ใต้เตียงไลเคน ส่องดูความรักชั่วนิรันดร์ อยู่ร่วมกันตลอดไป
เวลาไปเที่ยวภูเขา หรือเดินป่าตามอุทยานแห่งชาติ หลายคนคงจะเคยเห็นอะไรบางอย่าง เป็นแผ่นๆ สีเขียวอมขาวด่างๆ ตามเปลือกไม้ หรือก้อนหิน เจ้าสิ่งนี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า “ไลเคน” (Lichen) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบได้ไม่ง่ายนัก และเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ที่ไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตไหนๆ แน่นอน ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเจาะโลกมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้กันเลย
ความรักชั่วนิรันดร์ของ ไลเคน
จริงๆ แล้ว ไลเคน ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตผู้โดดเดี่ยวตัวคนเดียว แต่เป็นรูปแบบการมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด นั่นก็คือ รา และ สาหร่าย ในทางวิทยาศาสตร์ เราจะเรียกความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันนี้ว่า “Symbiosis” หรือ การได้ประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย โดย รา จะฟอร์มตัวเป็นที่อยู่อาศัย ป้องกันอันตราย และให้ความชื้นแก่สาหร่าย ส่วน สาหร่าย ซึ่งสังเคราะห์ด้วยแสงได้ ก็จะสร้างอาหารมาเลี้ยง รา นั่นเอง ซึ่งการมีชีวิตแบบนี้จะต้องอยู่ร่วมกันตลอดไป
คู่รัก ชั่วฟ้าดินสลาย
สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ถูกลิขิตมาคู่กันเป็นไลเคนนี้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นก็คือ…
- รา
ราเป็นสิ่งมีชีวิตในอาณาจักร Fungi หรือ Supergroup Unikonta ซึ่งมีเซลล์เป็นแบบ Eukaryotic Cell มีลักษณะเป็นเส้นใย เรียกว่า Hypha ซึ่งสามารถฟอร์มตัวเป็นโครงสร้างได้ แต่ทว่าไม่สามารถสร้างอาหารได้เอง มักดำรงชีพเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียสารในธรรมชาติ ราที่เกิด Symbiosis กับสาหร่ายนั้น มักเป็นราในไฟลัม Ascomycota เป็นส่วนใหญ่
- สาหร่าย
สาหร่ายที่ประกอบร่างขึ้นเป็นไลเคนนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ โดยส่วนใหญ่ มักจะเป็น สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน หรือที่มีชื่อใหม่ว่า Cyanobacteria เช่น Nostoc spp. และ Anabaena spp. ซึ่งเป็นแบคทีเรียประเภทหนึ่งที่มีเซลล์แบบ Prokaryotic Cell แต่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้โดยใช้รงควัตถุ Chlorophyll A ซึ่งมีสีเขียว และ Phycobilin ซึ่งมีสีฟ้าหรือน้ำเงิน เราจึงเห็นมันมีสีเขียวแกมน้ำเงินนั่นเอง ส่วนสาหร่ายอีกแบบที่เกิดเป็นไลเคนได้ คือสาหร่ายสีเขียว ซึ่งมีเซลล์แบบ Eukaryotic Cell จัดอยู่ในไฟลัม Chlorophyta หรือ Supergroup Archaeplastidia ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพืชมากกว่า แต่ไม่ค่อยพบในรูปแบบไลเคนมากนัก
สำหรับการฟอร์มตัวของ ไลเคน ไม่ได้ประกอบร่างขึ้นมามั่วๆ นะครับ แต่มีระบบการวางชั้นของราและสาหร่าย โดย รา จะวางตัวเป็น 2 ชั้น คือชั้นล่าง จะเป็นส่วนที่สร้างรากเทียม (Rhizoid) เพื่อยึดเกาะ ส่วนชั้นบนจะวางตัวคลุมสาหร่ายเพื่อป้องกันอันตรายและให้สาหร่ายวางตัวอยู่ตรงกลางระหว่างรา 2 ชั้นเพื่อสร้างอาหารให้แก่ รา ทั้งชั้นบนและล่าง
สภาพแวดล้อมแห่งรัก
แน่นอนว่า รูปแบบคู่รักกุ๊กกิ๊กแบบไลเคนนี้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ได้ แต่จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย นั่นคือต้องมีความชื้น แสงแดด และอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ที่สำคัญต้องเป็นที่ที่ไม่มีมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำและดิน เพราะไลเคนไวต่อมลพิษมาก หากมีมลพิษสูงเกินจากปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพียงเล็กน้อย ไลเคนจะไม่สามารถดำรงชีพได้และจะตายไปทั้งราและสาหร่าย ดังนั้น ไลเคน จึงจัดเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอย่างหนึ่ง ถ้ามีไลเคนที่ไหน แสดงว่าที่นั่นมีสิ่งแวดล้อมที่ดีนะครับ
รูปแบบของการมีคู่
ไลเคน มีการฟอร์มรูปร่างออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ ได้แก่
- Crustose
เป็นแบบที่พบได้ง่ายที่สุด ลักษณะจะเป็นแผ่นกลมหรือรี ติดแนบสนิทกับก้อนหินหรือเปลือกไม้ เลาะออกได้ยาก อาจจะมีสีเขียวอมขาว หรือเขียวอมเหลืองก็ได้
- Foliose
เป็นไลเคนแบบใบ ลักษณะคล้ายกับแบบ Crustose แต่มีส่วนคล้ายเกล็ดใบหงิกงอขึ้นมาจากพื้นผิว ลอกออกได้ง่าย
- Fruticose
หรือที่รู้จักในชื่อ “ฝอยลม” เป็นไลเคนรูปแบบสายหรือเถา ห้อยระย้าลงมาจากกิ่งไม้ เป็นแบบที่พบยากที่สุดและจะพบในเฉพาะที่ที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากๆ เท่านั้น
เป็นยังไงกันบ้างครับ กับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ แต่มีชีวิตอยู่เพื่อคู่ของตัวเอง และจะอยู่ด้วยกันตลอดไป ที่จริงประเทศไทยของเราก็พบไลเคนได้ทุกภาคทั่วประเทศเลยนะครับ แต่อาจจะต้องเป็นที่ที่มีความชื้น อุณหภูมิพอเหมาะ และสิ่งแวดล้อมที่ดี แม้แต่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็พบได้ตามใต้ต้นจามจุรีใหญ่ๆ และไลเคนพวกนี้ไม่ได้มีพิษภัยกับใครเลย ดังนั้น อย่าไปแซะหรือขูดเขาออกเลยนะครับ แล้วถ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวภูเขาหรือป่าไม้ก็อย่าลืมมองหาเจ้าไลเคนนี้นะครับ
ราและสาหร่ายภายใน ไลเคน ไม่ได้อยู่ด้วยกันอย่างใหญ่โต หรือแสดงออกให้โลกรู้ แต่อยู่ด้วยกันอย่างกลมเกลียว ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างลับๆ แต่มันจะไม่ยอมแยกจากกัน ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังส่องแสงอยู่…
#ความรักก็เช่นกัน ^^
อ้างอิง: หนังสือบทปฏิบัติการและเอกสารประกอบการเรียนวิชาชีววิทยาทั่วไป 2, ผศ.ดร.ชุมพล คุณวาสี และ
ผศ.ดร.มานิต คิดอยู่ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอบคุณภาพถ่ายเพิ่มเติมจาก : จิตโสภิณ สมัครกาล (นิสิตภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)