TOP

รู้หรือไม่? ฟอนต์ไทยใน Windows ตั้งชื่อมาจากดอกไม้

คนที่เกิดมาในยุค 80-90s เป็นต้นมานั้น เป็นยุคที่เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์เติบโตและพัฒนามาพร้อมๆ กับพวกเรา ในปัจจุบันที่คอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนหรือการทำงาน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคงไม่มีใครไม่เคยรู้จักหรือสัมผัสกับระบบปฏิบัติการ Windows และชุดโปรแกรมสำนักงานครอบจักรวาลอย่าง Microsoft Office อย่างน้อยก็ต้องเคยลองใช้ Word กันมาบ้างแหละ และแน่นอนว่าเรื่องของ ฟอนต์ไทย ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายๆ คน

สิ่งหนึ่งที่พวกเราไม่ว่าจะแค่พิมพ์รายงานส่งอาจารย์ คนทำงานในบริษัท ไปจนถึงนักออกแบบกราฟิก มีสิ่งหนึ่งที่พวกเราต้องใช้เป็นองค์ประกอบในงานของเรานั่นก็คือตัวอักขระที่ใช้สื่อความในงานของเรา ซึ่งตัวอักขระเหล่านั้นคือสิ่งที่มีนักประดิษฐ์ทางคอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมาในชื่อเรียกว่า “ฟอนต์” แต่ใครจะรู้บ้างไหมว่าฟอนต์ หรือ Typeface ภาษาไทยที่ถูกติดตั้งมากับ Windows นั้น ถูกตั้งชื่อมาจากดอกไม้!

ทำความเข้าใจ ฟอนต์ ≠ แบบอักษร

คำว่า “ฟอนต์” (Font) ที่พวกเราพูดกันจนติดปากนั้น ที่จริงแล้วเรามักใช้กันอย่างถูกๆ ผิดๆ มาตลอด ในตามความหมายแล้ว เราไม่สามารถเรียก แบบอักษร Angsana New ว่า ฟอนต์ Angsana New ได้

แบบอักษร (Typeface) คือแบบของตัวอักษรที่ถูกออกแบบขึ้นโดยนักออกแบบตัวอักษร ซึ่งในแต่ละ Typeface ก็อาจจะมีรูปร่างและน้ำหนักที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่วนนี้เองที่เราเรียกว่า “ฟอนต์”

ฟอนต์ (Font) เป็นเพียงลักษณะหนึ่งของ Typeface ตัวอย่างเช่น Angsana New Italic กับ Angsana New Bold นับเป็นคนละฟอนต์กัน (แต่ทั้งสองฟอนต์นี้อยู่ใน Typeface เดียวกันที่ชื่อ Angsana New) เป็นต้น

อะไรๆ ก็ Angsana New

ในยุคที่เรายังมีแบบอักษรไทยบนคอมพิวเตอร์ไม่มากเท่าในสมัยนี้ ผู้ใช้อย่างเรา ๆ มักเลือกใช้แบบอักษรที่มีอยู่แล้วในเครื่อง ซึ่งทาง Microsoft หรือเจ้าของโปรแกรมชุด Office นั้นก็ใจดีให้แบบอักษรมาให้เราใช้ได้ฟรีโดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ (แต่ระบบปฏิบัติการและชุดโปรแกรมต้องถูกลิขสิทธิ์นะ) ซึ่งแบบอักษรเหล่านี้มีด้วยกัน 10 Typefaces เราลองไปดูหน้าตาของแบบอักษรเหล่านี้กัน

เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี เช่น แบบอักษร Angsana New หรือ Cordia New ซึ่งเคยเป็นแบบอักษรมาตรฐานในงานพิมพ์ เช่น วิทยานิพนธ์ หนังสือราชการ บทความวิชาการ ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้หน่วยงานฝ่ายบริหารทั้งหมดใช้ชุดแบบอักษร TH Sarabun PSK ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดแบบอักษร 13 แบบ ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA จัดทำขึ้นตามโครงการฟอนต์มาตรฐานราชการไทย แทนที่ชุดแบบอักษรเดิมที่ซื้อมาจากบริษัทเอกชน ซึ่งก็คือชุดแบบอักษร Angsana New, Browallia New, Cordia New และ EucrosiaUPC ทำให้แบบอักษรไทยใน Windows เหล่านี้ค่อย ๆ มีจำนวนผู้ใช้ลดลง

10 แบบอักษรไทย ใน Windows มาจากชื่อของดอกไม้

จริง ๆ แล้วแบบอักษรบนคอมพิวเตอร์ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับดอกไม้เลย (อ้าว!) แต่ที่มีความเกี่ยวข้องนั้นคือ “ชื่อ” ของแบบอักษรทั้ง 10 แบบนั้นต่างหาก ซึ่งเชื่อว่าใครหลายคนน่าจะไม่รู้มาก่อนว่าชื่อของมันมีความหมายเป็นดอกไม้ทุกชื่อ ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับดอกไม้ทั้ง 10 ชนิดผ่านชื่อของแบบอักษรไทยใน Windows กัน

ประดู่บ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus Willd เป็นไม้ผลัดใบขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในสกุล Pterocarpus วงศ์ FABACEAE ดอกของประดู่บ้านมีขนาดเล็กสีเหลือง ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะแตกแขนงเป็นช่อ มีกลิ่นหอมแรง ดอกจะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ปัจจุบัน ประดู่บ้าน ถูกขึ้นบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List of Threatened Species) เป็นพรรณไม้ที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU – Vulnerable species) แต่ยังสามารถพบได้ทั่วไปตามชายขอบถนนทั้งเขตเมืองและชนบทของประเทศไทย

พลอยไพลิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Browallia americana L. เป็นพืชในวงศ์ SOLANACEAE เป็นไม้ดอกที่นิยมปลูกประดับ ลักษณะลำต้นเตี้ย แตกกิ่งก้านสาขาโดยรอบ มักออกดอกแบบเดี่ยวบริเวณยอดต้น ดอก 5 แฉกสีม่วงแกมขาวบริเวณตรงกลาง

หมัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cordia myxa L. เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ BORAGINACEAE พบทั่วไปทางภาคเหนือ และภาคอีสาน ดอกหมันพบหลายสี แต่ที่พบมากมักมีสีขาว ผลสดรูปกลมแป้น มี 4 สัน เมื่อแก่เปลือกสีชมพูมีของเหลวภายในที่ห่อหุ้มเมล็ดเหนียวมากใช้ทำกาวหรือใช้ยาแนวเรือ ต้นหมันเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ส้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Dillenia obovata (Blume) Hoogland เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ DILLENIACEAE พบตามป่าเต็งรัง และป่ากึ่งโล่งแจ้งที่ระดับ 1,200 เมตร ดอกส้านเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ หรือออกเป็นคู่ที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองสดหรือสีขาว มี 5 กลีบ แยกจากกัน ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน และเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม สำหรับชาวนิสิตวิทยาฯที่ไม่คุ้นชื่อต้นส้าน ในคณะวิทยาศาสตร์ของเราก็มีต้นจริงอยู่ที่ด้านข้างตึกมหามกุฏ บริเวณด้านหลังร้าน tealicious

ว่านมหาลาภ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Phaedranassa sp. เป็นไม้ดอกประเภทมีหัวใต้ดินในวงศ์ AMARYLLIDACEAE ดอกว่านมหาลาภออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย 6 กลีบ ดอกสีแดงหรือสีแสดปนเหลือง ก้านดอกชูสูงขึ้นมาจากกลางลำต้น ออกดอกเป็นกลุ่มแล้วทยอยกันบาน

ฟรีเซีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Freesia sp. เป็นไม้ดอกเมืองหนาวประเภทมีหัวใต้ดินในวงศ์ IRIDACEAE มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปแอฟริกาตอนใต้ ดอกฟรีเซียมีกลิ่นหอม ไม่มีก้านดอก มีกลีบดอกเป็นรูปกรวยแตรแบบกลีบรวม ฐานกลีบรวมเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกจากกัน พบหลายสี ดอกฟรีเซียจะหยุดส่งกลิ่นหอมทันทีที่ถูกตัดออกจากต้น

ไอริส

ชื่อวิทยาศาสตร์ Neomarica longifolia (Link & Otto) Sprague เป็นไม้ดอกประเภทมีหัวใต้ดินในวงศ์ IRIDACEAE มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาใต้ และแถบตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดอกไอริสเกิดที่ปลายยอด มีหลายสี เมื่อบานปลายกลีบมักบิดโค้ง และออกดอกตลอดทั้งปี

มะลิ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Jasminum sp. ในวงศ์ OLEACEAE มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในแถบเอเชีย แอฟริกา และออสตราเลเซีย พบสายพันธุ์ประมาณ 200 ชนิด มะลิมีทั้งชนิดไม้ผลัดใบและไม้ไม่ผลัดใบ หรือเป็นไม้พุ่มและไม้เถา ดอกมะลิ มีสีขาวหรือเหลือง บางชนิดมีสีแดงเรื่อ ดอกแบบช่อกระจุก หนึ่งกระจุกมีอย่างน้อยสามดอก บางชนิดเป็นดอกเดี่ยวที่ปลายแขนง แต่ละดอกมี 4 – 9 กลีบดอก มีกลิ่นหอม

โกฐเชียง

หรือที่คุ้นกันในชื่อตังกุย ชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica sinensis (Oliv.) Diels เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กในวงศ์ APIACEAE สูงราว 1 เมตร ลำต้นเป็นปล้อง ก้านยื่นยาวคล้ายผักชี ก้านดอกใหญ่และแข็งแผ่ออกเป็นก้านเล็กคล้ายร่ม ให้ดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มเชิงประกอบตามปลายกิ่งหรือง่ามใบ มีช่อย่อยขนาดไม่เท่ากัน 10-30 ช่อย่อย ดอกสีขาวหรือแดงอมม่วง มี 13-15 ดอก กลีบดอก 5 กลีบ

ลิลี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lilium sp. เป็นไม้ตัดดอกประเภทมีหัวใต้ดินอยู่ในวงศ์ LILIACEAE มีถิ่นกำเนิดในจีน และตอนเหนือของญี่ปุ่น ดอกลิลีมีกลีบดอก 6 กลีบ แยกออกจากกัน เกสรตัวผู้ชูอยู่ใจกลางดอก พบทั้งแบบมีสีเดียวล้วนหรือมีสองสีในดอกเดียวกัน บางพันธุ์อาจมีจุดประบนกลีบดอก โดยดอกจะบานได้ 2-4 วัน

(เพิ่มเติม) Angsana New กับ Angsana UPC ต่างกันยังไง

ใครที่เคยทำงานเอกสารแล้วเลื่อนหาแบบอักษรที่ต้องการก็อาจจะปวดเศียรเวียนเกล้าว่า สร้อยคำของชื่อแบบอักษรนี้มันต่างกันยังไงนะ ที่เห็นได้ชัดเลยก็คงจะเป็นแบบอักษร Angsana ที่มีทั้งเวอร์ชั่น Angsana New และ Angsana UPC จะลองจิ้มเปลี่ยนดูก็ไม่พบความแตกต่างแต่อย่างใด แต่ในความจริงแล้วทั้งสอง Typeface นี้มีความแตกต่างกันที่ซ่อนอยู่ภายในคำอธิบายตามประสาเด็กคอมฯ ได้ดังนี้

แบบอักษรตระกูล UPC (หมายถึงทุกแบบอักษรนอกเหนือจาก Angsana ด้วย) จะใช้ตารางรหัสแอสกี (American Standard Code for Information Interchange : ASCII) แปลเป็นภาษาบ้านเกิดอย่างไพเราะได้ว่า “รหัสมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาเพื่อการแลกเปลี่ยนสารสนเทศ” โดยแอสกีเป็นรหัสตัวเลขแทนตัวอักขระต่างๆ ทั้งตัวอักษรละติน เลขอารบิก หรือสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น รหัส 65 แทนตัวอักขระ A เป็นต้น

ส่วนแบบอักษรในตระกูล New จะใช้ระบบ Unicode ซึ่งต่างกับแอสกีตรงที่ Unicode เก็บข้อมูล 2 byte เก็บอักขระได้ 34,168 ตัว แต่แอสกีนั้นเก็บข้อมูลเพียง 1 byte เก็บตัวอักษรได้เพียง 256 ตัว ทำให้ระบบ Unicode สามารถครอบคลุมอักขระในภาษาทั่วโลกได้ 24 ภาษา (รวมทั้งภาษาไทย) ใช้ได้ทุกโปรแกรม ทุกระบบปฏิบัติการ ดังนั้น หากจะใช้แบบอักษร แนะนำให้เลือกใช้ฝั่งตระกูล New ซึ่งรองรับระบบในอนาคตได้มากกว่า

ตัวอย่างการใช้รหัสที่ต่างกันของตัวอักขระ A ระหว่างระบบ ASCII และ Unicode

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับรู้จัก 10 ดอกไม้ผ่านชื่อ Typeface อักษรไทยใน Windows พร้อมด้วยความรู้ต่างๆ ในมุมด้านคอมพิวเตอร์ ไม่น่าเชื่อเลยว่าทั้งสองเรื่องจะสามารถเขียนรวมกันในบทความเดียวได้ นับเป็นการผนวกรวมกันของวิทยาศาสตร์สายกายภาพและชีวภาพได้อย่างลงตัว ชื่อของดอกไม้หลายชนิดนั้นแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อเลย เพราะเป็นดอกของไม้ใหญ่ยืนต้น (แล้ว Windows เอามาตั้งชื่อได้ยังไงกัน?) หลายชนิดยังมีสรรพคุณในการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ นอกจากความสวยงาม อย่างไรก็ตามข้อมูลที่นำมาเสนอนี้เป็นเพียงข้อมูลสั้นๆ เท่านั้น ถ้าหากใครสนใจหรืออยากหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ลองค้นหาชื่อดอกไม้เหล่านี้หรือดูรายละเอียดได้จาก References ด้านล่างนะครับ

อ้างอิง: หนังสือ The Principles of Typography โดยจุติพงศ์ ภูสุมาศ, Typefaceฟอนต์แห่งชาติประดู่บ้านพลอยไพลินหมันส้านว่านมหาลาภฟรีเซียไอริสมะลิโกฐเชียงลิลี

5/5 (1 Review)

ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ ผู้หลงใหลความลับแห่งจักรวาล

error: