กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก James Webb Space Telescope สร้างเสร็จแล้ว
NASA ประกาศแล้ว กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope สร้างเสร็จ หลังใช้เวลามากกว่า 20 ปี โดยจะเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประสิทธิภาพมากกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถึง 100 เท่า และมีกำหนดการปล่อยออกสู่อวกาศในปี 2018
James Webb Space Telescope สร้างเสร็จแล้ว
คุณ Charles Bolden ผู้บริหารของ NASA ได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นที่ Goddard Space Flight Center ณ รัฐแมริแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope สร้างเสร็จแล้ว โดยมันมีประมาณสนามเทนนิส ประกอบด้วยกระจกเคลือบทองทำหน้าที่ในการสะท้อนแสงอินฟราเรดถึง 18 บาน ถือเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ในตอนนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb กำลังเข้าสู่การทดสอบเพื่อเตรียมการปล่อยออกสู่อวกาศ เช่น ทดสอบความสามารถในการทนต่อแรงสั่นสะเทือนและทนต่อเสียงเครื่องยนต์ที่จะเกิดขึ้นภายในจรวดขนส่ง โดยมีกำหนดการจะปล่อยออกสู่อวกาศในเดือนตุลาคมปี 2018 พร้อมกับจรวด Ariane 5
มันจะเดินทางออกไปห่างจากโลกประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร ในที่ซึ่งอุณภูมิต่ำถึงกว่า -230 องศาเซลเซียส จะทำหน้าที่ในการรับแสงอินฟราเรด ซึ่งมีความสามารถในการมองเห็นกาแลกซี่ที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ Big Bang มากกว่า 1.35 หมื่นล้านปีก่อน และมีภารกิจในการสำรวจอวกาศดังนี้
- ค้นหาแสงที่ส่องมาจากวัตถุในอากาศ เช่น ดวงดาวและกาแล็กซีอายุน้อย
- เพื่อทำการศึกษาการกำเนิดและวิวัฒนาการของกาแล็กซี
- เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกำเนิดดาวฤกษ์และระบบดาวเคราะห์
- เพื่อศึกษาระบบของดาวเคราะห์และปัจจัยการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์
มองย้อนเวลากลับไปด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope เป็นความร่วมมือจากนานาชาติทั้งองค์การอวกาศ NASA องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศแคนาดา จะทำหน้าที่ต่อจากกล้องกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ บวกกับเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจกที่มีขนาดใหญ่ถึง 6.5 เมตร ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นวัตถุในอวกาศไปได้ไกลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้จะมีแสงเพียงน้อยนิดก็ตาม
กระจกทั้ง 18 บานของ James Webb เป็นหัวใจสำคัญ กระจกแต่ละบานเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.3 เมตร ทำขึ้นจากแบริลเลียมซึ่งผ่านกระบวนการขัดจนมีความเรียบสูงมาก (มีความขรุขระของผิวกระจกเฉลี่ยที่ 20 นาโนเมตร) มีน้ำหนักเบา นอกจากนั้นกระจกแต่ละบานยังเคลือบด้วยทองคำ ซึ่งเป็นโลหะหนักที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดได้ดี ใช้เทคนิคการเคลือบในสุญญากาศ และให้ความร้อนแก่ทองคำจนทองคำยึดติดกับผิวของกระจก จึงมีความบางกว่าเส้นผมของมนุษย์เป็น 1,000 เท่า
เบื้องหลังการเคลือบทอง
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope นี้ไวต่อการรับคลื่นในช่วงอินฟราเรดมาก อาจเกิดความร้อนสูง จึงต้องมีการออกแบบให้ป้องกันแสงจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โดยการวางแผ่นป้องกันแสงจากดวงอาทิตย์ถึง 5 ชั้นไว้รอบกระจก เทียบเท่ากับการทา sunblock ที่ SPF 1 ล้าน ด้วยการป้องกันระดับนี้ยังช่วยลดอุณหภูมิของอุปกรณ์ต่างๆ บนตัวกล้องได้ด้วย
เทคโนโลยีอื่นๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการสร้างหรือปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ยังมีอีกมาก เช่น ห้องควบคุมความสะอาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ควบคุมฝุ่นละออง ความชื้น ความดัน และอุณหภูมิ เทคโนโลยีในการผลิตเช่น เครื่องจักรที่มีความละเอียดสูง รวมไปถึงกล้องถ่ายภาพที่เก็บข้อมมูลในช่วงความยาวคลื่นอินฟาเรด ระบบการส่งข้อมูลกลับมายังฐานปฏิบัติการภาคพื้น เป็นต้น
ทำไม James Webb Space Telescope ต้องไวต่อคลื่นอินฟาเรด
วัตถุในอากาศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope นั้นเป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีอุณหภูมิต่ำ ถูกบดบังโดยฝุ่นแก๊สหนาทึบในอวกาศที่อยู่ไกลมาก การที่กล้องนี้ไวต่อคลื่นอินฟราเรดในช่วง 0.5 ไปจนถึง 28 ไมโครเมตรจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าช่วงแสงที่ตามนุษย์มองเห็น ที่สำคัญรังสีอินฟาเรดจะไม่เบี่ยงเบนในสนามแม่เหล็ก สามารถเดินทางทะลุกลุ่มฝุ่นแก็สในอวกาศได้ดีกว่า นอกจากนี้กล้องถ่ายภาพอินฟาเรดกลางจะทำงานร่วมกับสเปกโตรมิเตอร์ซึ่งจะทำหน้าที่ถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าแล้วทำการวิเคราะห์ธาตุและโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบบริเวณผิวของวัตถุท้องฟ้านั้นๆ ด้วยวิธีการวิเคราะห์เส้นสเปกตรัมที่ได้จากการถ่ายภาพอีกด้วย
อ้างอิง: Space.com, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, NASA: James Webb Space Telescope