TOP

ใต้เตียงไลเคน ส่องดูความรักชั่วนิรันดร์ อยู่ร่วมกันตลอดไป

เวลาไปเที่ยวภูเขา หรือเดินป่าตามอุทยานแห่งชาติ หลายคนคงจะเคยเห็นอะไรบางอย่าง เป็นแผ่นๆ สีเขียวอมขาวด่างๆ ตามเปลือกไม้ หรือก้อนหิน เจ้าสิ่งนี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า “ไลเคน” (Lichen) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบได้ไม่ง่ายนัก และเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ที่ไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตไหนๆ แน่นอน ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเจาะโลกมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้กันเลย

Lichen  บนก้อนหิน (ภาพจาก Botanic Garden, University of Washington)

Lichen  บนก้อนหิน (ภาพจาก Botanic Garden, University of Washington)

ความรักชั่วนิรันดร์ของ ไลเคน

จริงๆ แล้ว ไลเคน ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตผู้โดดเดี่ยวตัวคนเดียว แต่เป็นรูปแบบการมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด นั่นก็คือ รา และ สาหร่าย ในทางวิทยาศาสตร์ เราจะเรียกความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันนี้ว่า “Symbiosis” หรือ การได้ประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย โดย รา จะฟอร์มตัวเป็นที่อยู่อาศัย  ป้องกันอันตราย และให้ความชื้นแก่สาหร่าย ส่วน สาหร่าย ซึ่งสังเคราะห์ด้วยแสงได้ ก็จะสร้างอาหารมาเลี้ยง รา นั่นเอง ซึ่งการมีชีวิตแบบนี้จะต้องอยู่ร่วมกันตลอดไป

Lichen บนเปลือกไม้ (ภาพจาก : Bennett-smith)

Lichen บนเปลือกไม้ (ภาพจาก : Bennett-smith)

คู่รัก ชั่วฟ้าดินสลาย

สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ถูกลิขิตมาคู่กันเป็นไลเคนนี้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นก็คือ…

  • รา

ราเป็นสิ่งมีชีวิตในอาณาจักร Fungi หรือ Supergroup Unikonta ซึ่งมีเซลล์เป็นแบบ Eukaryotic Cell มีลักษณะเป็นเส้นใย เรียกว่า Hypha ซึ่งสามารถฟอร์มตัวเป็นโครงสร้างได้ แต่ทว่าไม่สามารถสร้างอาหารได้เอง มักดำรงชีพเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียสารในธรรมชาติ ราที่เกิด Symbiosis กับสาหร่ายนั้น มักเป็นราในไฟลัม Ascomycota เป็นส่วนใหญ่

รา ในไฟลัม Ascomycota ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ (ภาพจาก : Kuhn Photo)

รา ในไฟลัม Ascomycota ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ (ภาพจาก : Kuhn Photo)

  • สาหร่าย

สาหร่ายที่ประกอบร่างขึ้นเป็นไลเคนนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ โดยส่วนใหญ่ มักจะเป็น สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน หรือที่มีชื่อใหม่ว่า Cyanobacteria เช่น Nostoc spp. และ Anabaena spp. ซึ่งเป็นแบคทีเรียประเภทหนึ่งที่มีเซลล์แบบ Prokaryotic Cell แต่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้โดยใช้รงควัตถุ Chlorophyll A ซึ่งมีสีเขียว และ Phycobilin ซึ่งมีสีฟ้าหรือน้ำเงิน เราจึงเห็นมันมีสีเขียวแกมน้ำเงินนั่นเอง ส่วนสาหร่ายอีกแบบที่เกิดเป็นไลเคนได้ คือสาหร่ายสีเขียว ซึ่งมีเซลล์แบบ Eukaryotic Cell จัดอยู่ในไฟลัม Chlorophyta หรือ Supergroup Archaeplastidia ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพืชมากกว่า แต่ไม่ค่อยพบในรูปแบบไลเคนมากนัก

Cyanobacteria กลุ่ม Nostoc และ Anabaena (ภาพจาก : Dr. Ralf Wagner)

Cyanobacteria กลุ่ม Nostoc และ Anabaena (ภาพจาก : Dr. Ralf Wagner)

สำหรับการฟอร์มตัวของ ไลเคน ไม่ได้ประกอบร่างขึ้นมามั่วๆ นะครับ แต่มีระบบการวางชั้นของราและสาหร่าย โดย รา จะวางตัวเป็น 2 ชั้น คือชั้นล่าง จะเป็นส่วนที่สร้างรากเทียม (Rhizoid) เพื่อยึดเกาะ ส่วนชั้นบนจะวางตัวคลุมสาหร่ายเพื่อป้องกันอันตรายและให้สาหร่ายวางตัวอยู่ตรงกลางระหว่างรา 2 ชั้นเพื่อสร้างอาหารให้แก่ รา ทั้งชั้นบนและล่าง

 

แผนภาพแสดงการวางตัวของ ราและสาหร่าย (ภาพจาก : All About Lichen)

แผนภาพแสดงการวางตัวของ ราและสาหร่าย (ภาพจาก : All About Lichen)

สภาพแวดล้อมแห่งรัก

แน่นอนว่า รูปแบบคู่รักกุ๊กกิ๊กแบบไลเคนนี้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ได้ แต่จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย นั่นคือต้องมีความชื้น แสงแดด และอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ที่สำคัญต้องเป็นที่ที่ไม่มีมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำและดิน เพราะไลเคนไวต่อมลพิษมาก หากมีมลพิษสูงเกินจากปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพียงเล็กน้อย ไลเคนจะไม่สามารถดำรงชีพได้และจะตายไปทั้งราและสาหร่าย ดังนั้น ไลเคน จึงจัดเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอย่างหนึ่ง ถ้ามีไลเคนที่ไหน แสดงว่าที่นั่นมีสิ่งแวดล้อมที่ดีนะครับ

Lichen ในเขตทุนดรา, Denali National Park, Alaska (ภาพจาก : the soul of the earth)

Lichen ในเขตทุนดรา, Denali National Park, Alaska (ภาพจาก : the soul of the earth)

รูปแบบของการมีคู่

ไลเคน มีการฟอร์มรูปร่างออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ ได้แก่

  • Crustose

เป็นแบบที่พบได้ง่ายที่สุด ลักษณะจะเป็นแผ่นกลมหรือรี ติดแนบสนิทกับก้อนหินหรือเปลือกไม้ เลาะออกได้ยาก อาจจะมีสีเขียวอมขาว หรือเขียวอมเหลืองก็ได้

ไลเคนแบบ Crustose, อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย  (ภาพโดย จิตโสภิณ สมัครกาล)

ไลเคนแบบ Crustose, อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย (ภาพโดย จิตโสภิณ สมัครกาล)

  • Foliose

เป็นไลเคนแบบใบ ลักษณะคล้ายกับแบบ Crustose แต่มีส่วนคล้ายเกล็ดใบหงิกงอขึ้นมาจากพื้นผิว ลอกออกได้ง่าย

ไลเคนแบบ Foliose, อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย จิตโสภิณ สมัครกาล)

ไลเคนแบบ Foliose, อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย จิตโสภิณ สมัครกาล)

  • Fruticose

หรือที่รู้จักในชื่อ “ฝอยลม” เป็นไลเคนรูปแบบสายหรือเถา ห้อยระย้าลงมาจากกิ่งไม้ เป็นแบบที่พบยากที่สุดและจะพบในเฉพาะที่ที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากๆ เท่านั้น

ไลเคนแบบ Fruticose,  อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (ภาพจาก Kittikhun)

ไลเคนแบบ Fruticose,  อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (ภาพจาก Kittikhun)

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ แต่มีชีวิตอยู่เพื่อคู่ของตัวเอง และจะอยู่ด้วยกันตลอดไป ที่จริงประเทศไทยของเราก็พบไลเคนได้ทุกภาคทั่วประเทศเลยนะครับ แต่อาจจะต้องเป็นที่ที่มีความชื้น อุณหภูมิพอเหมาะ และสิ่งแวดล้อมที่ดี แม้แต่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็พบได้ตามใต้ต้นจามจุรีใหญ่ๆ และไลเคนพวกนี้ไม่ได้มีพิษภัยกับใครเลย ดังนั้น อย่าไปแซะหรือขูดเขาออกเลยนะครับ แล้วถ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวภูเขาหรือป่าไม้ก็อย่าลืมมองหาเจ้าไลเคนนี้นะครับ

ราและสาหร่ายภายใน ไลเคน ไม่ได้อยู่ด้วยกันอย่างใหญ่โต หรือแสดงออกให้โลกรู้ แต่อยู่ด้วยกันอย่างกลมเกลียว ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างลับๆ แต่มันจะไม่ยอมแยกจากกัน ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังส่องแสงอยู่…
#ความรักก็เช่นกัน ^^

อ้างอิง: หนังสือบทปฏิบัติการและเอกสารประกอบการเรียนวิชาชีววิทยาทั่วไป 2, ผศ.ดร.ชุมพล คุณวาสี และ
ผศ.ดร.มานิต คิดอยู่  ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณภาพถ่ายเพิ่มเติมจาก : จิตโสภิณ สมัครกาล (นิสิตภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

0/5 (0 Reviews)

"Microbiology Student / 42nd colony / BCC'162 / CU'99 / Writer and Dreamer"

error: