีมกันแดดนี่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ได้อย่างไร ทำไมต้องใช้ แล้วเด็กวิทยาอย่างเราจะมีวิธีเลือกซื้อยังไงให้ถึงจะได้ตัวที่ปกป้องผิวของเราได้ดีที่สุด วันนี้เรามีคำตอบมาให้ทุกคนได้ทราบกัน จะได้เลือกครีมกันแดดไว้ไฝว้กับซัมเมอร์นี้ได้

ครีมกันแดดมาจากไหน ใครเป็นคนต้นคิด?

เท่าที่เราทราบ ยังไม่มีหลักฐานว่าชนชาติใดเป็นผู้คิดค้นครีมกันแดดเป็นกลุ่มแรก แต่ย้อนกลับไปในยุคโบราณ ผู้คนมักจะใช้ส่วนผสมของพืชในการปกป้องผิวจากความร้อนของแสงแดด ชาวกรีกจะใช้น้ำมันมะกอกหรือโอลีฟทาตัวเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ในขณะที่ชาวอียิปต์จะใช้ส่วนผสมของข้าว ดอกมะลิ และดอก Lupine ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งมาทาตัว นอกเหนือจากสารสกัดจากธรรมชาติแล้ว ยังใช้ผงปูนขาวหรือซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide: ZnO2) พอกผิวเพื่อให้ดูขาว ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้ในปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่ในผลิตภัณฑ์กันแดดหรือเครื่องสำอางทั่วไป

ภาพวาดแสดงการทำน้ำหอมของชาวอียิปต์โบราณ (ภาพจาก taoessentialoils.com)

ทำไมเราถึงต้องทาครีมกันแดด?

ตั้งแต่เด็ก เรามักจะเคยชินกับการทาครีมกันแดดก่อนว่ายน้ำหรือไปเที่ยวทะเลทุกครั้ง เพราะถูกสอนมาว่าโดนแดดนานแล้วผิวจะดำ ซึ่งก็ถูกต้องเพียงบางส่วน เนื่องจากจริงๆ แล้ว “แสง” จากแดดหรือความร้อนไม่ใช่ตัวที่ทำผิวเราดำ และอันตรายที่แท้จริงของแดดต่อผิวหนังของคนเราไม่ได้อยู่ที่ตัวแสงแดดหรือความร้อนด้วยซ้ำ แต่มาจากรังสีชนิดหนึ่งที่เรามองไม่เห็น แต่มันมาพร้อมกับแสงแดดซึ่งส่งผลต่อผิวเราอย่างรุนแรงได้เมื่อได้รับรังสีชนิดนี้เป็นเวลานานๆ และนี่ก็เป็นตัวการที่ทำให้เราต้องทาครีมกันแดดในทุกวันนี้ ชื่อของมันก็คือ รังสียูวีนั่นเอง!

มาทำความรู้จักกับรังสียูวีกันก่อน

รังสียูวีหรืออัลตราไวโอเลต (Ultraviolet: UV) เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับแสงที่เรามองเห็นได้ แต่จะมีความยาวคลื่นสั้นกว่า โดยอยู่ระหว่าง 10 จนถึง 400 นาโนเมตร (แสงมีความยาวคลื่นตั้งแต่ 400 –700 นาโนเมตร) ซึ่งความยาวคลื่นที่สั้นกว่าหมายถึงพลังงานที่มากกว่าและมีอำนาจทะลุทะลวงมากกว่า ดังนั้นรังสียูวีจึงมีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตมาก
สำหรับเรา รังสียูวีที่มีผลต่อผิวหนังแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดตามลำดับความรุนแรงได้ดังนี้

  • รังสี UV-C มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 200-290 นาโนเมตร เป็นรังสีที่อันตรายที่สุด สามารถทำลายเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตได้ แต่โชคดีที่โอโซนในชั้นบรรยากาศพอจะดูดกลืนรังสีนี้ได้อยู่ จึงตกลงมาถึงพื้นโลกไม่มากนักเช่นเดียวกับรังสียูวีที่ความยาวคลื่นสั้นกว่านั้น อย่างไรก็ตามชั้นโอโซนเริ่มจะเบาบางลงเรื่อยๆ จากการใช้สาร CFC ของมนุษย์ อาจทำให้รังสี UV-C ผ่านเข้ามาได้มากขึ้น
  • รังสี UV-B มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 290-320 นาโนเมตร เป็นรังสีที่อันตรายรองลงมา แต่ก็สามารถทำให้ผิวหนังชั้นกำพร้าไหม้ได้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อเลนส์ตาและกระจกตา หากได้รับเป็นเวลานานๆ ก็อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ แต่โชคดีที่รังสีชนิดนี้ผ่านกระจกหน้าต่างและเสื้อผ้าไม่ได้ คนที่อยู่ในอาคารจึงไม่ได้รับผลจากรังสียูวีบีมากนัก แต่ถ้าออกไปเจอแสงแดดเปรี้ยงๆ ข้างนอกเมื่อไหร่ก็เสร็จรังสี UV-B โดยโอกาสที่จะได้รับรังสี UV-B จะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ตอนเช้าจนมากที่สุดในตอนเที่ยงวันถึงบ่ายจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง

ผิวไหม้บริเวณจมูกเนื่องจากโดนแสงแดดเป็นเวลานาน

  • รังสี UV-A มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 320-400 นาโนเมตร มีพลังงานต่ำที่สุด จึงไม่มีผลให้ผิวไหม้ แต่จะไปกระตุ้นการสร้างเมลานินในเซลล์สร้างสีผิวหรือเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ทำให้ผิวคล้ำแดด ซึ่งปกติถ้าไม่โดนแสงแดดแล้วเมลานินจะสลายไปเอง แต่หากโดนรังสีนี้นานเกินไปอาจเกิดความผิดปกติกับเซลล์สีผิว ทำให้สร้างเมลานินไม่หยุดหรือสลายไม่ทัน เกิดเป็นฝ้า กระ และจุดด่างดำถาวรได้ นอกจากนี้ยังสามารถลงลึกเข้าไปข้างในผิวหนังได้ถึง 30% จึงอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ กดระบบภูมิคุ้มกัน แถมยับยั้งการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญต่อความยืดหยุ่นของผิว เลยเป็นเหตุให้หน้าเราเกิดริ้วรอย ดูแก่ก่อนไวได้
    • สำหรับรังสี UV-A บางที่ยังแบ่งย่อยออกไปอีกเป็นรังสี UV-A1 และ UV-A2 โดย UV-A2 (320-340 นาโมเมตร) จัดให้มีระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับรังสี UV-B ช่วงคลื่นยาวที่อยู่ติดกัน ส่วน UV-A1 ที่อยู่ในช่วง 340-400 นาโมเมตรจะมีความรุนแรงน้อยกว่า UV-A2 แต่ลงลึกไปในผิวหนังได้มากกว่า

ริ้วรอยและจุดด่างดำบนใบหน้าบางชนิดไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องมองในช่วงของรังสียูวีเท่านั้น

เพื่อให้จำได้ง่ายๆ รังสี UV แต่ละช่วงจึงมีชื่อเล่นของมันตามผลที่มีต่อผิวหนัง คือ A – Aging (แก่ก่อนวัย) ตามด้วย B – Burn (ผิวไหม้) และ C – Cancer (มะเร็ง) นั่นเอง

อยู่ในร่มทั้งวัน ไม่ต้องใช้ครีมกันแดดก็ได้?

หลายคนพอได้เห็นอันตรายของรังสียูวีที่มาจากแสงแดดแล้ว ก็คงอยากเลี่ยงไม่เผชิญกับแสงแดดตรงๆ ขอนั่งทำงานเล่นเฟซบุ๊กอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ ดีกว่า เพราะคิดว่าถ้าไม่โดนแสงแดดเยอะก็ไม่โดนยูวีมาทำร้ายผิวหนังอันบอบบางของเรา

อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิดมาก เพราะถึงแม้ว่าผิวเราจะไม่ได้โดนแสงแดดตรงๆ เหมือนตอนออกไปข้างนอก แต่ก็ยังมีแสงแดดเข้ามาทางหน้าต่าง แถมอยู่ในห้องก็ยังมีรังสียูวีจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ในห้อง ที่สำคัญ! หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนที่เราใช้กันอยู่ก็แผ่รังสียูวีออกมาเช่นกัน ลองสังเกตคนที่นั่งทำงานหน้าจอนานๆ จะมีใบหน้าค่อนข้างคล้ำแม้จะไม่เจอกับแสงแดดทั้งวัน! ดังนั้นถึงจะไม่ได้ออกไปเจอแดดก็ควรจะทาครีมกันแดดเหมือนกันนะ

โอ้โห! จะเห็นว่ารังสียูวีเป็นสาเหตุให้ผิวหนังของคนเราเกิดความผิดปกติได้ตั้งมากมาย แต่จะให้หนีแดดทั้งวันก็คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากในชีวิตของเราหนึ่งวันต้องเผชิญกับแสงแดดอยู่ดี เพราะฉะนั้นจะออกแดดทั้งทีไม่หาครีมกันแดดมาทาป้องกันไว้ก่อนคงไม่ได้แล้ว ว่าแต่ครีมกันแดดสามารถปกป้องเราจากมัจจุราจเงียบตัวนี้ได้อย่างไร และต้องเลือกใช้แบบไหนถึงจะป้องกันผิวของเราได้ดีที่สุด หลังจากนี้มีคำตอบ ไปต่อกันเล้ยยยยยย!

วิธีเลือกครีมกันแดด แบบวิทย์ๆ

ในการเลือกครีมกันแดด อันดับแรกจะต้องดูที่องค์ประกอบของครีมกันแดดกันก่อนว่าสารที่ใช้มีผลในการป้องกันอันตรายจากแสงแดดได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งโดยหลักๆ จะแบ่งตามลักษณะการออกฤทธิ์ได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. Physical Sunscreen หรือสารกันแดดที่ออกฤทธิ์ทางกายภาพโดยการสะท้อนรังสียูวีออกจากผิวหน้าได้ประมาณ 95% เป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถปกป้องผิวได้ทันที อีกทั้งมีความคงตัวสูง สลายตัวได้ยาก คุณภาพไม่ลดลงเมื่อโดนแสงแดด อาจทำให้ผิวดูขาวขึ้นเนื่องจากช่วยสะท้อนแสงแดดบางส่วนออกไป อนุภาคของสารมักถูกทำให้มีขนาดเล็กระดับไมครอนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวี และลดอาการระคายเคืองที่มักจะเกิดขึ้นจึงสามารถใช้กับผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและผู้ที่แพ้ง่ายได้ ตัวอย่างสารชนิดนี้ที่ควรรู้จัก ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์ และไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2)
  2. Chemical Sunscreen เป็นสารกันแดดที่ออกฤทธิ์ทางเคมีกับผิวหนัง โดยจะสร้างฟิล์มบางๆ เพื่อดูดซับพลังงานจากรังสียูวีเอาไว้ ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดอยู่ที่ 50-90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและชนิดของสารที่ใช้ แต่มีข้อเสียคือ หลังจากทาแล้วต้องรอเวลาออกฤทธิ์ประมาณ 20 นาที และมักจะเสื่อมสภาพลงเมื่อโดนแดดเป็นเวลานาน จึงต้องมีการทาซ้ำๆ และอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ง่ายอีกด้วย

    ภาพแสดงการทำงานของสารกันแดดทั้งกายภาพและเคมี
    (ภาพจาก futurederm.com)

หลังจากเช็คสารเคมีที่ใช้ในครีมกันแดดแล้ว เราต้องมาดูค่าหรือเครื่องหมายที่แสดงประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดด้วย เพราะแต่ละตัวมีความสามารถในการป้องกันรังสียูวีไม่เท่ากัน บางตัวก็กันได้เพียง UV-A หรือ B เท่านั้น หลายคนคงเห็นค่าเหล่านี้บนฉลากของผลิตภัณฑ์ที่ใช้แต่ไม่รู้ว่าแต่ละอันนั้นหมายถึงอะไร วันนี้เราจะมาไขปริศนาข้อนี้กันละแต่ละค่านั้นบอกอะไรบ้าง

โดยหลักๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดทุกตัวจะแสดงค่าประสิทธิภาพอยู่ 2 ตัว คือ PA และ SPF

  • PA (Protection Grade of UVA) ค่านี้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV-A โดยแสดงเป็นจำนวนเครื่องหมาย + นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ผสมสารกันแดดสำหรับคนเอเชีย โดย Japan Cosmetic Industry Association ได้ระบุประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ตามจำนวนเครื่องหมาย + ไว้ตามนี้
    • + กันได้ 2-4 ชั่วโมง
    • ++ กันได้ 4-8 ชั่วโมง
    • +++ กันได้ 8-16 ชั่วโมง
    • และ ++++ กันได้ 16 ชั่วโมงขึ้นไป
  • SPF (Sun Protection Factor) ค่านี้แสดงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV-B ว่าสามารถปกป้องผิวของเราได้นานเท่าใดจนกว่าจะบวมแดง (ไม่ใช่ป้องกันได้กี่เท่าอย่างที่หลายคนอาจจะเข้าใจ) ค่าที่กำกับไว้จะเป็นตัวเลขตั้งแต่ 1 จนถึง 50 โดย SPF 1 จะสามารถป้องกันได้นาน 20 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผิวจะเริ่มบวมแดงเมื่อโดนแดด เลข SPF ที่มากขึ้นจึงบอกเราได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปกป้องผิวเราจากรังสี UV-B ได้นานกี่นาที เช่น SPF 15 จะเท่ากับ 300 นาทีหรือ 5 ชั่วโมง ขณะที่ SPF 30 จะเท่ากับ 600 นาทีหรือราว 10 ชั่วโมง
    ทั้งนี้ ระยะเวลาที่นานขึ้นไม่ได้หมายความว่าครีมกันแดดที่ใช้จะป้องกันรังสีได้ดีกว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF สูงกว่าจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เช่น SPF 30 จะป้องกันรังสีได้ 96.7% แต่เมื่อเป็น SPF 50 ป้องกันได้เพียงแค่ 98% เท่านั้น แทบจะไม่แตกต่างกันเลย สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF สูงกว่า 50 อย. ของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้แสดงตัวเลขเป็น 50+ เท่านั้น ไม่สามารถแสดงเป็นตัวเลข 55 60 หรือนอกเหนือจากนี้ได้

กราฟประสิทธิภาพของครีมกันแดดที่ SPF ต่างๆ ในการป้องกันรังสี UV-B (ภาพจาก Curology.com)

อย่างไรก็ตาม ค่า SPF ที่ระบุไว้บนฉลากได้จากการทดลองทาผลิตภัณฑ์ในปริมาณ 2 mg/cm­­­2 แต่น่าเสียดายที่คนทั่วไปใช้ครีมกันแดดเพียง 0.5-1.5 mg/cm­­­2 เท่านั้น ทำให้ประสิทธิภาพของครีมกันแดดลดลงเหลือร้อยละ 20-25 ของค่า SPF ที่ระบุไว้ หากต้องการใช้กันแดดให้มีประสิทธิภาพเท่ากันทั่วทั้งใบหน้า จะต้องใช้ครีมกันแดดประมาณ 1 กรัม คิดเป็นขนาด 1/2 ช้อนชา หรือ 2 ข้อของปลายนิ้วกลาง แต่ถ้าหากจะทาทั้งร่างกายต้องใช้ครีมกันแดดถึง 35 มิลลิลิตร หรือประมาณ 7 ช้อนชา

