TOP

ย้อนรอยสึนามิอันดามัน โศกนาฏกรรมน้ำทะเลกลืนชีวิต

เช้าวันอาทิตย์หลังคืนวันคริสต์มาส หากจะหาสถานที่สำหรับพักผ่อนช่วงวันหยุดยาวปลายปี “ทะเลอันดามัน” ก็ดูจะเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับการได้ไปสัมผัส ชายหาดชื่อดังที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ มองออกไปก็มีเพียงท้องทะเลสงบนิ่ง กับท้องฟ้าอันแจ่มใส แต่ใครจะรู้ว่า อีกไม่กี่อึดใจต่อจากนี้ วินาทีสุดท้ายของชีวิตกำลังเคลื่อนตัวมาหาพวกเขา

ความทรงจำ ในวันทะเลพิโรธ

ภู (ภูธเนศ ศรีรัฐ) รุ่นน้องของผู้เขียนที่มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ประสบภัยในเหตุการณ์ครั้งเลวร้าย ได้เล่าภาพเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ด้วยสายตาของเขา ซึ่งมันยังชัดเจนจนถึงทุกวันนี้… บ้านของน้องภูอยู่ที่ บ้านเขาปิหลาย ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ตอนนั้นเขายังเรียนอยู่เพียงชั้น ป.1 ภูเล่าว่า บ้านของเขาอยู่ห่างเข้ามาจากทะเลเพียง 800 เมตร เช้าวันนั้นพี่ชายของเขาออกไปซื้อของซึ่งต้องผ่านชายหาด ก่อนจะรีบกลับมาตามให้คุณพ่อไปดูที่ทะเล เพราะเห็นว่าน้ำลดลงเยอะจนน่าแปลกใจ คุณพ่อของภูจึงพาตัวเขาและพี่ชายไปที่ริมหาด ภูเล่าว่า ตอนที่เขาไปถึง น้ำเอ่อขึ้นจนถึงเขตแผ่นดินแล้ว ตัวเขาอยู่บนถนนซึ่งห่างจากขอบคลื่นเพียง 100 เมตร มองเห็นหลายคนที่วิ่งไม่ทันเกาะอยู่ตรงศาลาหน้าทะเล กำแพงกั้นเขตทะเลพังทลาย บางคนก็ฝ่ากระแสน้ำไปเรือของตัวเอง คุณพ่อเห็นท่าไม่ดี กลัวว่าน้ำจะขึ้นสูงมากกว่านี้จึงรีบพากันกลับบ้าน

ยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งข่าวออกโทรทัศน์… บางคนก็บอกว่าเป็น ‘วันสิ้นโลก’ อะไรอย่างนี้

นับเป็นโชคดีที่พื้นที่หมู่บ้านของภูนั้นลาดชันขึ้นไปจากชายหาด พื้นที่หมู่บ้านของเขาจึงได้รับผลกระทบไม่มากนัก และไม่มีใครได้รับอันตราย ภูเล่าเสริมว่า ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเรียกชื่อเหตุการณ์ว่าอะไร ได้แต่คอยฟังข่าวจากโทรทัศน์ ญาติพี่น้องก็ติดต่อกันลำบากเพราะสัญญาณโทรศัพท์ก็ล่ม “มันเป็นวันที่ตกใจที่สุดในชีวิต” หลังจากนั้นคุณพ่อของภูได้พาเขาไปพื้นที่ชายทะเลเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สองข้างถนนนั้นเต็มไปด้วยผ้าขาวห่อศพ ตึกรามบ้านช่องละแวกนั้นก็ราบเป็นหน้ากลองแทบทั้งสิ้น

[1] ภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบชายทะเลเขาหลัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา (ซ้าย) ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2546 (ขวา) ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2547 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ 3 วัน

[1] ภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบชายทะเลเขาหลัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา (ซ้าย) ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2546 (ขวา) ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2547 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ 3 วัน

จุดเริ่มต้นแห่งโศกนาฏกรรม

เมื่อเวลา 07:58 น. (เวลาในประเทศไทย) ของวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 เกิดแผ่นดินไหวขนาดโมเมนต์แมกนิจูด (Mw) 9.2 มีจุดศูนย์กลางอยู่ใต้มหาสมุทรอินเดียลึกลงไปประมาณ 30 กิโลเมตร จุดเหนือศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย (แสดงด้วยรูป ☆) ทำให้เกิดการยุบและยกตัวของมวลน้ำในมหาสมุทร และเกิดคลื่นสูงโถมเข้าถล่มชายฝั่งของประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย มัลดีฟส์ โซมาเลีย เมียนมาร์ มาเลเซีย แทนซาเนีย แอฟริกาใต้ บังคลาเทศ เยเมน เคนยา มาดากัสการ์ หมู่เกาะเซเชลส์ รวมทั้งประเทศไทย ประมาณกันว่าขนาดของคลื่นที่ยกตัวสูงเมื่อเข้าสู่ชายฝั่ง มีขนาดสูงกว่า 30 เมตร หรือเทียบเท่ากับตึก 10 ชั้น

[2] ตำแหน่งเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547

[2] ตำแหน่งเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547

ปีศาจใต้มหาสมุทร

แผ่นดินไหวครั้งนี้ เรียกว่าเป็นแผ่นดินไหวเมกะทรัสต์ (megathrust earthquake) ซึ่งจะเกิดขึ้นในเขตมุดตัวของเปลือกโลก เมื่อแผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่ง มุดตัวเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง เกิดเป็นรอยเลื่อนย้อนมุมต่ำ (thrust) ซึ่งในระหว่างการแตกออก ด้านหนึ่งของรอยเลื่อนจะถูกดันขึ้นไปเมื่อเทียบกับอีกด้านหนึ่ง โดยแผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดขึ้นจากแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย (Indo-Australian Plate)) ขยับตัวไปทางทิศตะวันออก และมุดลงใต้แผ่นเปลือกโลกพม่า (Burma Plate) (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกยูเรเชีย (Eurasian Plate)) ทำให้เกิดรอยเลื่อน (fault) ขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า รอยเลื่อนซุนดา (Sunda megathrust) ซึ่งมีความยาวกว่า 5,500 กิโลเมตร ซึ่งในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 รอยเลื่อนนี้ได้เลื่อนตัวแตกออกความยาวกว่า 1,300 กิโลเมตร บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา เกิดเป็นแผ่นดินไหวเมกะทรัสต์ที่มีขนาดโมเมนต์แมกนิจูดถึง 9.2 และเกิดเป็นคลื่นขนาดยักษ์พัดถล่มเข้าชายฝั่งอย่างรุนแรง

[3] รอยเลื่อนซุนดา (Sunda megathrust)

[3] รอยเลื่อนซุนดา (Sunda megathrust)

ทะเลพิโรธ… คลื่นนรก

แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 นั้น เกิดขึ้นใต้มหาสมุทรอินเดีย โดยมีจุดเหนือศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวห่างจากเกาะ Simeulue (ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสุมาตรา) ไปทางทิศเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนในครั้งนั้น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ (Tsunami) จากการประพฤติตัวของแผ่นเปลือกโลกในหัวข้อก่อนหน้านี้ เมื่อรอยเลื่อนย้อน (thrust) เกิดขึ้นใต้มหาสมุทร จะทำให้เกิดการยุบตัวอย่างฉับพลันของแผ่นเปลือกโลก รวมทั้งมวลน้ำเหนือจุดนั้นก็จะยุบตัวลงตามอย่างกะทันหัน (น้ำทะเลที่ชายฝั่งจะลดลงอย่างผิดสังเกต ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนสุดท้าย) ก่อนที่มวลน้ำรอบข้างจะพยายามปรับสมดุลและเคลื่อนเข้ามาแทนที่ จนปะทะกันและยกตัวสูงขึ้นเป็นสันคลื่น แผ่กระจายไปรอบทิศทาง (คล้ายกับคลื่นที่เกิดตอนเราปาก้อนหินลงน้ำ) ในขณะนี้ คลื่นจะมีพลังงานสะสมไว้จำนวนมาก ซึ่งพลังงานนี้จะไม่สูญเสียระหว่างเดินทาง คลื่นสึนามิมีพฤติกรรมเป็นคลื่นน้ำตื้น สามารถหาความเร็วของคลื่น ได้จากรากที่สองของผลคูณระหว่างความเร่งจากสนามแรงโน้มถ่วง (9.8 เมตร/วินาทีกำลังสอง) กับความลึกของระดับน้ำ (หน่วยเป็นเมตร) ซึ่งที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวกลางทะเล คลื่นจะมีฐานกว้างมากกว่า 100 กิโลเมตร แต่อาจมีความสูงเพียง 1 เมตร และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง จนเมื่อมันเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งที่ระดับความลึกค่อย ๆ น้อยลง ความเร็วของคลื่นก็จะลดลง คลื่นจะอัดตัวและเสริมพลังกันจนยกตัวขึ้นสูงหลายสิบเท่า อาจสูงได้ถึง 10 – 30 เมตร ซึ่งกำแพงคลื่นขนาดยักษ์และพลังงานสะสมของมัน สามารถซัดเข้าถล่มชายฝั่ง กินพื้นที่เข้าไปในแผ่นดินได้ไกลเป็นกิโลเมตร พร้อมกับสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมหาศาล

[4] ภาพจำลองการเกิดคลื่นสึนามิ

[4] ภาพจำลองการเกิดคลื่นสึนามิ

สำหรับประเทศไทย เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิครั้งนั้น สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ผู้เสียชีวิตและสูญหายเฉพาะในประเทศไทยมีมากกว่า 8,200 คน มูลค่าความเสียหายต่อทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทะเลอันดามันยังเสียหายและต้องฟื้นฟูใหม่นับปี ซึ่งจุดที่พบนักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด คือ ชายทะเลเขาหลัก ในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

เหตุการณ์ในครั้งนั้น สร้างความเสียหายต่อ 14 ประเทศ 1 หมู่เกาะ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกันมากกว่า 230,000 คน ประชาชนกว่า 1.69 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ :

ภูธเนศ ศรีรัฐ (ภู)
นิสิตภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2559)

แหล่งที่มาอ้างอิง
  • 2004 Indian Ocean earthquake and tsunami. In Wikipedia. Retrieved December 25, 2016, from https://en.wikipedia.org/wiki/2004_Indian_Ocean_earthquake_and_tsunami
  • คลื่นสึนามิ. ใน ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA). สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2559, จาก http://www.lesa.biz/earth/lithosphere/geological-phenomenon/tsunami
  • โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.
    การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗. ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ  เล่มที่ ๓๐. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2559, จาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=30&chap=8&page=t30-8-infodetail05.html

ที่มาภาพประกอบ:
[1] http://www.dlr.de/next/Portaldata/69/Resources/images/2_raumfahrt/2_2_blick-auf-erde/2_2_8_tsunami-system/Grafik_0-Tsunami-609×450.jpg
[2] http://www.indiana.edu/~pepp/earthquakes/images/sumatra12_26_04/sumatra_tectonics_region.jpg
[3] https://en.wikipedia.org/wiki/File:Plate_setting_Sunda_megathrust.png
[4] ดัดแปลงจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tsunami_comic_book_style.png

0/5 (0 Reviews)

ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ ผู้หลงใหลความลับแห่งจักรวาล

error: