IUPAC ประกาศชื่อ ธาตุใหม่ 4 ธาตุ ได้แก่ Nihonium (Nh), Moscovium (Mc), Tenessine (Ts) และ Oganesson (Og) ชื่อเหล่านี้ถูกเสนอให้เป็นชื่อสำหรับธาตุใหม่หมายเลข 113 115 117 และ 118 ตามลำดับ ธาตุ 4 ชนิดนี้เป็นธาตุหนัก ยิ่งยวด (superheavy element) ที่ไม่สามารถพบได้ตามธรรมชาติบนโลก ทั้งหมดเป็นธาตุที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ
ชื่อของ 4 ธาตุใหม่
IUPAC หรือ International Union of Pure and Applied Chemistry ซึ่งเป็นองค์กรทางเคมีในระดับนานาชาติ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อธาตุ ธาตุที่ค้นพบใหม่จะสามารถตั้งชื่อตามชื่อของตัวละครในตำนาน เช่น ตำนานกรีก ตั้งตามชื่อของแร่ ชื่อสถานที่ สมบัติของธาตุ หรือจากชื่อนักวิทยาศาสตร์
ธาตุหมายเลข 113 ค้นพบในประเทศญี่ปุ่น จึงได้ชื่อว่า Nihonium เพื่อสื่อความหมายถึงประเทศที่ค้นพบ ธาตุ 113 ยังเป็นธาตุชนิดแรกที่ค้นพบในประเทศทางเอเชียอีกด้วย
ธาตุหมายเลข 115 ได้รับชื่อว่า Moscovium ตามชื่อของเมืองมอสโควในประเทศรัสเซีย และธาตุ 117 ได้ชื่อว่า Tennessine ตามชื่อของรัฐ Tennessee ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของศูนย์วิจัยต่างๆ ที่ค้นพบธาตุเหล่านี้
ส่วนชื่อ Oganesson สำหรับธาตุ 118 มาจากชื่อของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย Yuri Oganessian ผู้บุกเบิกการสังเคราะห์ธาตุหนักต่างๆ
โดยทั่วไปคำลงท้ายเสียงของชื่อธาตุจะเป็น -ium แต่ Tennesine และ Oganesson มีคำลงท้ายเสียง -ine และ -on ก็เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อธาตุอื่นๆ ในหมู่เดียวกัน (หมู่ 7A และ 8A ตามลำดับ)
ทั้งนี้ IUPAC จะสำรวจเป็นระยะเวลา 5 เดือนหลังจากนี้ คือ จนถึงเดือนพฤศจิกายน จากนั้นจะมีการประกาศยืนยันชื่อของธาตุอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
[spoiler title=”ธาตุใหม่สังเคราะห์ขึ้นได้อย่างไร”]ธาตุใหม่สังเคราะห์ขึ้นได้อย่างไร
ชนิดของธาตุจะถูกกำหนดโดยจำนวนของโปรตอนที่อยู่ในนิวเคลียสของอะตอม นิวเคลียสที่มีจำนวนโปรตอนเท่ากันก็จะจัดเป็นธาตุชนิดเดียวกัน เช่น ธาตุไฮโดรเจนมี 1 โปรตอน ธาตุฮีเลียมมี 2 โปรตอน เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์ใช้คำว่าเลขอะตอม (atomic number) เพื่อใช้บอกถึงจำนวนโปรตอนของธาตุนั้น
นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ธาตุหนักที่ไม่สามารถพบตามธรรมชาติโดยให้อะตอมที่มีขนาดเล็ก 2 อะตอมมาชนกัน และให้อะตอมเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นนิวเคลียสที่มีจำนวนโปรตอนเพิ่มขึ้น กลายเป็นธาตุใหม่ โดยต้องใช้ภาวะพลังงานสูง และเครื่องมือตรวจวัดที่มีความละเอียดมาก[/spoiler]
ตารางธาตุคาบที่ 7 ยังอาจไม่สิ้นสุด
แม้อาจดูเหมือนว่าตารางจะเป็นเพียงการเรียงลำดับของธาตุตามเลขอะตอม แต่ว่าแท้จริงแล้วตารางธาตุมีความสำคัญมากกว่านั้น เนื่องจากตารางธาตุสามารถแสดงแนวโน้มของสมบัติของธาตุได้ นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ตารางนี้ช่วยทำนายสมบัติของธาตุได้โดยอาศัยตำแหน่งในตาราง
การประกาศชื่อธาตุ 4 ธาตุใหม่นี้ ทำให้ตารางธาตุจะมีธาตุครบตั้งแต่เลขอะตอม 1 ไปจนถึงเลขอะตอม 118 ซึ่งทำให้ตารางธาตุคาบที่ 7 เต็มพอดี แม้ว่าธาตุหนักยิ่งยวดที่สังเคราะห์ขึ้นนี้ไม่เสถียร และจะสลายตัวภายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที แต่การสังเคราะห์ธาตุชนิดใหม่ๆนั้นมีความสำคัญในทางทฤษฎี มีทฤษฎีทางฟิสิกส์กล่าวถึง เกาะแห่งเสถียรภาพ (island of stability) โดยทำนายว่าจะมีธาตุหนักยิ่งยวดในช่วงเลขอะตอม 120-126 ที่เสถียรมากกว่าธาตุหนักยิ่งยวดอื่นๆ นักวิจัยได้พยายามสังเคราะห์ธาตุมวลมากเหล่านี้เพื่อทดสอบทฤษฎีนี้ ดังนั้นถ้าหากในอนาคตมีการค้นพบธาตุใหม่เพิ่มขึ้นอีก เช่น ธาตุ 119 ตารางธาตุก็สามารถจะขยายต่อไปเป็นคาบที่ 8 ได้
อ้างอิง : IUPAC, Vox, Chemistry World