TOP

จากของเล่นสู่เรือใบ ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงมีพระราชกรณียกิจกว่า 4,000 โครงการ ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชาชีพ นับเป็นพระอัจฉริยภาพอันหาที่เปรียบมิได้ ในบทความนี้ จะกล่าวถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านการประดิษฐ์ ซึ่งด้วยน้ำพระราชหฤทัยบวกกับพระอัจฉริยภาพ จากการประดิษฐ์ของเล่นส่วนพระองค์ จนกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์อันมีคุณค่ายิ่งต่อพสกนิกรชาวไทย ดังปรากฏตามลำดับต่อไปนี้

ของเล่นฝีพระหัตถ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนพระทัยในด้านการช่างต่าง ๆ ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง อาทิ เครื่องร่อน และเรือรบจำลองฝีพระหัตถ์ ซึ่งทรงจำลองเป็นเรือหลวงศรีอยุธยาที่ทรงโปรดตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จนิวัตสู่พระนครเป็นการชั่วคราวเมื่อ พ.ศ.2481

วิทยุ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประดิษฐ์วิทยุด้วยพระองค์เอง เมื่อมีพระชนมายุราว 10 พรรษา ด้วยเพราะวิทยุที่มีใช้อยู่ในเวลานั้นใช้สำหรับฟังข่าวและทรงถูกห้ามแตะต้อง พระองค์จึงทรงใช้คอยล์ ซึ่งเป็นขดลวดนำกระแสไฟฟ้าที่ได้มาจากการจับสลากที่โรงเรียน มาประกอบกับแร่ Galena ซึ่งเป็นสินแร่ตะกั่ว มีองค์ประกอบทางเคมีคือตะกั่วและซัลเฟอร์ (PbS) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่รับไฟฟ้าในอากาศที่เป็นคลื่นวิทยุ เมื่อนำมาต่อประกอบกัน และใช้หูฟังจึงรับฟังวิทยุได้

ทรงแบ่งหูฟังคนละข้างกับ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

กังหันน้ำ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นปัญหามลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำเน่าเสีย พระองค์จึงทรงประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศบำบัดน้ำเสียขึ้น โดยทรงนำ “หลุก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาภูมิปัญญาชาวบ้านภาคเหนือ มาเป็นแนวคิดเบื้องต้น พระองค์ออกแบบเครื่องกล ให้มีลักษณะเป็นกังหันหมุนช้า แบบทุ่นลอย ทำให้เกิดอากาศที่ผิวน้ำ ส่งผลให้คุณภาพแหล่งน้ำดีขึ้น และทรงพระราชทานชื่อว่า กังหันน้ำชัยพัฒนา

(ซ้าย) อุปกรณ์วิดน้ำเข้านาที่เรียกว่า หลุก (ขวา) กังหันน้ำชัยพัฒนา

(ซ้าย) อุปกรณ์วิดน้ำเข้านาที่เรียกว่า หลุก (ขวา) กังหันน้ำชัยพัฒนา

กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 นับเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและของโลก ซึ่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ได้กำหนดให้เป็น วันนักประดิษฐ์ ทั้งนี้ กังหันน้ำชัยพัฒนา ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง จากองค์กรด้านนวัตกรรมแห่งเบลเยี่ยม (The Belgian Chamber of Inventors) เมื่อนำไปแสดงในงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2543

เรือใบ

เรือใบเป็นกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรด ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงแล่นเรือใบชื่อว่า เวคา ข้ามอ่าวไทยจากวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงาม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระยะทางกว่า 60 ไมล์ทะเล จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก นับเวลาราวตีสี่ครึ่งถึงราวสามทุ่มครึ่ง รวมเวลากว่า 17 ชั่วโมง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชทรงเรือใบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชทรงเรือใบ

ในวันนั้นลมอ่อน เรือใบจึงแล่นช้า พระองค์ใช้วิธีแล่นก้าว กล่าวคือแล่นเรือใบสลับฟันปลาเพื่อให้ใบเรือปะทะแรงลม ทรงใช้พละกำลังในการโหนเรือประกอบกับความรู้เรื่องน้ำและทิศทางลม เพราะหากเรือล่มก็ต้องทรงกู้เอง เมื่อถึงฝั่ง นักข่าวถามพระองค์ว่าทรงทำอะไรระหว่างบังคับเรือใบกลางท้องทะเล ทรงตอบว่า “ฟังยี่เกจากวิทยุที่นำติดกระเป๋ามา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชทรงปักธงนาวิกราชโยธิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชทรงปักธงนาวิกราชโยธิน

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงออกแบบและต่อเรือใบลำแรกด้วยพระองค์เอง เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class) พระราชทานชื่อว่า ราชปะแตน และได้ทรงใช้แข่งขันกับดยุคแห่งเอดินเบอระ (The Duke of Edinburgh) เมื่อ พ.ศ.2508 พร้อมทั้งเรือใบร่วมแข่งขันอีก 34 ลำ และทรงชนะเลิศได้ที่ 1 ในการแข่งครั้งนั้น

ต่อมายังทรงต่อเรือใบประเภทโอเค (International OK Class) ตามแบบสากลลำแรก ชื่อว่า นวฤกษ์ และทรงต่ออีกหลายลำ เช่น เวคา 1  เวคา 2  และเวคา 3 นอกจากนี้ยังทรงต่อเรือประเภทม็อธ (International Moth Class) อีกหลายลำด้วยพระองค์เองในระหว่าง พ.ศ.2509-2510 มี 3 แบบ พระราชทานชื่อว่า มด, ซูเปอร์มด และไมโครมด ทรงรับสั่งว่า

ที่ชื่อมดนั้น เพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี

ทรงใช้เรือใบประเภทโอเคที่ทรงต่อขึ้นเอง แข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทย ทรงชนะเลิศร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริโสภาพรรณวดี ซึ่งทรงได้รับคะแนนเท่ากัน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 ต่อมาภายหลังรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติ

ทรงแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4

ทรงแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4

นับว่าเป็นบุญยิ่งแก่ข้าพสกนิกรชาวไทยที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

 

แหล่งที่มาอ้างอิง
  • งามพรรณ เวชชาชีวะ. ในหลวงของเรา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2555.
  • กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ. พระอัจฉริยภาพด้านการต่อเรือ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www3.navy.mi.th/index.php/royal/detail/content_id/53. เข้าถึงเมื่อ 14 ตุลาคม 2559.
  • มูลนิธิชัยพัฒนา (The Chaipattana Foundation). เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.chaipat.or.th/2010-01-15-07-20-55/2013-05-29-17-39-32.html. เข้าถึงเมื่อ 14 ตุลาคม 2559.

0/5 (0 Reviews)

ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ ผู้หลงใหลความลับแห่งจักรวาล

error: