TOP

แม่อยากให้เธออยู่กับดิน อยากให้เราติดดินและอยากให้ทำงานแก่ประชาชน

ถ้อยรับสั่งในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มีกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถึงความหมายของพระนาม “ภูมิพล” อันที่จริงเธอก็ชื่อ ภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงมีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเคยรับสั่งไว้ว่า “เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดินและอยากให้ทำงานแก่ประชาชน”

ภูมิพล แปลว่า พลังแห่งแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงมีพระราชกรณียกิจในพระองค์กว่า 4,000 โครงการ ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพและหลากหลาย นับเป็นพระอัจฉริยภาพอันหาที่เปรียบมิได้ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีสายพระเนตรถึงทรัพยากรสำคัญอันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศไทย นั่นคือทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ ในบทความนี้ จะกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่พระราชทานไว้เกี่ยวกับดิน ดังต่อไปนี้

30 : 30 : 30 : 10

หลักการแบ่งสัดส่วนที่ดินตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่

หลักการแบ่งสัดส่วนที่ดินตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษา วิจัย ทดลองต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งทรงพบวิธีบริหารจัดการที่ดินเป็นสัดส่วน เพื่อทำประโยชน์สูงสุดอย่างสมดุล เรียกว่า เกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยการแบ่งสรรที่ดินออกเป็นอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 กล่าวคือ พื้นที่ทำกินของเกษตรกรร้อยละ 100 แบ่งออกเป็นพื้นที่นาข้าว ร้อยละ 30 / พื้นที่ปลูกพืชไร่ไม้ผล ร้อยละ 30 / พื้นที่สระขุด สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี ร้อยละ 30 และพื้นที่อยู่อาศัย ตลอดจนถนน ทางระบายน้ำ แปลงผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 10 ซึ่งตัวเลขอัตราส่วนนี้อาจนำไปปรับใช้ยืดหยุ่นได้ตามสภาพพื้นที่และสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละภูมิภาค

เกษตรทฤษฎีใหม่ จึงเป็นตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการทำกินและพึ่งพาตนเองได้เด่นชัดที่สุด

ทรงทำให้ดินโกรธ (แกล้งดิน)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงคิดค้นและมีพระราชดำริเพื่อการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นพื้นที่พรุ มีน้ำขังตลอดปีจนมีสภาพดินเปรี้ยวจัด และไม่สามารถปลูกพืชได้ ซึ่งพบนับแสนไร่โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้

แกล้งดิน เป็นคำที่พระองค์ทรงใช้เรียกกระบวนการที่เร่งปฏิกิริยาทางเคมีในดินที่มีแร่กำมะถัน (หรือสารไพไรท์) ด้วยการทำให้ดินแห้งสลับเปียก ดินที่แห้งจะทำปฏิกิริยากับอากาศกลายเป็นกรด (ดินเปรี้ยว) เมื่อนั้นจึงปล่อยน้ำจืดให้ท่วมขังระยะหนึ่งแล้วจึงระบายออก ทำซ้ำเช่นนี้ 2-3 ครั้ง พร้อมกับปรับปรุงดิน ก็จะสามารถทำให้ดินในบริเวณนั้นสามารถปลูกพืช ผัก ผลไม้ หรือเลี้ยงปลาบ่อได้ ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จากต้นฝิ่นถึงไร่สตรอเบอรี่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนพระทัยในชีวิตความเป็นอยู่และทรงห่วงใยราษฎรที่เป็นชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงพบว่าราษฎรที่นั่นยากจนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ชาวเขาหลายคน ณ เวลานั้นนิยมถางป่า ตัดต้นไม้เพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่นขาย เมื่อ พ.ศ. 2511 พระองค์เคยเสด็จเยี่ยมราษฎรและมีรับสั่งถามชาวม้งว่านอกจากฝิ่นแล้ว ยังมีรายได้จากอย่างอื่นอีกบ้างหรือไม่ ราษฎรตอบว่ามีรายได้จากลูกท้อพันธุ์พื้นเมืองซึ่งได้พอๆกันกับฝิ่น พระองค์จึงทรงตระหนักว่าหากจูงใจให้ชาวม้งปลูกพืชพันธุ์ดี รวมทั้งพืชไม้เมืองหนาวอื่นๆแทนฝิ่น จะช่วยลดปัญหาตัดไม้และช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับราษฎรได้ จึงพระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิโครงการหลวงขึ้นในปีถัดมา

ทีมวิจัยโครงการหลวงยังได้ทดลองนำพันธุ์ไม้ต่างประเทศ อาทิ สตรอเบอรี่ บ๊วย สาลี่ องุ่น พลับ เสาวรส มะเดื่อ มะเขือเทศ ลิ้นจี่ หน่อไม้ ข้าวโพด และทดลองเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและแหล่งรายได้ให้กับชาวเขา มีการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์และแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์จากผลผลิตได้สูงสุด โดยการส่งออกละจำหน่ายภายในประเทศในชื่อ “ดอยคำ” และ “ผลิตภัณฑ์โครงการหลวง”

จากไร่ฝิ่นสู่พืชไร่โครงการหลวง

จากไร่ฝิ่นสู่พืชไร่โครงการหลวง

โครงการหลวงได้รับรางวัลแมกไซไซ เมื่อ พ.ศ.2531 ในฐานะเป็นโครงการสร้างสรรค์และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศจากการดำเนินงานด้วยสันติวิธี ตามที่ปรากฏในคำประกาศเกียรติคุณว่า “โครงการหลวงได้มีส่วนช่วยลดยาเสพติดพิษร้ายแรงของโลกลง และยังช่วยยกระดับความมั่นคง อยู่ดีกินดีแก่ชนชาวเขาทั้งหลายด้วย”

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Development Programme : UNDP) ได้ทูลเกล้าถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกด้วย

วันพ่อแห่งดิน

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences : IUSS) มีมติสดุดีพระเกียรติด้วยการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก ในฐานะที่ทรงให้ความสำคัญแก่การบริหารจัดการทรัพยากรดิน และปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่บริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและชาวโลก

สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม

สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม

ซึ่งในที่ประชุมขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ได้มีมติจัดตั้ง “วันดินโลก” (World Soil Day) และได้ขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันดินโลกอีกด้วย

นับว่าเป็นบุญยิ่งแก่ข้าพสกนิกรชาวไทยที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

 

แหล่งที่มาอ้างอิง

5/5 (1 Review)

ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ ผู้หลงใหลความลับแห่งจักรวาล

error: