รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2016: การค้นพบกระบวนการเขมือบตัวเองของเซลล์ (Autophagy)
วันที่ 3 ตุลาคม ปี 2016 ได้มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ขึ้น โดยปีนี้ตกเป็นของ คุณ Yoshinori Ohsumi นักชีววิทยาชาวญี่ปุ่น กับการค้นพบเรื่องกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญ เมื่อเซลล์ต้องการสารอาหาร การติดเชื้อ หรือซ่อมแซมออร์แกเนลที่เกิดความเสียหาย
Autophagy การกลืนกินตัวเองของเซลล์
แนวคิดเริ่มต้นในการศึกษาการเขมือบตัวเองของเซลล์ หรือ Autophagy นี้เกิดขึ้นในปี 1960 โดยมีนักวิจัยค้นพบว่าเซลล์สามารถย่อยส่วนต่างๆ ภายในเซลล์ได้ด้วยการสร้างเยื่อหุ้มขึ้นมาปิดล้อม และส่งไปยังส่วนรีไซเคิลหรือที่เรียกว่า “ไลโซโซม”
จนกระทั่งปี 1990 คุณ Yoshinori Ohsumi ได้เริ่มทำการศึกษากระบวนการนี้ทีละขั้นตอนจากยีสต์เพื่อหายีนส์ที่สำคัญในการเกิด Autophagy จนกระทั่งเขาพบว่า กลไกการกินตัวเองของเซลล์ในยีสต์นั้นมีความคล้ายกับกลไกที่เกิดขึ้นในร่างกายของมนุษย์
ถึงแม้ว่ากระบวนการกินตัวเองนี้จะถูกค้นพบมากว่า 50 ปีแล้ว แต่การเกิดองค์ความรู้พื้นฐานสำคัญของกระบวนการนี้ที่นำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติมก็ถูกศึกษาและค้นพบโดยคุณ Ohsumi นั่นเอง จึงทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปีนี้ไปครอง
การกินตัวเองของเซลล์นำเราไปสู่อะไร
การค้นพบของนี้เองทำให้เป็นหนทางไปสู่ความเข้าใจว่า เซลล์เกิดการรีไซเคิลตัวเองได้อย่างไร และเป็นการเปิดหนทางใหม่ไปสู่ความเข้าใจพื้นฐานสำคัญของกระบวนการ Autophagy ซึ่งจำเป็นต่อมนุษย์ในที่สุด เช่น การปรับตัวในภาวะขาดอาหาร หรือการตอบสนองต่อการติดเชื้อ และความผิดปกติของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับ Autophagy สามารถทำให้เกิดโรคบางชนิดได้
ในตอนนี้ก็มีงานวิจัยที่กำลังศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำไปผลิตยาที่สามารถออกคำสั่งไปยังเซลล์ที่เป็นตัวการของโรคต่างๆ ได้โดยตรง ต่อไป
ทำไม Autophagy ถึงสำคัญ
ต้องขอบคุณ คุณ Ohsumi และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่ศึกษาตามรอยของคุณ Ohsumi มา ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เรารู้ว่าการกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy) เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย เนื่องจากร่างกายของเราประกอบขึ้นจากเซลล์ และภายในเซลล์ก็มีองค์ประกอบมากมายแตกต่างกันออกไป ซึ่งองค์ประกอบภายในเซลล์เหล่านี้ เมื่อใช้งานมากๆ ก็จำเป็นต้องถูกทำลายหรือนำไปรีไซเคิลใหม่
กระบวนการกินตัวเองของเซลล์สามารถให้พลังงานหรือสร้างพื้นที่สำหรับใช้ในการซ่อมแซมหรือสร้างองค์ประกอบภายในเซลล์ใหม่ ดังนั้นการกินตัวเองนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตอบสนองของเซลล์เมื่อเกิดภาวะขาดอาหาร หรือ ภาวะที่เซลล์เกิดความเครียดอื่นๆ นอกจากนี้การกินตัวเองของเซลล์ยังสามารถใช้ในการกำจัดเซลล์ที่ถูกบุกรุกจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้ อีกทั้งยังสามารถซ่อมแซมหรือกำจัดออแกเนลล์ที่เสียหายได้อีกด้วย
ความผิดปกติของกระบวนการกินตัวเองนี้ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคพาร์กินสัน โรคเบาหวานประเภทที่ 2 หรือโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดเมื่อเรามีอายุมากขึ้น และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งหรือโรคทางประสาทอีกด้วย
อ้างอิง: Nobel Prize