TOP

ทำความรู้จักฝนฟ้า ไขปัญหาพยากรณ์อากาศไทย ทำไมไม่แม่น?

นี่คือสิ่งที่คุณมักได้ยินเมื่อเปิดฟังข่าวพยากรณ์อากาศในช่วงหน้าฝน …

“ในช่วงนี้ ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ (ครบทุกภาคแล้ว) มีฝนกระจาย ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าว ระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมบวกกับน้ำทะเลหนุน ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและดินโคลนถล่ม สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันมีคลื่นจัด ส่วนฝั่งอ่าวไทยมีคลื่นปานกลาง ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง …”

ยังมีชีวิตอยู่ดีกันใช่ไหม? ก่อนที่เราจะไปรับมือกับฟ้าฝน เรามารับมือกับคำศัพท์ในพยากรณ์อากาศ พร้อมรู้สาเหตุและเตรียมพร้อมรับปรากฏการณ์ธรรมชาติในช่วงหน้าฝนกันดีกว่า

ปูพื้นฐานกันสักหน่อย

บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกของเรานั้น แม้เราจะไม่รู้สึกถึงน้ำหนักของมัน แต่แท้จริงแล้วมวลของแก๊สต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศ (หรืออากาศที่เราๆ ท่านๆ ใช้หายใจ) ถูกแรงดึงดูดของโลกกระทำเช่นเดียวกับวัตถุอื่น ๆ ซึ่งถ้าเราเอาน้ำหนักของอากาศที่กดทับหารด้วยพื้นที่ ก็จะได้ ค่าความกดอากาศ (air pressure) ของพื้นที่บริเวณนั้น ๆ แต่เนื่องจากอากาศเป็นของไหลและอุณหภูมิมีผลต่อความหนาแน่นของแก๊ส บริเวณที่มีอุณหภูมิสูง (อากาศร้อน) อากาศจะขยายตัว ความหนาแน่นของอากาศจึงต่ำและลอยตัวสูงขึ้น บริเวณนี้จึงมีความกดอากาศต่ำ (low pressure area) ส่วนบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ (อากาศเย็น) ก็จะเกิดในทางตรงกันข้ามจึงเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศสูง (high pressure area) นั่นเอง โดยอากาศจะเคลื่อนที่จากบริเวณที่ความกดอากาศสูงไปยังบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่า การเคลื่อนที่ของอากาศที่เกิดจากความต่างของความกดอากาศนี้เอง นำไปสู่มหกรรมอันน่าตื่นเต้น (และตื่นตระหนก) มากมาย ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างความชื้นในอากาศที่ทำให้ผ้าที่เราตากไว้ไม่แห้งไปจนถึงพายุที่พัดถล่มพื้นที่หนึ่งให้เสียหายอย่างหนักได้เลยทีเดียว!

เรื่องวุ่น ๆ ของ ร่อง กับ หย่อม

เวลาดูข่าวพยากรณ์อากาศในทีวี ก่อนที่เราจะได้ฟังสภาพอากาศบริเวณใกล้บ้านที่เราอยู่ ผู้ประกาศมักเริ่มอธิบายด้วยแผนที่โลกที่มีเส้นขยุกขยิกเต็มไปหมด มองเร็ว ๆ จะเห็นสัญลักษณ์ L และ H ซึ่งหลายคนน่าจะพอเดาความหมายกันได้ ก่อนอื่นเราไปดูหน้าตาของเจ้าสิ่งนี้กันก่อน

แผนที่อากาศบริเวณประเทศไทย วันที่ 9 สิงหาคม 2561 เวลา 19.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยกรมอุตุนิยมวิทยา

เราเรียกแผนภาพลักษณะนี้ว่า แผนที่อากาศ ซึ่งจะเห็นเส้นโค้งบิดไปมาหลายเส้น แต่ละเส้นเรียกว่า เส้นความกดอากาศเท่า (isobar) โดยที่แต่ละจุดบนเส้นเดียวกันจะมีความกดอากาศเท่ากัน ซึ่งความกดอากาศจะแกว่งอยู่ที่ประมาณ 1,000 เฮกโตพาสคัล (hPa) ซึ่ง 1 เฮกโตปาสคัล เท่ากับ 1 มิลลิบาร์ เท่ากับ แรงกด 100 นิวตันต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยที่แรง 1 นิวตัน เท่ากับ แรงที่ใช้ในการเคลื่อนมวล 1 กิโลกรัม ให้เกิดความเร่ง 1 เมตรต่อวินาที2 (เอ่อ… เอาเป็นว่าช่างมันก็ได้)

