TOP

NASA ประกาศ 5 ทีมที่ชนะการออกแบบโมเดลบ้านพิมพ์ 3 มิติ เพื่ออยู่อาศัยบนดาวเคราะห์ดวงอื่น

NASA ร่วมกับมหาวิทยาลัย Bradley รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศ 5 ทีมที่ชนะการแข่งขันการออกแบบบ้านพิมพ์ 3 มิติ และแบ่งเงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐกันไปตามคะแนนที่ได้รับ ซึ่งทีมที่ชนะได้นำเสนอแบบที่อยู่อาศัยโดยเผยให้เห็นถึงรูปลักษณ์และลักษณะการใช้งานของบ้านบนดาวอังคาร

ทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 18 ทีมจากทั่วโลก จะถูกสัมภาษณ์และประเมินจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านจาก NASA, นักวิชาการ และนักอุตสาหกรรม จนสุดท้ายเหลือเพียง 5 ทีมที่ชนะ ได้แก่

  1. ทีม Zopherus จากรัฐอาร์คันซอ ได้รับเงินรางวัลไป 20,957.95 ดอลลาร์สหรัฐ
  2. ทีม AI. SpaceFactory จากรัฐนิวยอร์ก ได้รับเงินรางวัลไป 20,957.24 ดอลลาร์สหรัฐ
  3. ทีม Kahn-Yates จากรัฐมิสซิสซิปปี ได้รับเงินรางวัลไป 20,622.74 ดอลลาร์สหรัฐ
  4. ทีม SEArch+/Apis Cor จากรัฐนิวยอร์ก ได้รับเงินรางวัลไป 19,580.97 ดอลลาร์สหรัฐ
  5. มหาวิทยาลัย Northwestern รัฐอิลลินอยส์ ได้รับเงินรางวัลไป 17,881.10 ดอลลาร์สหรัฐ

การแข่งขันออกแบบที่อยู่อาศัยใช้บนดาวเคราะห์ดวงอื่น

การแข่งขันออกแบบที่อยู่อาศัยจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีจุดประสงค์เพื่อที่มนุษย์จะได้มีที่อยู่อาศัยบนดาวเคราะห์ดวงอื่นอย่างยั่งยืน เมื่อถึงวันหนึ่งที่มนุษย์เข้าไปยึดครอง ไม่ว่าจะเป็นดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือดาวเคราะห์ดวงอื่น โดยการกระตุ้นให้นักคิดนักประดิษฐ์ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับการสร้างที่อยู่อาศัยโดยใช้ทรัพยากรดั้งเดิมบนดาวดวงนั้นๆ

การแข่งขันนี้ ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2014 โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส ได้แก่

  • เฟสที่ 1 การแข่งขันการออกแบบ มีเงินรางวัลให้ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ จบในปี 2015 โดยการให้แต่ละทีมส่งแบบภาพสถาปัตยกรรมที่ถูกเรนเดอร์ขึ้นมา
  • เฟสที่ 2 การแข่งขันด้านโครงสร้าง มีเงินรางวัลให้ 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จบในปี 2017 โดยจะเน้นเรื่องเทคโนโลยีวัสดุ ที่แต่ละทีมต้องสร้างโครงสร้างประกอบเหล่านั้นขึ้นมาจริงๆ
  • เฟสที่ 3 การแข่งขันการสร้างใช้ขึ้นจริง ซึ่งเป็นเฟสปัจจุบัน มีเงินรางวัลให้ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้เข้าแข่งขันในแต่ละทีมต้องสร้างที่อยู่อาศัยเหล่านั้นขึ้นมา ประกอบไปด้วยการแข่งขัน 5 ระดับย่อย แบ่งออกเป็น การก่อสร้างจริง 3 ระดับ และ 2 ระดับเป็นการสร้างโมเดลเสมือนจริง โดยการก่อสร้างจริงนั้นเครื่องพิมพ์ 3 มิติต้องสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติโดยมีสเกลเป็น 1 ใน 3 จากของจริง

โมเดลบ้านพิมพ์ 3 มิติของผู้ชนะทั้ง 5 ทีม

ขณะนี้การแข่งขันอยู่ในช่วงเฟส 3 การแข่งขันย่อยระดับ 1 การสร้างโมเดลเสมือนจริง

1.ทีม Zopherus จากรัฐอาร์คันซอ

เสนอไอเดียสร้างที่อยู่อาศัยโดยใช้ “คอนกรีตดาวอังคาร” (Martian concrete) ผสมขึ้นมาจากวัสดุบนดาวอังคาร ได้แก่ น้ำแข็ง แคลเซียมออกไซด์ และหินบนดาวอังคาร ในโมเดลที่ทีมนี้นำเสนอตัวบ้านจะเป็นทรงหกเหลี่ยมสร้างจากคอนกรีตดาวอังคาร มีหลังคาโดม ทั้งหมดเพื่อป้องกันมนุษย์จากสภาพแวดล้อมสุดขั้ว และเมื่อเครื่องพิมพ์ 3 มิติพิมพ์ตัวบ้านหลังหนึ่งเสร็จแล้ว จะสามารถเคลื่อนย้ายไปสร้างยังพื้นที่ต่อไปได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีโดมเหล็ก ใช้ในการเก็บเครื่องพิมพ์ และหน้าต่าง ประตู ระบบ Airlock ซึ่งเป็นการก่อสร้างส่วนสุดท้ายจะถูกส่งมาจากโลกแยกต่างหาก

ดูคลิปอธิบายโมเดลของทีม Zopherus ได้ที่นี่

2.ทีม AI. SpaceFactory จากรัฐนิวยอร์ก

ทีมนี้ใช้ความพยายามในการออกแบบที่อยู่อาศัยให้คล้ายที่อยู่อาศัยบนโลกมากที่สุด เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและดูมีชีวิตชีวา ในชื่อ Marsha ที่ถึงแม้จะมีรูปลักษณ์แปลกตา แต่ยังดูสวยงาม มาในรูปทรงกระบอกเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยและรักษาความดันภายใน และภายในจะมีหลายชั้นเพื่อแยกผู้อยู่อาศัย สามรถมีกิจกรรมในพื้นที่ส่วนตัวภายในกลุ่มหรือแต่ละคน

ตัวผนังแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกสุดสร้างขึ้นจากเทอร์โมพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเสริมความแข็งแกร่งด้วยการผสมเส้นไยหินในบริเวณพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่สามารถขยายตัวได้เพื่อรองรับอุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป

ดูคลิปอธิบายโมเดลของทีม AI. SpaceFactory ได้ที่นี่

3.ทีม Kahn-Yates จากรัฐมิสซิสซิปปี

ทีมนี้ใช้โครงสร้างแกนหลักที่สร้างขึ้นมาสำเร็จรูปแล้ว และจะขยายตัวออกมาเมื่อลงจอดบนผิวของดาวอังคาร จากนั้นตัวแกนหลักจะมีแขนยักษ์ที่ใช้ในการพิมพ์ฐานและผนังของตัวบ้านซึ่งเป็นรูปไข่

ผนังด้านนอกออกแบบมาเพื่อรับแสงอาทิตย์ให้ส่องถึงด้านใน และรูที่อยู่ระหว่างผนังด้านนอกและแกนหลักจะเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกสวนเพื่อใช้ในการกรองอากาศด้านใน

ดูคลิปอธิบายโมเดลของทีม Kahn-Yates ได้ที่นี่

4.ทีม SEArch+/Apis Cor จากรัฐนิวยอร์ก

โมเดลที่อยู่อาศัยนี้ออกแบบมาเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันรังสีจากภายนอกแต่ยังมีช่องรับแสงแดดเข้าสู่ด้านใน โดยทีมนี้เป็นความร่วมมือกับบริษัทก่อสร้างซึ่งได้พิมพ์บ้าน 3 มิติมาแล้วด้วยการใช้คอนกรีตชนิดพิเศษ ผิวนอกจะถูกพิมพ์ 3 มิติขึ้นมาจากหินหยาบและเกาะกันอย่างหลวมๆ

ผู้อยู่อาศัยจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถพองตัวออกมาบนผิวของดาวอังคารได้ก่อนที่ผู้อยู่อาศัยจะมาถึง

ดูคลิปอธิบายโมเดลของทีม SEArch+/Apis Cor ได้ที่นี่

5.มหาวิทยาลัย Northwestern รัฐอิลลินอยส์

คล้ายๆ กับทีมที่ผ่านมา โดยทีมนี้ได้ออกแบบที่อยู่อาศัยซึ่งสามารถพองตัวด้วยความดัน ผนังภายนอกจะถูกพิมพ์ออกมาจากหินชนิดละเอียดโดยรอบ

แบบที่อยู่อาศัยนี้จะรวมห้องที่ต้องเปียกน้ำ เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องทดลอง เพื่อรวมระบบประปาและเครื่องยนต์กลไกไปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

ดูคลิปอธิบายโมเดลของทีมมหาวิทยาลัย Northwestern ได้ที่นี่

ที่มา: NASA, Futurism

0/5 (0 Reviews)

ผู้ร่วมก่อตั้งชมรม SCIREN ชอบการทำสื่อและการตลาด ชอบวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ

error: