พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานไอที
พระอัจฉริยภาพในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประดิษฐ์และสร้างโปรแกรม ด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบส.ค.ส เพื่อพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ซึ่งงานของพระองค์ทั้งหมดนี้มีส่วนในการจุดประกายให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ มากมายให้ทันนานาอารยะประเทศต่อไป
คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของพระองค์
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2529 ในยุคที่คนยังไม่รู้จักคำว่
คอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ในเวลาต่อมา คือ IBM PC Compatible และอีกหลายรุ่นซึ่งมีการพัฒนาขึ้นตามโลกสมัย จุดนี้มีรายงานว่าพระองค์สนพระทัยในเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างมาก บางครั้งจึงทรงเปิดเครื่องออกดูระบบต่างๆ ภายในด้วยพระองค์เอง รวมถึงทรงแก้ไขซอฟต์แวร์ในเครื่องให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU Writer ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการพิมพ์งาน ทรงพระอักษรส่วนพระองค์ และทรงเก็บงานเหล่านี้เป็นเรื่อง ๆ มาปะติดปะต่อกัน จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และบทพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ เช่น เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นต้น
โปรแกรมคอมพิวเตอร์อักษรเทวนาครี
เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์ตัวอักษรเทวนาครี หรือตัวอักษรแขก ซึ่งยังไม่มีผู้ใดในประเทศไทยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสันสกฤต เนื่องจากรูปแบบของที่ไม่คงตัวเหมือนตัวอักษรภาษาอื่นๆที่ทั่วโลกใช้กัน ถ้านำส่วนหนึ่งของอักษรนำมาต่อรวมกับอีกส่วนหนึ่งของอักษร จะเกิดอักษรขึ้นใหม่
สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระทัยในตัวอักษรเทวนาครี เพราะว่าพระองค์ทรงศึกษาข้อธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังและลึกซึ้ง การที่ทรงศึกษาตัวอักษรแขก ก็เพื่อเป็นการนำไปสู่ความเข้าใจด้านอักษรศาสตร์ และความเข้าใจในหัวข้อธรรมะนั่นเอง เพราะคำสอนและข้อธรรมะในพุทธศาสนานั้น เดิมทีก็เกิดและเผยแพร่มาจากประเทศอินเดีย บรรดาธรรมะที่ลึกซึ้งและยากแก่ความเข้าใจ ก็อาจจะถูกตีความผันแปรบิดเบือนไปได้ ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าลึกลงไปถึงภาษาแขก จึงน่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมะชัดเจนกระจ่างมากขึ้น
ทรงศึกษาตัวอักษรเทวนาครีด้วยพระองค์เองจากพจนานุกรมและตำราภาษาสันสกฤต และทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสกฤต เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และท่านองคมนตรี ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ซึ่งช่วยตรวจสอบตัวอักษรที่ทรงสร้างขึ้น
หลังจากเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานจุฬาวิชาการ’ 30 บนศาลาพระเกี้ยวแล้ว พระองค์ได้เสด็จฯ มาที่ที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ เพื่อทรงคอมพิวเตอร์ตามคำกราบบังคมทูลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นรายการที่อยู่นอกกำหนดการ
ในวันนั้น พระองค์ทรงนำโปรแกรมที่บรรจุอยู่ในแผ่นจานแม่เหล็ก (Diskette) ซึ่งทรงใช้ชื่อรหัสว่า Devwrit Test และ Devwrit Temp สิ่งที่ปรากฏบนจอขนาดใหญ่ ซึ่งต่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น ดูไม่ชัดนั้น เริ่มด้วยตัวอักษร Chulalongkorn University โดยทรงประดิษฐ์ให้มีตัวอักษรขนาดต่างๆ ลดหลั่นตามขนาดของ font และทรงพิมพ์ชื่อมหาวิทยาลัยเป็นภาษาสันกฤตด้วยตัวอักษรเทวนาครี ทรงพิมพ์พระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วยตัวอักษรเทวนาครี ตามด้วยอักษรโรมัน ซึ่งออกเสียงแบบสันสกฤต และอักษรไทยตามลำดับ
ทำให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทรงสร้างขึ้น สามารถพิมพ์ตัวอักษรได้ทั้งภาษาสันสฤต ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และตัว phonetics ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาภาษา ที่ทำให้มีชีวิตชีวาขึ้น
นอกจากนั้นในงานจุฬาวิชาการ’ 30 โปรแกรมที่ทรงทำ สามารถทำให้คอมพิวเตอร์พูดภาษาไทยชัดขึ้น ซึ่งหลายท่านที่เฝ้าเสด็จที่ศาลาพระเกี้ยวและผู้ที่ฟังการถ่ายทอดโทรทัศน์ท่บ้าน ก็คงได้ยินคอมพิวเตอร์ของพระองค์ท่านกราบบังคมทูลว่า
“ขอเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ”
ประดิษฐ์ตัวอักษรไทยบนคอมพิวเตอร์
เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2530 หลังจากที่พระองค์ทดลองใช้งานโปรแกรม Fontastic สร้างตัวอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษรูปแบบและขนาดต่างๆ สิ่งที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษคือการ ประดิษฐ์ตัวอักษรไทย
การสร้างตัวอักษร (Font) ตามวิธีการทั่ว ๆ ไปคือ กำหนดเป็นจุด ๆ มาต่อกันเป็นตัวอักษร จะเห็นได้ว่าการสร้างตัวอักษรนี้ ต้องใช้ความอดทนและความประณีตมาก พระองค์ทรงใช้เวลาที่พอว่างจากพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในการสร้างตัวอักษรด้วยคอมพิวเตอร์
ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยหลายแบบ เช่น ฟอนต์จิตรลดา, ฟอนต์ภูพิงค์ ฯลฯ ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยพระองค์เอง ทรงสนพระทัยประดิษฐ์อักษรขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขนาดเล็กที่สุด นอกจากนี้ยังตั้งพระทัยในการประดิษฐ์อักษร ภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้น คือภาษาสันสกฤต
เสด็จประพาส Silicon Valley
ซิลิคอนวอลเล่ย์ ดินแดนที่เต็มเปี่ยมไปอยู่มั่งคั่งและรุ่งเรืองทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีหลายบริษัทไอทีชื่อดังเปิดทำการอยู่เช่น Facebook, Google, Microsoft, Apple, IBM ฯลฯ
ครั้งหนึ่งพระองค์ เคยเสด็จประพาสโรงงาน IBM ที่ซิลิคอนวอลเล่ย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ทำให้จุดประกายในวงการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้วต่อไป
ตรวจสภาวะอากาศผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
ขณะนั้นได้เกิดเหตุไต้ฝุ่นแองเจล่า (Angela) ทำความเสียหายให้กับประเทศฟิลิปปินส์ และคาดว่าจะเข้าสู่ประเทศไทย ในเวลาต่อมาทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนประชาชนชาวไทยให้เตรียมระวังอันตรายที่เกิดขึ้น
ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 วันที่พระองค์ทรงกำลังเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังในอีก 5 ชั่วโมง ทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งเดินสายระบบออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ พระองค์จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวนี้อยู่ตลอดเวลา ได้พระราชทานความเห็นว่าไม่ควรตระหนกแต่อย่างใดเนื่องจากไต้ฝุ่นได้อ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศเวียดนาม และได้แปรสภาพเป็นความกดอากาศขนาดย่อมเท่านั้น
ข่าวอันน่ายินดีสำหรับชาวไทยนี้เป็นผลสืบเนื่องจากมาพระอัจฉริยะภาพและความก้าวล้ำในการทรงใช้เทคโนโลยีในด้านแผนที่แสดงสภาวะอากาศ และทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้พัฒนาตามเบื้องพระยุคลบาทต่อไป
พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์
โครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ เพื่อทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกและชุดอรรถกถา เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและแม่นยำ รวมทั้งยังสะดวกต่อการเผยแพร่อีกด้วย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2534 พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเงิน 1,472,900 บาท ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา ในชื่อ BUDSIR IV (ระบบค้นหาพระไตรปิฎก รุ่นที่ 4) ในรูปแบบ CD-Rom
ปัจจุปันได้มีการพัฒนาข้อมูลจากรูปแบบ CD มาเผยแพร่ในรูปแบบบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://budsir.mahidol.ac.th/ (ต้องมีการลงทะเบียนเข้าสู่ระบบก่อน) และยังคงมีการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการศึกษาในหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป
ส.ค.ส. พระราชทานด้วยคอมพิวเตอร์
ส.ค.ส. พระราชทาน เป็นบัตรส่งความสุข ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ เป็นประจำทุกปี (ยกเว้น พ.ศ. 2548)
ในวันสิ้นปี (31 ธันวาคม) ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพร เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี นอกจากนี้ ยังทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจ มาปรุแถบโทรพิมพ์ (เทเล็กซ์) พระราชทานพรปีใหม่ แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงาน โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร ทรงระบุท้ายโทรพิมพ์ว่า กส. 9 ปรุ ส.ค.ส. พระราชทาน ที่เป็นโทรพิมพ์เหล่านี้ เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ. 2530
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงได้ทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โทรสาร (แฟกซ์) พระราชทานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ โดยข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทาน แต่ละปี จะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องประสบ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในปีต่อ ๆ มา หนังสือพิมพ์รายวัน ได้นำลงตีพิมพ์ ในฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมอย่างทั่วถึง
นับแต่ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ทรงเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน เป็น ก.ส. 9 ปรุง เนื่องจากทรงเปลี่ยนจากการ “ปรุ” ด้วยโทรพิมพ์ เป็นการ “ปรุง” ด้วยคอมพิวเตอร์ ถัดจากนั้น จะทรงระบุวันและเวลาที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น เป็นรูปแบบเฉพาะ ดังนี้
ววชชนน ด.ด. ปปปป และตั้งแต่ ส.ค.ส. พระราชทานปี 2549 เป็น ววชชนน ด.ด. ปป เมื่อ ว=วันที่ ช=เวลาเป็นชั่วโมง น=เวลาเป็นนาที ด=เดือน และ ป=ปีส.ค.ส. พระราชทานตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี นอกจากนี้ คำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน ตั้งแต่ปีดังกล่าวเป็นต้นมา จะมีข้อความ “พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad, D.Brahmaputra, Publisher”(ใน ส.ค.ส. ปี 2549) และ “Printed at the Suvarnnachad Publishing, C.Brahmaputra, Publisher” (ใน ส.ค.ส. ปี 2550)
อ้างอิง:
[1] nutmos. รู้จักกับ Macintosh SE คอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เครื่องแรก [ออนไลน์]. 2556, เข้าถึงได้จาก http://www.macthai.com/2013/12/05/macintosh-se-first-king-computer/ [สืบค้นล่าสุดวันที่: 15 ตุลาคม 2559]
[2] การปาฐกถาทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอย่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เรื่อง “ตามรอยพระยุคลบาทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ” [ออนไลน์]. 2550, เข้าถึงได้จาก http://www.ictforall.org/Articles/IT2550.pdf [สืบค้นล่าสุดวันที่: 15 ตุลาคม 2559]
[3] ยุพิน สิงหพงษ์. พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://siweb.dss.go.th/sci60/team6/data/page4.htm [สืบค้นล่าสุดวันที่: 15 ตุลาคม 2559]
[4] Mahidol University. History and Development of BUDSIR I, II, III [Online]. 2012. Available from : http://budsir.mahidol.ac.th/BUDSIRLegend/history.htm [2016, October 15]
[5] Wikipedia. ส.ค.ส. พระราชทาน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ส.ค.ส._พระราชทาน [สืบค้นล่าสุดวันที่: 15 ตุลาคม 2559]
[6] ส.ค.ส. พระราชทาน กับ บัตรส่งความสุด [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://rilc.ku.ac.th/_2016/59-01-07-new-year’s-cards/page1.html [สืบค้นล่าสุดวันที่: 15 ตุลาคม 2559]
[7] กัญดา ธรรมมงคล. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์อักษรเทวนาครี. วารสารภาษาปริทัศน์ 8 (2530) : 7-19.