ทีนี้ เส้นขยุกขยิกพวกนี้บอกเราว่า บริเวณหนึ่งมีความต่างของความกดอากาศกับอีกบริเวณหนึ่งเท่าไร ซึ่งถ้าเส้นอยู่ชิดกันมาก ๆ แสดงว่าในบริเวณใกล้ ๆ กันมีความต่างความกดอากาศมาก ลมจึงพัดแรง (สังเกตตรงแถว ๆ พายุไต้ฝุ่น “ชานชาน (SHANSHAN)” และพายุโซนร้อน “ยากิ (YAGI)” ที่กำลังพัดอยู่ในทะเลจีนใต้ตามในแผนที่ก็จะเข้าใจมากขึ้น)

กลับมาที่สัญลักษณ์ หลายคนพอจะเดาได้ว่าน่าจะมีความหมายถึง low pressure area หรือ บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ (แปลว่าอุณหภูมิสูง หรืออากาศร้อน ตั้งสติดี ๆ นะ) ส่วน ก็หมายถึง high pressure area หรือ บริเวณที่มีความกดอากาศสูง หรือหย่อมความกดอากาศสูง (แปลว่าอุณหภูมิต่ำ หรืออากาศเย็น) อากาศตรงแถว ๆ ตัว จะเบาและลอยตัวสูงขึ้น อากาศจากตัว H ซึ่งหนักกว่าจึงไหลเข้าไปแทนที่ แต่เพราะว่าโลกเราหมุนรอบตัวเอง อากาศที่พัดเข้าหาตัว จึงเป๋แล้วหมุนวนรอบตัว L แทน ทีนี้ถ้าหย่อมความกดอากาศต่ำหรือตัว มาเรียงต่อใกล้ ๆ กันเป็นแนว แปลว่า ตลอดแนวนี้จะมีความกดอากาศต่ำกว่าบริเวณอื่น จึงเรียกแนวแคบ ๆ นี้ว่า ร่องความกดอากาศต่ำ 

นั่นคือ  หย่อม + หย่อม + หลาย ๆ หย่อม = ร่อง  นั่นเอง

ซึ่งชื่อแสนน่ารักของร่องความกดอากาศต่ำจริง ๆ คือ แนวปะทะแห่งเขตร้อน หรือ แนวลมพัดสอบในเขตร้อน (intertropical convergence zone) ส่วนไทยเราเรียกว่า ร่องมรสุม (Monsoon Trough) เมื่อมีแนวร่องมรสุมเกิดขึ้น อากาศร้อนจะพาเอาไอน้ำลอยตัวสูงขึ้นไป และรวมตัวกับอากาศที่เย็นกว่าด้านบน ท้ายสุดจึงกลั่นตัวเป็นฝนตกกลับลงมา นั่นแปลว่า บริเวณที่ร่องมรสุมพาดผ่านจะมีฝนตกหนาแน่น และหากร่องมรสุมพาดผ่านหลายวัน ฝนก็จะตกหนักมากจนเกิดน้ำท่วมได้

ทำไมหน้าฝนในไทยจึงมาไม่พร้อมกัน

หากใครจำช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2553 และ 2554 (รวมทั้งปีอื่น ๆ) จะพอจำได้ว่า ช่วงที่น้ำท่วมท่อนบนของประเทศ (เหนือ-อีสาน) ชาวใต้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากมรสุมมากนัก และมักเป็นผู้ช่วยเหลือบริจาคสิ่งของไปให้ภาคอื่น ๆ แต่ไม่กี่เดือนต่อมา ภาคใต้ก็ต้องเผชิญมรสุมและน้ำท่วม น้ำใจจากท่อนบนของประเทศจึงส่งกลับคืนไปให้ชาวใต้อีกครั้ง (ให้มาให้กลับไม่โกง) เหตุที่เป็นลักษณะนี้เพราะว่า ร่องความกดอากาศต่ำนั้นพาดผ่านพื้นที่ของประเทศไทยต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

ตามปกติร่องความกดอากาศต่ำจะเริ่มพาดผ่านประเทศไทยบริเวณภาคใต้ตั้งแต่เดือนเมษายน (กลางหน้าร้อน) จากนั้นจะเคลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกในเดือนพฤษภาคม ตามด้วยภาคเหนือและภาคอีสานในเดือนมิถุนายน สาเหตุที่เคลื่อนขึ้นไปเนื่องจากตำแหน่งดวงอาทิตย์เคลื่อนที่อ้อมขึ้นไปทางเหนือ (จริง ๆ คือโลกเอียงเอาซีกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์) ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมหนาวจากจีน) มีกำลังอ่อนกว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย ช่วงเวลานี้ร่องความกดอากาศจะมีกำลังไม่แรงมาก อาจเกิดฝนได้บ้างแต่ไม่ต่อเนื่องยาวนาน