ทั้งนี้ นอกจาก PF และ SPF แล้ว ยังมีเครื่องหมายแสดงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีช่วงกว้าง (Broad spectrum) หรือครอบคลุมทั้งรังสี UV-A และ B บางผลิตภัณฑ์อาจแสดงเครื่องหมายดาวหรือดอกจัน * ที่แสดงอัตราส่วนของประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV-A เทียบกับ UV-B โดยบริษัท Boots ได้กำหนดความหมายของสัญลักษณ์ไว้ ดังนี้

  • UVA/UVB < 0.2 ไม่มีดาว ป้องกัน UVA ไม่ได้
  • 0.2-0.4 * ปานกลาง
  • 0.4-0.6 ** ดี
  • 0.6-0.8 *** ดีมาก
  • 0.8 – 1 **** สูง

ดังนั้น ถ้าจะให้ควรเลือกครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารที่ป้องกันได้ทั้ง UV-A และ UV-B อยู่ด้วยกัน ไม่ต้องซื้อทีละอย่างให้สิ้นเปลือง ซึ่งครีมกันแดดส่วนใหญ่ในปัจจุบันผลิตมาให้ป้องกันรังสีได้ทั้งสองชนิด

ทั้งนี้ แม้การใช้กันแดดที่ป้องกันรังสียูวีได้มากจะเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่จำเป็นก็ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีประสิทธิภาพสูงๆ เสมอไป สำหรับคนไทย ใช้กันแดดที่มี SPF 15 ถึง 30 ก็เพียงพอแล้วทั้งนี้ และหากอยู่ในที่ร่มตลอดวัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้กันแดด SPF สูงเท่าตอนออกแดด ใช้แค่ SPF 10-15 ก็พอสำหรับป้องกันรังสียูวีขณะทำงาน

สุดท้าย นอกเหนือจากองค์ประกอบและประสิทธิภาพของตัวกันแดดแล้ว ยังต้องดูรูปแบบของผลิตภัณฑ์ด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์กันแดดที่ขายอยู่ทั่วไปมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งแบบครีม เจล โลชัน แอโรซอลที่ใช้ในเครื่องสำอาง หรือแม้แต่ในชุดแต่งหน้าเชียร์กีฬาก็มีเป็นแบบแข็ง นอกจากนี้การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดจะต้องคำนึงถึงส่วนของร่างกายที่จะทากันแดด ลักษณะผิวของผู้ใช้และกิจกรรมที่ทำในวันนั้นด้วย

เลือกชนิดผลิตภัณฑ์ให้ถูกจุด หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อทาแขน ขา และลำตัว สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นครีมหรือโลชั่นก็ได้ แต่หากเป็นใบหน้าควรใช้กันแดดชนิดเซรัมหรือโลชันเนื้อบางเบาที่ทาง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ และควรทาให้ทั่วบริเวณใบหน้าไปจนถึงหลังหูและรอบลำคอ เพื่อให้สามารถป้องกันแสงแดดได้ทั่วถึง หากใช้เครื่องสำอางก็ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารกันแดด โดยทาหลังจากใช้ครีมกันแดดแล้ว

เลือกชนิดผลิตภัณฑ์ตามสภาพผิว สำหรับคนผิวแห้ง ควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นครีม ส่วนคนผิวมันควรใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเจลหรือโลชันที่ไม่มีน้ำมันหรือ Oil-free

เลือกชนิดตามกิจกรรม หากเป็นกิจกรรมที่ต้องสัมผัสน้ำหรือเหงื่อออกง่าย ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่ากันน้ำได้ โดยแบ่งออกเป็นชนิด Water-resistant ที่กันน้ำได้นาน 40 นาที เหมาะสำหรับกิจกรรมที่ต้องสัมผัสน้ำในชีวิตประจำวัน เช่น การล้างหน้า แต่หากเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลานาน เช่น เล่นน้ำทะเลหรือกีฬาทางน้ำต่างๆ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ชนิด Waterproof ที่กันได้นาน 80 นาที

ถูกชนิดไม่พอ ต้องถูกวิธีด้วย

นอกเหนือจากเลือกกันแดดตามสภาพผิวและกิจกรรมแล้ว ยังต้องรู้จักวิธีการทากันแดดที่ถูกต้องเพื่อรักษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในการกันแดดได้สูงสุด โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้

  1. ทากันแดดก่อนออกแดดจริงอย่างน้อย 30 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
  2. หากใช้เครื่องสำอางอื่นๆ ด้วย ต้องทาครีมกันแดดก่อนตัวบำรุงผิวอื่นๆ และเมคอัพ
  3. หากต้องการเติมกันแดดระหว่างวัน ให้ซับเหงื่อและความมันบนใบหน้าออกให้หมดก่อนแล้วจึงเติมกันแดดโดยทาครีมเบาๆ เป็นจุดๆ แทนการทาทั่วหน้าในครั้งเดียว

และถึงแม้จะทากันแดดแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะยังมีบางส่วนของร่างกายที่เราไม่ได้ทาครีมที่ยังโดนแดดอยู่ และเรายังสามารถเป็นลมหรือเป็นไข้เนื่องจากแดดและอากาศร้อนได้อยู่ดี จึงต้องหาวิธีป้องกันเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

  1. ถ้าไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารระหว่างเวลา 9.00 – 15.00 น. เพราะเป็นช่วงที่มีรังสี UV-B สูง
  2. หากต้องออกแดดจริงๆ ต้องสวมหมวกปีกกว้างหรือกางร่ม (แนะนำร่มกันรังสียูวี)
  3. สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสงแดด (และยูวี) เข้ามาทำร้ายดวงตา
  4. ใส่เสื้อผ้าคลุมคอ แขนและเท้าให้มิดชิด อาจสวมปลอกแขนเพื่อกันไม่ให้แขนท่อนล่างมีสีคล้ำลง
  5. หลังจากเข้าที่ร่ม ให้ทาผลิตภัณฑ์จำพวก Aftersun เพื่อบรรเทาอาการแสบร้อนที่อาจเกิดขึ้น
  6. รับประทานวิตามินซีวันละ 2,000-3,000 มิลลิกรัมเพื่อช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมผิวที่แสบร้อนได้ดีขึ้น
  7. เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ อย่าลืมดื่มน้ำสม่ำเสมอด้วยนะ

ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ครีมและผลิตภัณฑ์กันแดดอื่นๆ นั้นไม่ได้มีไว้ใช้เฉพาะช่วงหน้าร้อนหรือตอนไปเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องใช้ในทุกๆ วันเนื่องจากเราต้องออกไปเจอแสงแดดตลอดเวลาและแม้แต่เล่นคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนนานๆ ก็มีโอกาสได้รับรังสียูวีด้วยเช่นกัน จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปกป้องผิวของเราในแต่ละวันได้ดีที่สุดตามชนิดของผิว โดยอาจจะมีกันแดดสัก 2-3 ตัวติดกระเป๋าไว้ตลอดเวลา สำหรับทาหน้าหนึ่ง ทาตัวหนึ่ง เป็นต้น

จบแล้ว เป็นยังไงบ้าง การเลือกครีมกันแดดไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะ เพียงแค่เราดูส่วนผสมเป็น อ่านค่า PA SPF บนฉลากเป็น และเลือกครีมกันแดดที่เข้ากับตัวเราและกิจกรรมในแต่ละวันได้ ก็สามารถสนุกกับวันหยุดได้โดยไม่ต้องกลัวผิวเสียแล้ว ก็ขอให้ทุกคนเที่ยวกันให้สนุก และอย่าลืมทาครีมก่อนออกแดด 30 นาทีทุกครั้งนะคร้าบบบ

เรียบเรียงข้อมูลจาก: หนังสือประกอบการเรียนรายวิชา “เครื่องสำอางในชีวิตประจำวัน (Cosmetic Daily Life)” ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง: สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์Livescience.com, ArtistryThailandWikipedia

0/5 (0 Reviews)

บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์รุ่นที่ 80 ภาควิชาฟิสิกส์ ชอบเขียนบทความวิทยาศาสตร์ รวมถึงสุขภาพและการดูแลตนเอง

error: