นักธรณีวิทยาต้องชิมหิน เพื่อช่วยในการจำแนกหินแต่ละประเภท
นักธรณีวิทยานอกจากจะใช้ประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น และสัมผัสความรู้สึกที่มือแล้ว บางครั้งอาจจะยังไม่พอสำหรับการจำแนกหินบางชนิด ดังนั้นในการสำรวจลงพื้นที่ภาคสนาม จึงต้องมีการเพิ่มสัมผัสเข้าไปอีกด้านหนึ่ง ด้วยการ “ชิมหิน” นั่นเอง
เป็นนักธรณีวิทยาต้องกินหินจริงหรือ
คำตอบคือ… “ไม่จริง”
นักธรณีวิทยาไม่ถึงกับ “กิน” หินเข้าไป
แต่สิ่งที่นักธรณีวิทยาทำคือ ขบเคี้ยว (แล้วคายออก) หรือนำก้อนหินมาขูดสีกับผิวฟัน/ปลายฟัน เสียมากกว่า
ชิมหิน ทำไปทำไมนะ
เมื่อออกภาคสนาม สิ่งหนึ่งที่นักธรณีวิทยาต้องทำคือ… ระบุชื่อหินที่พบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการทำแผนที่ธรณีวิทยาของพื้นที่ศึกษา แต่หินบางประเภทอาจต้องใช้ตัวช่วยมากกว่าประสาทสัมผัสการมองเห็น
การจำแนกหินตะกอนแบบง่ายๆ คือการแยกโดยใช้ขนาดของเม็ดตะกอนเป็นเกณฑ์ ดังสรุปไว้ในตาราง
หินตะกอนสามขนิดที่สามารถใช้การชิม/ขบเคี้ยว มาช่วยจำแนกหิน ได้แก่
1. หินทรายแป้ง (siltstone) ประกอบด้วยตะกอนขนาด silt
2. หินโคลน (mudstone) ประกอบด้วยตะกอนขนาด silt ปะปนกับ clay
3. หินเคลย์ (claystone) ประกอบไปด้วยตะกอนขนาด clay
สัมผัสของการ ชิมหิน…
เมื่อนำหินไปขูดกับผิวของฟัน/ปลายฟัน หรือขบเคี้ยวเศษหิน หากหินก้อนนั้นประกอบไปด้วยตะกอนขนาด silt จะรู้สึกถึงความเป็นเม็ดตะกอนหรือมีความขรุขระขณะขบเคี้ยว และทำให้ช่วยตัดสินใจได้ว่าหินก้อนนั้นไม่ใช่หินเคลย์แน่นอน อาจเป็นหินทรายแป้งหรือหินโคลน
แต่หากหินก้อนนั้นมีแต่องค์ประกอบของตะกอนขนาด clay เมื่อขบเคี้ยวจะไม่รู้สึกถึงเม็ดตะกอนเลย และจะสัมผัสได้ถึงความนุ่มละเอียดของ clay หรือดินนั่นเอง
ทีนี้…นักธรณีวิทยาก็สามารถระบุชื่อหินได้อย่างถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อการทำแผนที่ธรณีวิทยาและการแปลความถึงสภาพแวดล้อมการตกสะสมตัวของตะกอนเหล่านั้นได้แล้ว