ร่องความกดอากาศต่ำมีลักษณะเป็นแนวพาดขวางในทิศตะวันตก-ตะวันออก กระแสอากาศจะไหลขึ้น-ลงสลับกันตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์

จากนั้นในปลายเดือนมิถุนายน ร่องความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณทะเลจีนใต้ (เลยประเทศไทยขึ้นไป) ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง อาจกินเวลา 1-2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ปริมาณฝนจะน้อยมากและอากาศจะค่อนข้างร้อน (วันที่ 21-22 มิถุนายน คือวันที่ซีกโลกเหนือมีกลางวันยาวนานมากที่สุด)

เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนสิงหาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะเปลี่ยนใจเคลื่อนกลับลงมา (ความเป็นจริงคือโลกกำลังค่อย ๆ หันซีกโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จึงค่อย ๆ เคลื่อนอ้อมลงไปทางใต้) โดยร่องความกดอากาศต่ำที่มีกำลังแรงจะค่อย ๆ พาดผ่านจากภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตามลำดับ กินเวลาราว 4 เดือน ทำให้ประเทศไทยเกิดฝนตกชุกทางตอนบนในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน และภาคใต้จะเริ่มมีฝนช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน จึงเป็นสาเหตุที่ฤดูฝนของบ้านเราเกิดขึ้นไม่ตรงกันนั่นเอง

จากนี้เมื่อเราได้ยินผู้ประกาศข่าวกล่าวถึงร่องความกดอากาศต่ำ และอิทธิพลจากมรสุมต่าง ๆ ก็น่าจะพอทำความเข้าใจและทำนายเหตุการณ์หลังจากนั้นได้มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว ต่อไปเรามารู้จักกับส่วนของคำพยากรณ์หลังจากเรื่องร่องมรสุมนั่นก็คือ “ฝน” กันดีกว่า

ท้องฟ้ามีเมฆมาก กับมีฝนตกหนักบางแห่ง?

เวลาฟังนักข่าวรายงานสภาพอากาศมักมีคำบรรยายลักษณะอากาศต่างกันไปในแต่ละวัน บางคำก็ฟังเข้าใจง่าย บางคำก็ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกแค่ไหน วันนี้จะซักผ้าดีไหม ถ้าล้างรถเสร็จแล้วฝนตกลงมาคงแย่ วันนี้เราจึงมีหลักการใช้คำอธิบายสภาพฟ้าฝนมาเล่าสู่ให้ฟังกัน

ปริมาณเมฆ

ในช่วงฤดูที่ฝนตกไม่ชุกนัก คำพยากรณ์มักอธิบายลักษณะอากาศเกี่ยวกับความแจ่มใสของท้องฟ้าและกระแสลม วันไหนที่เราได้ยินคำว่า “วันนี้อากาศแจ่มใส เมฆน้อย ลมสงบ” ก็น่าจะเป็นวันดีที่จะออกไปข้างนอกบ้านได้อย่างสบายใจ (ส่วนจะแม่นแค่ไหนเผื่อใจไว้อ่านหัวข้อถัดไปด้วยนะ)

นักอุตุนิยมวิทยาใช้การแบ่งส่วนพื้นที่ในท้องฟ้าเพื่อบอกปริมาณเมฆ

นักอุตุนิยมวิทยาใช้เกณฑ์ในการอธิบายปริมาณเมฆในท้องฟ้าโดยแบ่งพื้นที่บนท้องฟ้าเป็น 10 ส่วน (บางตำราอาจไม่ถึง 10 ก็ได้) แต่ละส่วนมีเกณฑ์และมีความหมายดังนี้

ท้องฟ้าแจ่มใส (fine)
ไม่มีเมฆ หรือมีน้อยกว่า 1 ส่วน
ท้องฟ้าโปร่ง (fair)
1 ส่วนถึง 3 ส่วน
เมฆบางส่วน (partly cloudy)
เกิน 3 ส่วนถึง 5 ส่วน
เมฆเป็นส่วนมาก (cloudy)
เกิน 5 ส่วนถึง 8 ส่วน
เมฆมาก (very cloudy)
เกิน 8 ส่วนถึง 9 ส่วน
เมฆเต็มท้องฟ้า (overcast)
เกิน 9 ส่วนถึง 10 ส่วน

ความเร็วลม

การวัดความเร็วลมจะวัดที่ความเร็วลมผิวพื้นที่ระดับความสูงมาตรฐาน 10 เมตรเหนือพื้นดินในบริเวณที่โล่งแจ้ง ซึ่งเครื่องมือวัดความเร็วลมเรียกว่า อะนีมอมิเตอร์ (anemometer) ซึ่งมีหลายชนิดอย่างเช่น แบบใบพัด แบบกังหัน หรือแบบถ้วยกลม 3 ก้าน และใช้ศรลมบอกทิศทางลม โดยเกณฑ์การบอกความเร็วลมมีดังนี้

ลมสงบ (calm)
ลมเงียบ ควันลอยขึ้นตรง
น้อยกว่า 1 กม./ชม.
ลมเบา (light air)
ควันลอยตามลม ศรลมอยู่นิ่ง
1-5 กม./ชม.
ลมอ่อน (light breeze)
รู้สึกลมพัดที่ใบหน้า ใบไม้แกว่งไกว ศรลมหันตามทิศลม
6-10 กม./ชม.
ลมโชย (gentle breeze)
ใบไม้และกิ่งไม้เล็ก ๆ กระดิก ธงปลิว
12-19 กม./ชม.
ลมปานกลาง (moderate breeze)
มีฝุ่นตลบ กระดาษปลิว กิ่งไม้เล็กไหว
20-28 กม./ชม.
ลมแรง (fresh breeze)
ต้นไม้เล็กแกว่งไกวไปมา มีระลอกน้ำ
29-38 กม./ชม.
ลมจัด (strong breeze)
กิ่งไม้ใหญ่ไหว ได้ยินเสียงหวีดหวิว กางร่มลำบาก
39-49 กม./ชม.
พายุเกลอ่อน (near gale)
ต้นไม้ใหญ่แกว่งไกว เดินทวนลมลำบาก
50-61 กม./ชม.
พายุเกล (gale)
กิ่งไม้หัก ลมต้านการเดิน
62-74 กม./ชม.
พายุเกลแรง (strong gale)
อาคารไม่มั่นคงหักพัง หลังคาหลุดปลิว
75-88 กม./ชม.
พายุ (storm)
ต้นไม้ถอนรากล้ม เกิดความเสียหาย
89-102 กม./ชม.
พายุใหญ่ (violent storm)
เกิดความเสียหายทั่วไป
103-117 กม./ชม.
พายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน
(typhoon or hurricane)
เกิดความเสียหายทั่วไป
มากกว่า 117 กม./ชม.

อะนีมอมิเตอร์ (anemometer) แบบถ้วยกลม 3 ก้าน

ปริมาณน้ำฝน

สำหรับปริมาณน้ำฝนนั้น ใช้เกณฑ์การวัดจากความสูงของน้ำฝนที่วัดจากเครื่องวัด ซึ่งจะบอกจำนวนน้ำฝนที่ตกระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรดังนี้

ฝนวัดจำนวนไม่ได้ (trace)
น้อยกว่า 0.1 มม.
ฝนเล็กน้อย (slight)
0.1 ถึง 10.0 มม.
ฝนปานกลาง (moderate)
10.1 ถึง 35.0 มม.
ฝนหนัก (heavy)
35.1 ถึง 90.0 มม.
ฝนหนักมาก (very heavy)
90.1 มม. ขึ้นไป

ส่วน ฝนฟ้าคะนอง (thundery rain) หมายถึง ฝนที่ตกลงมาเป็นระยะ เบา-แรงสลับกัน มักมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ลมกรรโชกแรง (ลมแรงมาก ๆ) อาจหมายรวมถึงมีลูกเห็บตกร่วมด้วย ฝนฟ้าคะนองมักเกิดขึ้นในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง แต่อาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวงได้

การกระจายของฝน

นอกจากคำพยากรณ์จะบอกปริมาณฝนที่จะตกแล้ว มักบอกอาณาบริเวณพื้นที่ ๆ คาดว่าฝนจะตกด้วยว่าจะครอบคลุมพื้นที่อ้างอิงนั้น ๆ เท่าใด โดยบอกเป็นร้อยละของพิ้นที่ตามเกณฑ์ดังนี้

บางแห่ง หรือบางพื้นที่ (isolated)
ไม่เกิน 20% ของพื้นที่
เป็นแห่ง ๆ (widely scattered)
เกิน 20% แต่ไม่ถึง 40% ของพื้นที่
กระจาย (scattered)
เกิน 40% แต่ไม่ถึง 60% ของพื้นที่
เกือบทั่วไป (almost widespread)
เกิน 60% แต่ไม่ถึง 80% ของพื้นที่
ทั่วไป (widespread)
เกิน 80% ของพื้นที่

ภาวะน้ำท่วม

ในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะฤดูน้ำหลาก (ช่วงที่ฝนตกชุก –หรือฝนตกหนักมากๆนั่นแหละ) คำที่พ่วงท้ายการบรรยายลักษณะฝนที่จะตกมักตามมาด้วยคำเตือนให้ระวังภัยจากน้ำท่วม ซึ่งด้วยสภาพแตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ เช่น บนภูเขา ที่ราบลุ่มแม่น้ำ พื้นที่ชายฝั่ง ก็เกิดภัยน้ำท่วมได้จากต่างสาเหตุกัน ต่อไปนี้คือคำที่คุณมักได้ยิน และมันอาจเกิดขึ้นจริงข้าง ๆ บ้านคุณก็ได้

ประชาชนที่ตลาดสี่มุมเมือง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี กำลังอพยพจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งมีประชาชนหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง (ภาพโดยคุณ Sukree Sukplang สำนักข่าว Reuters)

  • น้ำท่วมขัง หรือน้ำท่วมจากฝนตกหนัก (rainwater flood) เกิดขึ้นในภาวะที่ฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ผิวดินอุ้มน้ำไว้ถึงขีดสุด ส่วนในเมืองก็มักเกิดจากปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันหรือมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ท้ายสุดจึงเกิดน้ำท่วมในพื้นที่และขังอยู่ชั่วขณะหนึ่ง (ใครจะเรียกว่า น้ำรอการระบาย ก็แล้วแต่) ซึ่งน้ำท่วมในลักษณะนี้มักคลี่คลายในเวลาไม่นาน (ถ้าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มน่ะนะ)
  • น้ำล้นตลิ่ง (river flood) มักเกิดในพื้นที่ติดริมแม่น้ำโดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มปลายแม่น้ำ (ภาคกลาง) ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำทะเลหนุน (high tide) เกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงแถว ๆ วันขึ้น 15 ค่ำ (ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ในแนวตรงข้ามกัน) เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากภาคเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักจึงเกิดภาวะน้ำล้นแนวตลิ่งและท่วมขังบ้านเรือนริมแม่น้ำได้ ซึ่งอาจกินเวลาหลายวันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

พื้นที่ลุ่มแม่น้ำภาคกลางมีความเสี่ยงเกิดน้ำล้นตลิ่ง จากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุน รวมกับปริมาณน้ำเหนือและสภาพการทรุดตัวของพื้นที่

  • น้ำท่วมฉับพลัน (flash flood) มักเกิดขึ้นในที่ราบเชิงเขา (ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก และภาคใต้ตอนบน) เกิดจากน้ำฝนที่ตกหนักบนยอดเขาและสะสมอยู่นานเป็นเวลาหนึ่ง เมื่อพื้นดินและป่าไม้ (ที่ไม่ค่อยเหลือแล้ว) รับน้ำไว้ไม่ไหว มวลน้ำจึงหลากลงจากภูเขาสูง พัดเอาดินโคลน หินภูเขา ต้นไม้ รวมทั้งท่อนซุง (มีได้ยังไง?) เข้าซัดพื้นที่ราบที่ต่ำกว่า เรียกว่า น้ำป่าไหลหลาก เราจึงมักได้ยินคู่กันว่า “น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก” ซึ่งน้ำท่วมลักษณะนี้จะมาแรงและมาเร็ว ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนเป็นจำนวนมาก
  • น้ำท่วมชายฝั่ง หรือคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm serge flood) เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเลในฤดูมรสุม และจะรุนแรงหากเกิดพายุหมุนเขตร้อนพัดเข้ามาด้วย อิทธิพลของพายุจะทำให้ฝนตกหนักและลมกรรโชกแรง พัดให้ทะเลมีคลื่นสูง ชาวเรือที่ใช้ชีวิตชายฝั่งจึงประสบกับน้ำท่วม ทำลายบ้านเรือนรวมทั้งเครื่องมือหากิน เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่น่าจะคุ้นกันอย่างเช่น เหตุกาณ์น้ำท่วมชายฝั่งและวาตภัย บริเวณแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดจากอิทธิพลพายุโซนร้อนแฮเรียต เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่าพันคน
  • คลื่นยักษ์สึนามิ (tsunami) เราน่าจะคุ้นชื่อกันจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2547 (ดูข้อมูลเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทยจากบทความของผมเองได้ที่นี่) มีสาเหตุจากแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด เกิดมวลคลื่นที่มีกำลังมหาศาลพัดเข้าชายฝั่งอย่างรุนแรง สร้างผลกระทบและอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง ซึ่งหลังจากสึนามิเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้พัฒนาระบบเตือนภัยสึนามิให้ดีขึ้น ร่วมกับการรับข้อมูลจากระบบเตือนภัยในประเทศภูมิภาค สำหรับระบบเตือนภัยสึนามิของไทย ประกอบด้วยฐานเก็บบันทึกข้อมูลใต้ทะเลและทุ่นลอยส่งสัญญาณผิวทะเล มีชื่อว่า DART ซึ่งย่อมาจาก Deep Ocean Assessment and Reporting of Tsunami System

ร่องรอยความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547

ทะเลมีคลื่นสูงเรือเล็กควรลดออกจากฝั่ง

นอกจากคนพื้นที่ราบอย่างเรา ๆ จะต้องการรู้ข้อมูลพยากรณ์อากาศแล้ว ชาวเรือริมชายฝั่งซึ่งต้องใช้ชีวิตร่วมกับคลื่นลมยิ่งต้องอาศัยพยากรณ์อากาศสำหรับชายฝั่งอย่างยิ่ง เพราะขืนออกเรือไปแล้วเจอมรสุม (หรือเลวร้ายถึงขั้นพายุ) กลางทะเลล่ะก็ หายนะมาเยือนแน่ ๆ และนี่คือคำศัพท์ที่ใช้อธิบายสภาพคลื่นลมในทะเลที่เราอาจได้ยิน

ทะเลสงบ (calm)
คลื่นสูงไม่เกิน 0.1 เมตร
ทะเลเรียบ (smooth)
คลื่นสูงกว่า 0.1 ถึง 0.5 เมตร
ทะเลมีคลื่นเล็กน้อย (slight)
คลื่นสูงกว่า 0.5 ถึง 1.25 เมตร
ทะเลมีคลื่นปานกลาง (moderate)
คลื่นสูงกว่า 1.25 ถึง 2.5 เมตร
ทะเลมีคลื่นจัด (rough)
คลื่นสูงกว่า 2.5 ถึง 4 เมตร
ทะเลมีคลื่นจัดมาก (very rough)
คลื่นสูงกว่า 4 ถึง 6 เมตร
ทะเลมีคลื่นใหญ่ (high)
คลื่นสูงกว่า 6 ถึง 9 เมตร
ทะเลมีคลื่นใหญ่มาก (very high)
คลื่นสูงกว่า 9 ถึง 14 เมตร
ทะเลเป็นบ้า (phenomenal)
คลื่นสูงกว่า 14 เมตรขึ้นไป

โดยปกติ ในรายงานสภาพอากาศมักรายงานเป็นความสูงของคลื่นเป็นตัวเลขไปเลยเพื่อความชัดเจนและถูกต้อง ส่วนใหญ่แล้วหากคลื่นทะเลสูงกว่า 2 เมตร มักมีประกาศให้ชาวเรือระมัดระวังการเดินเรือ และหากคลื่นสูงเกินกว่า 3 เมตร มักประกาศให้เรือเล็กงดออกจากฝั่ง ซึ่งเป็นคำที่เรามักได้ยินจนคุ้นชินกันนั่นเอง

ถึงอยากจะออกไปแตะขอบฟ้า แต่ขืนฝ่าออกไป นอกจากโชคชะตาจะไม่เข้าใจ ดวงชะตาจะขาดก็ได้ เชื่อประกาศเตือนของกรมอุตุฯเถอะนะ

กว่าจะมาเป็นคำพยากรณ์

อธิบายเรื่องเมฆฝนลมฟ้าอากาศมาก็นาน ถึงเวลาตัวเอกของเราสักที นั่นคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังคำพยากรณ์และวิเคราะห์สภาพฝนฟ้าอากาศ แล้วรายงานให้เรารู้ทุกวัน นั่นก็คือ กรมอุตุนิยมวิทยา (Thai Meteorological Department) หน่วยงานสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย คอยทำหน้าที่ในการพยากรณ์อากาศ (weather forecast) รายงานปรากฏการณ์ธรรมชาติ รวมทั้งออกประกาศเตือนต่าง ๆ (ในต่างประเทศก็มีหน่วยงานทำหน้าที่นี้ของตัวเอง เช่น NOAA หรือ National Oceanic and Atmospheric Administration ของสหรัฐอเมริกา ที่สามารถรายงานพยากรณ์อากาศและแจ้งเตือนภาวะฉุกเฉินตรงไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนได้ทันทีด้วยนะ) สำหรับกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย มีหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลหลายหน่วยงานด้วยกัน ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับพวกเราทุกวันนั่นก็คือ สำนักพยากรณ์อากาศ ที่ทำหน้าที่รายงานพยากรณ์อากาศประจำวันและพยากรณ์อากาศในช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึงให้เราทราบกันนั่นเอง

แม่นไม่แม่นต้องลองเสี่ยงดวงดูสักนิด

หลายคนคิดว่าการพยากรณ์อากาศของบ้านเราแม่นบ้าง มั่วบ้าง จนกลายเป็นว่านักอุตุนิยมวิทยากลายเป็นหมอดูอากาศไปซะอย่างงั้น แท้จริงแล้วกรมอุตุนิยมวิทยาโดยเฉพาะสำนักพยากรณ์อากาศนั้นทำงานกันทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าการทำงานด้านอุตุนิยมวิทยาของไทย (รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย) ต้องทำการตรวจสภาวะอากาศตามช่วงเวลาต่าง ๆ เสร็จแล้วจึงส่งต่อข้อมูลไปยังผู้เชี่ยวชาญเพื่อแปลความหมายและวิเคราะห์ผล จากนั้นจึงออกประกาศเป็นคำพยากรณ์ให้พวกเราทราบกัน

NL;BG – Not Long, But Geek (กดเพื่ออ่าน)
ในแต่ละขั้นตอนของการได้มาซึ่งคำพยากรณ์ก็มีกระบวนการย่อย ๆ อีกมาก ในขั้นการตรวจสภาวะอากาศ จะทำการตรวจสารประกอบอุตุนิยม (meteorological element) ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ลม เมฆ ลักษณะอากาศ หยาดน้ำฟ้า และทัศนวิสัย รวมทั้งการตรวจอากาศชั้นบน ซึ่งตรวจวัดข้อมูลในระดับความสูงต่าง ๆ ซึ่งอุปกรณ์การตรวจสภาวะอากาศที่กรมอุตุฯใช้ ประกอบด้วย สถานีตรวจอากาศผิวพื้น โดยตั้งกระจายห่างกันทั่วประเทศ ระยะห่างของแต่ละสถานีไม่เกิน 150 กิโลเมตร ส่วนสถานีตรวจอากาศชั้นบนก็จะตั้งห่างกันไม่เกิน 300 กิโลเมตร (ปัจจุบันกรมอุตุฯมีสถานีฐานอยู่จำนวน 120 สถานี) สำหรับการตรวจสภาวะอากาศในมหาสมุทรก็จะใช้เรือพาณิชย์ช่วยเก็บข้อมูลให้ สำหรับบนท้องฟ้าก็จะใช้เครื่องบินพาณิชย์ที่บินโฉบไปมาบนน่านฟ้านี่แหละเก็บข้อมูลให้ ส่วนในพื้นที่ที่ห่างไกลก็จะใช้ดาวเทียมตรวจอากาศเก็บข้อมูล เป็นต้น

แผนที่ลมชั้นบนระดับ 850 hPa บริเวณทวีปเอเชีย วันที่ 12 สิงหาคม 2561 เวลา 19.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยกรมอุตุนิยมวิทยา

สำหรับช่วงเวลาที่ทำการเก็บข้อมูลมีข้อกำหนดขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) กำหนดให้ทำการตรวจพร้อมกัน (ทั้งโลก) ทุก ๆ 3 ชั่วโมงตามเวลามาตรฐานกรีนิช (GMT) ซึ่งตรงกับเวลาในบ้านเราคือ เวลา 07.00 / 10.00 / 13.00 / 16.00 / 19.00 / 22.00 / 01.00 / 04.00 น. ส่วนการตรวจสภาวะอากาศชั้นบนจะตรวจทุก 6 ชั่วโมง ตรงกับเวลาในบ้านเราคือ 07.00 / 13.00 / 19.00 / 01.00 น. จากนั้นจึงส่งข้อมูลที่เก็บได้ไปยังศูนย์พยากรณ์อากาศให้เร็วที่สุด แล้วจึงบันทึกข้อมูลทั้งหมดลงในแผนที่ทางอุตุนิยมวิทยา ลากเส้นสายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ดังที่ได้อธิบายก่อนหน้านี้

เมื่อได้แผนที่อากาศ ณ เวลาปัจจุบันแล้ว นักอุตุนิยมวิทยาจะคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของอากาศ โดยใช้หลักการทางฟิสิกส์และสถิติ เรียกว่า การพยากรณ์เชิงวัตถุวิสัย (objective forecast) ร่วมกับทักษะและประสบการณ์อันยาวนานของผู้พยากรณ์ เรียกว่า การพยากรณ์เชิงจิตวิสัย (subjective forecast) จากนั้นจึงออกคำพยากรณ์ของแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงเวลา แล้วส่งไปยังหน่วยงานเผยแพร่และสื่อมวลชนต่อไป

พูดอย่างติดตลกก็คือพยากรณ์อากาศนั้นใช้
หลักการ  ผสมกับ หลักกู นั่นเอง

มาสู่คำถามสำคัญ ทำไมยังไม่แม่น?

หลาย ๆ คนคงเคยเปรียบเทียบระบบทำนายสภาพอากาศของต่างประเทศว่าแม่นยำ และครหาการทำนายสภาพอากาศของประเทศไทย อันที่จริงก็ต้องยอมรับว่า การพยากรณ์อากาศของประเทศใหญ่ ๆ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในละติจูดสูง ๆ นั้นแม่นกว่าประเทศไทยจริง ๆ เหตุผลก็เพราะว่าประเทศแถบนั้นอยู่ในระบบลมฟ้าอากาศระบบใหญ่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของมวลอากาศก็สามารถตรวจพบและทำนายได้ง่าย อีกทั้งความทัดเทียมของงานวิจัยรวมทั้งอุปกรณ์ตรวจจับสภาวะอากาศนั้นก็มีมากกว่าเรามาก ในขณะที่บ้านเราซึ่งเป็นประเทศเขตร้อน การเปลี่ยนแปลงของมวลอากาศเกิดขึ้นในพื้นที่เล็ก ๆ แคบ ๆ มีตัวแปรเพิ่มเติมนอกจากการเคลื่อนที่ของมวลอากาศอีกหลายอย่าง ทั้งทิศทางลม ความชื้นจากทะเล รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ จึงเป็นไปได้ยากที่จะพยากรณ์ได้ชัดเจนแม่นยำว่าฝนจะตกที่ใด เวลาไหน (ให้คุกกี้ทำนายก็ไม่แม่น) อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยมีอุปกรณ์และเครื่องมือรายงานสภาพอากาศที่ทันสมัยมากพอที่จะสามารถทำนายสภาพอากาศได้แม่นยำถึง 80% และจะพัฒนาให้สามารถลงรายละเอียดการคาดการณ์สภาวะอากาศให้แม่นยำถึงระดับอำเภอทั่วทั้งประเทศภายในปีสองปีนี้

ติดตามสภาพอากาศไทยจากที่ไหนได้บ้าง?

เราคงคุ้นชินการฟังพยากรณ์อากาศตามช่วงข่าวในโทรทัศน์ วิทยุ หรือในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนมากจะมีระยะการพยากรณ์ประมาณ 6-24 ชั่วโมงข้างหน้า ทำให้ประชาชนอย่างเรา ๆ คาดเดาหรือเตรียมรับมือกับสภาพอากาศได้ไม่แน่นอนนัก ที่จริงแล้วเราสามารถติดตามรายงานสภาพอากาศได้จากหลากหลายช่องทาง ซึ่งให้ข้อมูลสภาพอากาศ ณ ปัจจุบัน (realtime) (หรืออย่างน้อยก็ระดับ 1-3 ชั่วโมง) โดยสามารถเช็คสภาพอากาศได้จากแหล่งข้อมูลต่อไปนี้ได้เลย

  • พยากรณ์อากาศประจำวัน โดยกรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/daily_forecast.php หรือสายด่วน 1182
  • เรดาร์ตรวจอากาศ (ดูปริมาณกลุ่มฝนตามพื้นที่ เลือกดูเรดาร์ตำแหน่งต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศ) http://weather.tmd.go.th
  • ทวิตเตอร์รายงานสภาพอากาศและเฝ้าระวังน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล https://twitter.com/BKK_BEST

ยามเช้าของกรุงเทพมหานคร

แม้ว่าเรื่องฝนฟ้าอากาศจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเหล่านี้ ย่อมสร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แหล่งที่มาอ้างอิง
  • ดุษฎี ศุขวัฒน์, ดร. การพยากรณ์อากาศ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=1.
    เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2561.
  • บัญชา ธนบุญสมบัติ, ดร. (2548). ลมฟ้าอากาศ. กรุงเทพฯ : สารคดี.
  • อุตุนิยมวิทยา, กรม. (2532). อากาศวิทยา. [วารสาร]. ปีที่ 28 เล่ม 1. กรุงเทพฯ : สโมสรกรมอุตุนิยมวิทยา.

5/5 (1 Review)

ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ ผู้หลงใหลความลับแห่งจักรวาล

error: