TOP

ความเย็นจากลูกอมเมนทอส เย็นได้เพราะเซลล์ประสาทถูกหลอกให้รู้สึก

ในช่วงฤดูร้อนแบบนี้ สบู่เย็นหรือแป้งเย็นอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคลายร้อน หลายคนคงรู้ว่าในผลิตภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกเย็นสดชื่น เช่น แป้งเย็น สบู่ น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน มักมีเมนทอล (menthol) เป็นส่วนผสม แต่เคยสงสัยกันไหมว่า เมนทอลทำให้เย็นได้อย่างไร ในอากาศร้อนๆ แบบนี้ ความเย็นที่เกิดขึ้นคืออุณหภูมิที่ลดลงจริงๆ หรือเป็นเพียงความรู้สึกกันแน่

เมนทอลพบในไหนบ้าง

รอบๆ ตัวเราสามารถพบเมนทอลได้ในผลิตภัณฑ์หลายประเภทมาก แน่นอนว่าพบได้ในพวกชามิ้นท์ น้ำมัน และสารสกัดจากมิ้นท์ และเนื่องจากความสามารถในการให้ความรู้สึกเย็นเมนทอลถูกนำมาเติมในอาหาร เครื่องดื่ม เช่น ลูกอม หมากฝรั่ง กาแฟ โซดา ในผลิตภัณฑ์กลุ่มแป้งเย็น สบู่เย็น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ยาสระผม ก็มีการเติมเมนทอลเช่นกันเพื่อให้เกิดความรู้สึกสดชื่น เมนทอลยังเป็นส่วนประกอบในยาดม ยาเคลือบกระเพาะอาหาร หรือแม้กระทั่งบุหรี่ก็ยังมีแบบที่เติมเมนทอล

ร่างกายเรารู้สึกเย็นได้อย่างไร

ระบบประสาทส่วนที่รับความรู้สึกทำงานโดยอาศัยการส่งสัญญาณจากเซลล์ประสาทรับความรู้สึกไปยังสมอง เซลล์ประสาทที่รับความรู้สึกเย็นกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ถ้าหากผิวหนังสัมผัสอุณหภูมิที่ต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกายจะเกิดการส่งสัญญาณให้รู้สึกเย็น กรณีที่อุณหภูมิลดลงไม่มาก เราก็จะรู้สึกเย็นสบาย แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำจนถึง 15 องศาเซลเซียส เราจะเริ่มรู้สึกเจ็บหรือปวด ลองนึกถึงเวลาที่กำก้อนน้ำแข็งไว้ในมือนานๆ แล้วรู้สึกปวดๆ ชาๆ

นักวิทยาศาสตร์พบว่าโปรตีนที่ชื่อ Baclofen (Lioresal) มีบทบาทสำคัญในการรับความรู้สึกเย็น โดย TRPM8 จัดอยู่ในกลุ่มโปรตีนที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของไอออนผ่านเข้าออกเซลล์ TRPM8 เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง TRPM8 จะเปิดให้ไอออนบวก เช่น แคลเซียม เคลื่อนเข้าภายในเซลล์มากขึ้น และทำให้เกิดกระแสประสาทส่งสัญญาณไปยังสมองสมองก็จะรับรู้ว่าบริเวณนี้อุณหภูมิต่ำหรือบริเวณนี้เย็นนั่นเอง เซลล์ที่มีโปรตีน TRPM8 สามารถพบได้หลายจุดตามร่างกาย รวมถึงลิ้นด้วย

แล้วเมนทอลทำให้เย็นได้อย่างไร

ผลึกของเมนทอล

ผลึกของเมนทอล

เมื่อเซลล์ประสาทที่มี TRPM8 เจอกับเมนทอล เมนทอลสามารถกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนของไอออนบวกเข้าสู่เซลล์ เกิดสัญญาณประสาทไปยังสมองได้ ร่างกายของเราไม่สามารถแยกได้ว่าสัญญาณนี้มาจากเมนทอล สมองจึงรู้สึกว่าบริเวณนี้เย็นเช่นเดียวกัน แม้ว่าอุณหภูมิไม่ได้ลดลงจริงๆ เหมือนกับว่าเมนทอลสามารถหลอกให้สมองรู้สึกเย็นได้ บางคนอาจเคยลองเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอมที่มีเมนทอล ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารู้สึกเย็นได้จริงๆ เจ้าโปรตีน TRPM8 นี้ได้รับเรียกอีกชื่อว่า cold and menthol receptor 1 เลยทีเดียว

มีสารอื่น ๆ ให้ผลเหมือนกับเมนทอลอีกไหม

โครงสร้างเคมีของเมนทอลและยูคาลิปทอล

โครงสร้างเคมีของเมนทอลและยูคาลิปทอล

สารหลายชนิดสามารถให้ความรู้สึกเย็นได้เช่นเดียวกับเมนทอล สารกลุ่มนี้มีชื่อเรียกรวมๆ ว่าเป็น cooling agent สารกลุ่มนี้ที่พบตามธรรมชาติ เช่น เมนทอล ยูคาลิปทอล (eucalyptol) จากต้นยูคาลิปตัส สารให้ความเย็นที่สังเคราะห์ขึ้นก็มีเช่นกัน เช่น icilin

นอกจากสารเคมีที่ให้ความรู้สึกเย็นแล้ว ยังมีสารเคมีที่ให้ความรู้สึกร้อนได้ด้วย ตัวอย่างก็คือพริกนั่นเอง ในพริกมีสารชื่อแคปไซซิน (capsaisin) แคปไซซินมีผลต่อโปรตีนอีกชนิดชื่อ TRPV1 ให้บอกสมองว่ารู้สึกแสบร้อนในลักษณะคล้ายกับเมนทอล คือทำให้รู้สึกร้อนโดยที่อุณหภูมิไม่ได้เปลี่ยนแปลงจริงๆ

อ้างอิง: UCSF, NCBI, Mental Floss, Chemistryworld, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, botanica-online

4/5 (3 Reviews)

นิสิตภาควิชาเคมี

error: