TOP

ชื่อวิทยาศาสตร์ กับความหมายแฝงที่มากกว่าชื่อ

สิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกใบนี้ ย่อมมี ชื่อ เป็นของตัวเองเพื่อให้ง่ายในการเรียกและศึกษา แต่ทว่า สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน แต่ละภาษา หรือแม้แต่ภาษาถิ่นแต่ละภาค บางทีก็ยังเรียกไม่เหมือนกันเลย นักวิทยาศาสตร์จึงตั้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ ขึ้นมา เพื่อเป็นชื่อกลางให้คนทั้งโลกเรียกเหมือนกัน โดยต้องตั้งชื่ออย่างมีระบบตามที่กำหนดไว้ แต่จริงๆ แล้ว ชื่อวิทยาศาสตร์นั้นมีความหมายที่ซ่อนอยู่อีก ซึ่งสามารถบอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตได้มากมาย หลายครั้งเป็นสิ่งที่คนตั้งชื่ออยากบอกเราแล้วแฝงไว้ในชื่อเหล่านี้ด้วย ถ้าพร้อมแล้ว เราหาคำตอบกันเลยดีกว่า ว่าอะไรที่แฝงไว้ในชื่อวิทยาศาสตร์กัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ คืออะไร?

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) เป็นชื่อสิ่งมีชีวิตสากล เพื่อให้คนทั้งโลกเรียกเหมือนๆ กัน มีการพัฒนาระบบการตั้งชื่อเรื่อยมา โดยระบบที่นิยมใช้และเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคือ ระบบการตั้งชื่อแบบทวินาม หรือ  Binomial Nomenclature ซึ่งมีกฎการตั้งชื่อและเขียน คือ

  • ชื่อจะแบ่งออกเป็น 2 วรรค วรรคแรก เรียกว่า Genus Name หรือชื่อสกุล และ วรรคหลังเรียกว่า Specific Name หรือ ชื่อเฉพาะ
  • พยัญชนะตัวแรกของ Genus Name ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ ส่วนที่เหลือใช้พิมพ์เล็กทั้งหมด
  • ระหว่างชื่อทั้ง 2 วรรคนี้ จะต้องมีการเว้นวรรคด้วย

  • ทั้งชื่อ ต้องพิมพ์ด้วย ตัวเอียง หรือใช้การ ขีดเส้นใต้  โดยเว้นวรรคเส้นตรงกลางด้วย อย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ใช้ภาษาละติน เป็นภาษาในการตั้งชื่อ ที่เลือกใช้ภาษาละติน เพราะละติน เป็นภาษาที่ตายแล้ว (ในทางภาษาศาสตร์จะใช้คำว่า ภาษาสูญแล้ว) หมายถึง ปัจจุบันไม่มีผู้พูดแล้ว ทำให้คำต่างๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความหมายอีก ซึ่งการนำมาตั้งชื่อนั้น จะทำให้ความหมายของชื่อไม่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
ตัวอย่างการเขียนที่ถูก / ผิด

ตัวอย่างการเขียนที่ถูก / ผิด

  • เมื่อตั้งชื่อและตีพิมพ์รายงานแล้ว ชื่อจะถูกรวบรวมไว้ใน International Code of Zoological Nomenclature หรือ ICZN สำหรับชื่อของสัตว์ โปรโตซัว และแบคทีเรีย หรือ International Code of Botanical Nomenclature หรือ ICBN สำหรับชื่อของพืช เห็ดรา และสาหร่าย
International Code of Zoological Nomenclature Report: ICZN (ภาพจาก museunacional.ufrj.br)

International Code of Zoological Nomenclature Report: ICZN (ภาพจาก museunacional.ufrj.br)

ซับซ้อนขนาดนี้ ใครคิดเนี่ย?

สำหรับชื่อวิทยาศาสตร์ระบบทวินามนี้ เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1596 โดย โยฮันน์ และ คัสพาร์ เบาฮีน สองพี่น้องนักพฤกษศาสตร์และแพทย์ชาวสวิส ซึ่งริเริ่มการตั้งชื่อแบบทวินามนี้จากการศึกษาและตีพิมพ์รายงานรวบรวมชื่อพืช แต่ก็ยังไม่ได้ใช้กันอย่างกว้างขวางนัก

โยฮันน์ เบาฮีน (ภาพจาก Wikipedia)

โยฮันน์ เบาฮีน (ภาพจาก Wikipedia)

คัสพาร์ เบาฮีน (ภาพจาก Wikipedia)

คัสพาร์ เบาฮีน (ภาพจาก Wikipedia)

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1735 คาโรรัส ลินเนียส หรือ คาร์ล ฟอน ลินน์ (Carl von Linné) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน ได้นำรายงานของพี่น้องตระกูลเบาฮีน กลับมาใช้งานในการตั้งชื่ออีกครั้ง ควบคู่กับการคิดระบบการจำแนกหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตออกเป็นกลุ่มๆ ตามลักษณะทั้งรูปร่างภายนอกและองค์ประกอบภายใน รวมถึงทฤษฎีทางวิวัฒนาการด้วย เพื่อง่ายต่อการศึกษาวิจัย เราเรียกว่า ระบบอนุกรมวิธาน หรือ Taxonomy โดยตีพิมพ์ในหนังสือที่มีชื่อว่า Systema Naturae ซึ่งทำให้การตั้งชื่อแบบทวินามถูกนำใช้อย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน

Carolus Linnaeus และหนังสือ Systema Naturae (ภาพจาก Vidaterra)

Carolus Linnaeus และหนังสือ Systema Naturae (ภาพจาก Vidaterra)

TAXONOMY คือ?

ก่อนที่จะพูดถึงสิ่งที่แฝงอยู่ในชื่อวิทยาศาสตร์ เรามาพูดถึงระบบอนุกรมวิธาน หรือ Taxonomy นี้ก่อนสักเล็กน้อย เจ้าระบบอนุกรมวิธานนี้เป็นระบบการจัดสิ่งมีชีวิตเป็นกลุ่มๆ และมีลำดับย่อยลงไป เริ่มจาก อาณาจักร (Kingdom) ซึ่งใน 1 อาณาจักรก็จะมีหลายไฟลัม (Phylum), ใน 1 ไฟลัมจะมีหลายชั้น (Class) ย่อยลงไปเป็น อันดับ (Order), วงศ์ (Family), สกุล (Genus) และชนิดของสิ่งมีชีวิต นั้นๆ หรือ สปีชีส์ (Species) นั่นเอง

ลำดับกลุ่มในระบบอนุกรมวิธาน (ภาพจาก Campbell 9th Edition)

ลำดับกลุ่มในระบบอนุกรมวิธาน (ภาพจาก Campbell 9th Edition)

เริ่มแรกมีการให้อาณาจักร (Kingdom) เป็นกลุ่มใหญ่สุด แบ่งออกเป็น 3 อาณาจักร คือ พืช (Plantae), สัตว์ (Animalia) และโมเนรา (Monera) จากนั้นก็มีการพัฒนาระบบมาเรื่อยๆ จนถึงปี ค.ศ. 1969 Robert H. Whittaker นักนิเวศวิทยา ชาวอเมริกัน ได้แบ่งอาณาจักรเพิ่ม เป็นทั้งหมด 5 อาณาจักร ได้แก่ โมเนรา (Monera) หรือพวกแบคทีเรีย, โปรติสตา (Protista) หรือพวกสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว, ฟังไจ (Fungi) คือเห็ดรา, พืช (Plantae) และสัตว์ (Animalia) เพื่อแยกโปรโตซัวและเห็ดรา ที่มีลักษณะต่างจากแบคทีเรียออกไปอีกกลุ่ม

เส้นสายวิวัฒนาการของอาณาจักรทั้ง 5 ของสิ่งมีชีวิต (ภาพจาก biologmehmet)

เส้นสายวิวัฒนาการของอาณาจักรทั้ง 5 ของสิ่งมีชีวิต (ภาพจาก biologmehmet)

Robert Whittaker (ภาพจาก wikipedia)

Robert Whittaker (ภาพจาก wikipedia)

แต่!!! นี่ยังไม่ล้ำสุด เพราะเมื่อปี 1977 ได้มี นักจุลชีววิทยา ชาวอเมริกันนามว่า  Carl Richard Woese ได้ศึกษาพวกจุลชีพและพบว่า มันยังมีลักษณะบางอย่างไม่เหมือนกัน จึงจัดกลุ่มที่ลำดับสูงกว่าอาณาจักรขึ้นไปอีก เรียกว่า โดเมน (Domain) ซึ่งมี 3 โดเมนคือ ยูคาริอา (Eukarya) คือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่แบคทีเรีย หรือก็คือ อาณาจักรโปรติสตา, ฟังไจ, พืช และสัตว์นั่นเอง ส่วนอีก 2 โดเมนคือ อาร์เคีย (Archaea) หมายถึงแบคทีเรียพิเศษ ที่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว (Extreme Environment) เช่นน้ำพุร้อนได้ และ แบคทีเรีย (Bacteria) หมายถึงพวกแบคทีเรียทั่วไปและไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) ซึ่งเป็นแบคทีเรียสังเคราะห์ด้วยแสงได้ โดยทั้ง 2 โดเมนหลังนี้เกิดจากการแบ่งอาณาจักรโมเนราออกเป็น 2 กลุ่มนั่นเอง

Carl Woese (ภาพจาก PBS)

Carl Woese (ภาพจาก PBS)

งั้น เราลองมาจัดลำดับอนุกรมวิธานของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัน  ในตัวอย่าง เมื่อเรามาจัดอนุกรมวิธานของแมว เสือ สุนัข และหมี แล้วเอามารวมไว้ในแผนภาพเดียวกันจะได้ว่า…

ตัวอย่างการจัดลำดับสัตว์เลี้ยลูกด้วยนม (ภาพจาก biologydocument)

ตัวอย่างการจัดลำดับสัตว์เลี้ยลูกด้วยนม (ภาพจาก biologydocument)

จะเห็นได้ว่า สัตว์ทั้ง 4 ชนิดนี้ก็มีส่วนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันในระดับโดเมน อาณาจักร ไปจนถึงอันดับ แต่ก็มาแยกกันเป็นคนละวงศ์ลงมา การทำอย่างนี้เองจะช่วยให้นักชีววิทยาทำงานศึกษาสิ่งมีชีวิตได้ง่ายขึ้นมากเลยทีเดียว มาถึงตรงนี้ จริงๆ แล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึงเลย นั่นก็คือ ไวรัสนั่นเอง ที่ไม่ได้ถูกพูดถึง ก็เพราะไวรัส เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ไม่สามารถจัดให้อยู่ในระบบอนุกรมวิธานอย่างครบถ้วนได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติของการมีชีวิตไม่ชัดเจน และไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นใดเลย

ข้อความแฝงในชื่อวิทยาศาสตร์

ไหนๆ จะตั้งชื่อมาทั้งที ก็คงไม่ใช่แค่ตั้งให้เพราะๆ เก๋ๆ แน่นอน เพราะมีการกำหนดความหมายและหลักเกณฑ์ของการตั้งชื่อ เพื่อบอกลักษณะ อนุกรมวิธาน สถานที่ค้นพบ หรือบางทีอาจจบอกชื่อคนแฝงไว้ด้วย แล้วมีอะไรบ้างล่ะ …

บอก Species และ Genus ได้

ชื่อวิทยาศาสตร์สามารถบอก 2 ลำดับล่างสุดของระบบอนุกรมวิธานได้ โดย Genus หรือ สกุล คือ วรรคหน้าของชื่อวิทยาศาสตร์ หรือที่เรียกว่า Genus Name นั่นเอง ส่วน Species ก็คือ ชื่อทั้งชื่อ ก็คือทั้ง 2 วรรคของชื่อวิทยาศาสตร์นั้นๆ นั่นเอง

บอกชื่อสถานที่ค้นพบได้

บางครั้ง วรรคหลังของชื่อวิทยาศาสตร์ หรือ Specific Name อาจมีการตั้งเป็นสถานที่ค้นพบ ซึ่งจะสังเกตได้จาก การลงท้ายวรรคนั้นว่า -ensis, -ense, -icum, -icus โดยชื่อในวรรคนั้นก่อนคำนั้นๆ คือชื่อสถานที่ เมือง หรือประเทศนั่นเอง เช่น

Potamon kanchanaburiense หรือ ปูห้วยกาญจน์ มีรายงานการค้นพบครั้งแรกในจังหวัดกาญจนบุรี

ปูห้วยกาญจน์ (ภาพจาก siamensis)

ปูห้วยกาญจน์ (ภาพจาก siamensis)

Weissella thailandensis เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ใช้หมักปลาร้าในประเทศไทย โดยหนึ่งในทีมผู้วิจัยแบคทีเรียชนิดนี้ คือ รศ.ดร.สมบูรณ์ ธนาศุภวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แบคทีเรีย W. thailandensis (ภาพจาก uokufa)

แบคทีเรีย W. thailandensis (ภาพจาก uokufa)

Schistosoma japonicum  เป็นเชื้อปรสิตที่ก่อโรค Katayama Fever ซึ่งตั้งชื่อตามเขต Katayama ในเมืองฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการศึกษาเชื้อโรคนี้เป็นที่แรก

ปรสิต S. japonicum (ภาพจาก Pathologyoutline)

ปรสิต S. japonicum (ภาพจาก Pathologyoutline)

Lactobacillus bulgaricus เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่นิยมใช้หมักผลิตภัณฑ์นม เพื่อทำโยเกิร์ต มีการศึกษาครั้งแรกในประเทศบัลแกเรีย

แบคทีเรีย L. bulgaricus ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (ภาพจาก accobio)

แบคทีเรีย L. bulgaricus ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (ภาพจาก accobio)

บอกชื่อผู้ค้นพบ หรือ บุคคลที่ผู้ตั้งชื่อให้เกียรติตั้งเป็นชื่อ

บางครั้งผู้ตั้งชื่อ อาจจะใช้ชื่อของผู้ค้นพบ ชื่อผู้ที่เป็นคนตั้งชื่อ หรือชื่อบุคคลอื่นๆ เพื่อให้เกียรติ ไว้ใน Specific Name ได้ โดยมีกฎว่า ถ้าเป็นชื่อผู้ชาย ให้ลงท้ายวรรคว่า -i แต่ถ้าเป็นชื่อผู้หญิง ให้ลงท้ายว่า -ae เช่น

Craseonycteris thonglongyai หรือ ค้างคาวคุณกิตติ เป็นค้าวคาวขนาดเล็กที่พบที่จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งชื่อโดยใช้นามสกุลของ นายกิตติ ทองลงยา ผู้ค้นพบ เป็น Specific Name

ค้างคาวคุณกิตติ (ภาพจาก dek-d.com)

ค้างคาวคุณกิตติ (ภาพจาก dek-d.com)

Phuwiangosaurus sirindhornae เป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์หนึ่งที่พบฟอสซิลอยู่ที่ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดย Specific Name มาจากคำว่า “สิรินธร” ซึ่งทีมผู้ค้นพบได้ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รูปปั้นจำลอง ไดโนเสาร์ Phuwiangosaurus sirindhornae (ภาพจาก dmr.go.th)

รูปปั้นจำลอง ไดโนเสาร์ Phuwiangosaurus sirindhornae (ภาพจาก dmr.go.th)

บอกแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ

บางครั้ง ผู้ตั้งชื่อก็อาจจะบอกแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ แต่อันนี้อาจจะต้องใช้ความรู้รากศัพท์ภาษาละตินเล็กน้อยนะครับ  เช่น Fasciola hepatica โดยคำว่า hepatica แปลว่า อยู่ในตับ หมายถึงปรสิตชนิดนี้จะอาศัยเกาะกินในตับของเหยื่อนั่นเอง

พยาธิใบไม้ F. hepatica (ภาพจาก ocw.tufts.edu)

พยาธิใบไม้ F. hepatica (ภาพจาก ocw.tufts.edu)

บอกลักษณะพิเศษของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ

บางครั้ง ผู้ตั้งชื่อก็อาจจะลักษณะพิเศษสิ่งมีชีวิตนั้นๆ แต่อันนี้อาจจะต้องใช้ความรู้รากศัพท์ภาษาละตินอีกเหมือนกันนะครับ เช่น Tridacna gigas ซึ่งเป็นชื่อของ หอยมือเสือยักษ์ ที่เป็นหอยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย gigas มาจากคำว่า Giga แปลว่าใหญ่มาก

หอยมือเสือ (ภาพจาก wikipedia)

หอยมือเสือ (ภาพจาก wikipedia)

การรายงานชื่อวิทยาศาสตร์ในงานวิจัย

เวลาอ่านรายงาน หรืองานวิจัยบางทีเราอาจจะเจอ ชื่อวิทยาศาสตร์หน้าตาแปลกๆ ก็ ไม่ต้องตกใจไปครับ มันก็คือชื่อทวินามเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่มันมีการเพิ่มหรือลดข้อความเพื่อรายงานบางอย่างลงไป เช่น

ลงท้ายด้วย sp.

เช่น Samanea sp. หมายความว่า รายงานพบสิ่งมีชีวิตในสกุล Samanea (ซึ่งก็คือในกลุ่มจามจุรี) แต่ไม่ทราบว่าเป็นชนิด (สปีชีส์) ไหน

ลงท้ายด้วย spp.

เช่น Samanea spp. หมายความว่า  รายงานพบสิ่งมีชีวิตในสกุล Samanea ซึ่งดูคร่าวๆ น่าจะมีมากกว่า 1 ชนิด (สปีชีส์) แต่ไม่สามารถระบุได้เลยสักอัน ว่าเป็นชนิดไหนบ้าง

มีชื่อต่อหลัง ชื่อทวินาม แล้วไม่ใส่ตัวเอียง หรือ ขีดเส้นใต้เลยด้วย

อันนี้อาจจะเริ่มดูแปลกพิสดาร แต่ก็เหมือนเดิมครับ แค่เขาเติมชื่อผู้ค้นพบลงไปด้วย กรณีที่ในชื่อทวินามไม่ได้บอกผู้ค้นพบไว้ เช่น Oryza sativa Linn. อันนี้ Oryza sativa ก็คือตัวชื่อทวินามของข้าว ส่วน Linn. ซึ่งก็คือชื่อย่อของ คาโรลัส ลินเนียส ผู้ตั้งระบบอนุกรมวิธานและเป็นคนตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของข้าวนั่นเอง

จริงๆ แล้วยังมีรายงานชื่อวิทยาศาสตร์รูปแบบแปลกๆ อีกหลายแบบนะครับ เช่น รายงานชื่อแบบบอก Genus ทั้งเก่าและใหม่ กรณีมีการเปลี่ยนสกุลทีหลัง  แต่ผมคิดว่ามันอาจจะลึกไปสำหรับประชาชนธรรมดาๆ ทั่วไปนะครับ เอาเป็นว่า สำหรับน้องๆ มัธยม ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ ลองเลือกเรียนในสาขาทางชีววิทยาดูนะครับ รับรองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสนุกแน่นอน ทีนี้เวลาไปเห็นชื่อวิทยาศาสตร์ที่ไหน ก็คงพอจะอ่านออกและแปลความหมายได้แล้วนะครับ

If a tree dies, plant another in its place.

– Carolus Linnaeus

แหล่งอ้างอิง

4.8/5 (5 Reviews)

"Microbiology Student / 42nd colony / BCC'162 / CU'99 / Writer and Dreamer"

error: