เรื่องราวแบบ Deepwater Horizon เคยเกิดขึ้นจริงในอ่าวไทย
ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่เพิ่งลงโรงเข้าฉายในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่าง Deepwater Horizon (ฝ่าวิบัติเพลิงนรก) วันนี้ผมมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่คล้ายกับเรื่องราวใน Deepwater Horizon ที่เคยเกิดขึ้นจริงในอ่าวไทยมาให้ชาว soscity ได้ทำความรู้จักกันครับ
Based on true story
การระเบิดและการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากแท่นขุดเจาะดีพวอเทอร์ฮอไรซัน (Deepwater Horizon drilling rig explosion) ซึ่งเกิดขึ้นในอ่าวเม็กซิโก และเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลครั้งรุนแรงที่สุดของสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2553 เป็นเหตุให้คนงานบนแท่นเจาะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และยังส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งเป็นวงกว้าง เนื่องจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบยาวนานกว่า 86 วัน จนเป็นที่มาของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ผมพูดถึงไปตอนต้น
Deepwater Horizon เป็นแท่นขุดเจาะประเภท semi-submersible drilling rig หรือแท่นขุดเจาะแบบทุ่นกึ่งจมที่มีเครื่องยนต์ใต้น้ำสำหรับเคลื่อนที่ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งวิธีในการสำรวจหาแหล่งพลังงานใต้พิภพ โดยวิธีในการตั้งแท่นขุดเจาะนั้นยังมีอีกหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการสำรวจหาแหล่งพลังงานใต้พิภพทั้งในภาคพื้นดินและทางมหาสมุทร โดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทย แหล่งสำคัญที่คุ้นชื่อกันก็เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งในอดีต เคยมีแท่นแบบเรือขุดเจาะ (drill ship) แท่นหนึ่งออกสำรวจแหล่งพลังงานในน่านน้ำอ่าวไทย แต่กลับต้องประสบกับหายนะครั้งใหญ่ ที่ทำให้ชีวิตของคนงานแท่นตกอยู่ในอันตรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พายุไต้ฝุ่นเกย์ ต้นเหตุแห่งหายนะ
1 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 (20 ปีก่อนเหตุการณ์ Deepwater Horizon) พายุไต้ฝุ่นเกย์ (Typhoon Gay) ได้ก่อตัวขึ้นในอ่าวไทยตอนล่าง และพาดผ่านประเทศไทยบริเวณภาคใต้ตอนบน โดยมีความเร็วแรงลม 185 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ไต้ฝุ่นระดับ 3) พัดถล่มหลายอำเภอในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชุมพร นับเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากที่สุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่พายุโซนร้อนแฮเรียต ที่พัดถล่มแหลมตะลุมพุก เมื่อปี พ.ศ.2505 ซึ่งนอกจากจะทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนประชากรบนฝั่งแล้ว ไต้ฝุ่นเกย์ยังสร้างหายนะครั้งใหญ่ให้กับ เรือแท่นขุดเจาะซีเครส (Drillship Seacrest) นอกชายฝั่งอ่าวไทย เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2532
ไดโนเสาร์พิโรธ
ภาพยนตร์ Deepwater Horizon เปรียบพลังงานใต้พิภพเป็น “ไดโนเสาร์ที่พิโรธ” อยู่ใต้มหาสมุทร ก่อนที่ผมจะไปเล่าถึงเหตุการณ์เรือแท่นขุดเจาะซีเครส ผมจึงอยากใช้ย่อหน้านี้สำหรับอธิบายหลักการขุดเจาะแหล่งพลังงานในมหาสมุทรให้ได้รู้จักกัน
เนื้อหาต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ มิได้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์
แต่อาจมีประโยชน์สำหรับการทำความเข้าใจลักษณะแท่นขุดเจาะที่ปรากฏในภาพยนตร์ได้
การขุดเจาะแหล่งพลังงานในมหาสมุทร เช่นในกรณีของ Deepwater Horizon ที่เป็นหลุมสำรวจ (Spud) ซึ่งเจ้าหลุมนี้จะถูกเจาะด้วยหัวเจาะแบบพิเศษเพื่อใช้ในการเปิดหลุม (Hole Opener) ในระหว่างที่เจาะก็จะมีการปั๊มโคลน (น้ำสีเหลืองที่พุ่งในตัวอย่างภาพยนตร์) ลงไปตามก้านเจาะ เพื่อช่วยนำเศษหินขึ้นมา รวมทั้งช่วยหล่อลื่นและลดความร้อนที่หัวเจาะด้วย ซึ่งในหลุมเจาะนี้จะต้องไม่มีการทะลักของน้ำหรือปิโตรเลียมเข้ามาในหลุม เพราะหากไม่สามารถควบคุมสมดุลความดันในหลุมได้ ก็อาจเกิดการระเบิด เมื่อเจาะถึงความลึกที่กำหนดแล้ว ก็จะดูดน้ำโคลนกลับเพื่อทำความสะอาดหลุม แล้วลงท่อกรุ (Casing) อัดซีเมนต์ยึดท่อกับผนังหลุม รอให้ซีเมนต์แข็งตัว ระหว่างนั้นจึงเปลี่ยนหัวเจาะที่มีขนาดเล็กลง เพื่อเจาะในช่วงระดับลดหลั่นกันลงไป
อีกเครื่องมือที่สำคัญก็คือ เครื่องป้องกันการพลุ่ง (Blowout Preventer : BOP) ที่จะถูกติดตั้งที่ปากหลุม ภายในจะมี Ram ที่มีลักษณะคล้ายคีม ทำหน้าที่ปิดหลุมเพื่อป้องกันความดันสูง แต่ถ้าหากความดันยังสูงมากจนทำให้ของเหลวไหลทะลักขึ้นมา ก็จะต้องใช้ Ram ตัวที่ 2 เพื่อตัดก้านเจาะให้ขาดออกจากกัน โดย Ram ตัวนี้มีลักษณะเป็นลิ่มและซองรับที่ปิดได้สนิท โดยในแต่ละช่วงเจาะ หลังจากลงท่อกรุและลงซีเมนต์แล้ว จะต้องทดสอบความแข็งแรงของชั้นหิน (Formation Integrity Test : FIT) ด้วยการปั๊มน้ำโคลนลงไปจนถึงก้นหลุม แล้วเพิ่มความดันในหลุมเจาะ เพื่อให้ชั้นหินเริ่มมีการแตกร้าว เพื่อคำนวณหาค่าความดันสูงสุดจากปริมาณโคลนที่ซึมหายไปในรอยแตก (Loss Circulation) เพื่อควบคุมความสมดุลของหลุมเจาะให้ปลอดภัยนั่นเอง
Deepwater Horizon ในไทย วิกฤตที่ไม่มีทางหนีรอด
Drillship Seacrest หรืออีกชื่อหนึ่งว่า The Scan Queen เป็นแท่นขุดเจาะที่ไม่ได้เหมือนกับ Deepwater Horizon ซะทีเดียว เพราะซีเครสมีลักษณะเป็นเรือขุดเจาะ (drill ship) ที่มีช่องตรงกลางลำสำหรับติดตั้งแท่นเจาะที่มีลักษณะเป็นหอคอยปั้นจั่น (derrick) ภายในก็จะมีก้านเจาะและหัวเจาะสำหรับเจาะลงไปในชั้นหินใต้มหาสมุทร เมื่อเสร็จภารกิจก็จะเคลื่อนย้ายไปที่ใหม่ได้
บริษัทยูโนคอล (Unocal Corporation) (ปัจจุบันขายกิจการให้กับ Chevron) ได้ขุดหาแหล่งพลังงานในอ่าวไทย บริเวณแหล่งปลาทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 โดยเช่าแท่นขุดเจาะซีเครสจากบริษัท Great Eastern Drilling and Engineering ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือแท่นขุดเจาะสัญชาติสิงคโปร์ มีน้ำหนักกว่า 4,400 ตัน ซึ่งสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของแท่นเจาะประเภทนี้คือจะต้องมีการยึดสมอ ซึ่งตำแหน่งที่ซีเครสตั้งแท่นอยู่ในอ่าวไทย ห่างจากชายฝั่งกรุงเทพมหานครออกไปราว 430 กิโลเมตร จากนั้นได้ทำการทอดสมอรอบลำตัวเรือถึง 8 ตัว แต่ละตัวมีน้ำหนักกว่า 30,000 ปอนด์ เชื่อมต่อกับเรือด้วยสายเคเบิลเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว ลึกลงไปกว่า 7,000 ฟุต
วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 ในขณะท่อเจาะขนาด 5 นิ้ว ได้เจาะลึกถึงระดับความลึก 3,707 ฟุต ทั้งที่ตัวเรือเผชิญกับไต้ฝุ่นเกย์ผ่านมากว่า 4 วันและมีคำเตือนพายุหมุนกำลังแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เรือซีเครสยังคงขุดเจาะต่อไปและถึงที่ระดับ 12,500 ฟุต ก่อนที่เรือจะเผชิญกับคลื่นลมแรงหลายสิบฟุต จนไม่สามารถควบคุมสมดุลได้ และพลิกคว่ำลงกลางพายุในมหาสมุทร
ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตเกิดขึ้นภายหลังจากได้รับยืนยันการหายไปของซีเครส ภายหลังเหตุการณ์นี้ได้มีการฟ้องร้องบริษัทยูโนคอล มีการไต่สวนคดีความถึงสาเหตุของการล่มลงของซีเครส ว่าเกิดจากการไม่สนใจคำเตือนสภาพอากาศ และความประมาทในการดำเนินการขุดเจาะท่ามกลางพายุ ซึ่งผลสรุปของ Failure Analysis Associates, Inc. (FaAA) ได้สรุปว่าสาเหตุการล่มลงของซีเครสเกิดจากความไม่สมดุลของจุดศูนย์ถ่วงของเรือ (Center of Gravity) อันเนื่องมาจากน้ำหนักของก้านเจาะ (drill pipe) บนหอคอยปั้นจั่น ซึ่งตามกฎความปลอดภัยในสภาวะอากาศเลวร้ายเช่นนี้ ควรถูกถอนการติดตั้งออก แต่บริษัทยูโนคอลละเลยการทำตามกฎดังกล่าว จนเรือไม่สามารถทนต่อกระแสคลื่นลมในทะเลได้และพลิกคว่ำในที่สุด
เรือแท่นขุดเจาะซีเครส มีคนงานปฏิบัติงานบนแท่นทั้งหมด 97 คน แบ่งเป็นคนไทย 64 คน, สิงคโปร์ 8 คน, อเมริกัน 7 คน, ออสเตรเลีย 4 คน, อังกฤษ 4 คน, แคนาดา 3 คน, สวีเดน 2 คน, ฟิลิปปินส์ 2 คน, อิตาลี นิวซีแลนด์ และเยอรมันอย่างละ 1 คน
มีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้เพียง 6 คน
คนงานบนแท่นอีก 91 คน เสียชีวิต