Fast Radio Burst ปริศนาสัญญาณวิทยุจากฟากฟ้า ช่วยในการค้นหาจักรวาล
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ นักดาราศาสตร์ตรวจพบสัญญาณวิทยุจากอวกาศหลายครั้ง โดยมีไม่กี่ครั้งที่พบสัญญาณที่มีความเข้มเป็นพิเศษ หนึ่งในนั้นก็คือ Fast Radio Burst หรือการลุกจ้าอย่างฉับพลันในช่วงคลื่นวิทยุที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจมากๆ ด้วยอาจไขปริศนาบางอย่างของเอกภพได้ หลายคนคงเคยดูภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์อย่างเรื่อง Contact (1997) ที่นางเอกซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์พบสัญญาณวิทยุแปลกประหลาดจากดวงดาวอันไกลโพ้น ก่อนจะพบว่าเป็นคลื่นวิทยุจากโลกของเราที่สะท้อนกลับมา จึงออกแบบยานอวกาศเพื่อเดินทางไปยังแหล่งกำเนิดของมันโดยเชื่อว่าผู้ที่ส่งมาอาจเป็นมนุษย์ต่างดาวที่พยายามติดต่อกับมนุษย์โลก ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวไม่ได้เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เมื่อมนุษย์พบสัญญาณขนาดใหญ่อย่างที่ว่าจริงๆ
ปกติวัตถุต่างๆ ในอวกาศมีการปลดปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาอยู่แล้ว แม้แต่ดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ต่างๆ รวมถึงหลุมดำก็ปลดปล่อยออกมาทุกช่วงคลื่น เพียงแต่เป็นช่วงที่เรามองไม่เห็น สำหรับคลื่นวิทยุเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนแสงที่เรามองเห็น เพียงแต่ความถี่ต่ำกว่า จึงมีพลังงานต่ำกว่าและไม่เป็นอันตรายมาก ในชีวิตประจำวันเราใช้คลื่นวิทยุในการติดต่อสื่อสาร ดูหนังฟังเพลง ใช้ wi-fi ได้ก็ด้วยคลื่นวิทยุ รวมถึงใช้ในการสำรวจต่างๆ อย่างการสำรวจท้องทะเลด้วย SONAR หรือสำรวจสภาพอากาศด้วย RADAR นอกจากนี้ดาวเทียมและยานอวกาศต่างๆ ก็นิยมส่งข้อมูลด้วยคลื่นวิทยุเนื่องจากสูญเสียพลังงานต่ำ สามารถทะลุชั้นบรรยากาศมายังพื้นโลกได้ รวมถึงใช้ศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบของดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ และวัตถุอื่นๆ ได้
ในส่วนของคลื่นที่มาจากอวกาศ คลื่นวิทยุที่มีความเข้มสูงมักจะมาจากวัตถุพลังงานสูง อย่าง “พัลซาร์ (Pulsar)” ดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วและปลดปล่อยคลื่นวิทยุออกมา หรือไม่ก็ AGN แก่นดาราจักรที่มีหลุมดำมวลยิ่งยวดพลังงานสูงอยู่ตรงกลาง
ทั้งนี้ วัตถุส่วนใหญ่มักปลดปล่อยคลื่นวิทยุออกมาอย่างต่อเนื่อง คือสามารถวัดได้เรื่อยๆ แต่มีปรากฏการณ์บางอย่างที่ปลดปล่อยคลื่นวิทยุออกมาครั้งเดียวแต่พลังงานสูงมาก มีทั้งจากภายในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา และบริเวณที่อยู่ห่างออกไปหลายล้านปีแสง ปรากฏการณ์นี้ก็คือ Fast Radio Burst นั่นเอง
Fast Radio Burst คืออะไร
Fast Radio Burst (FRB) หรือการลุกจ้าฉับพลันของคลื่นวิทยุที่เกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ แต่ละครั้งกินเวลาไม่กี่มิลลิวินาที วัดได้จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนโลกและในอวกาศ โดยกราฟของ FRB จะเป็นยอดคลื่นเดี่ยวๆ ที่พุ่งขึ้นมาท่ามกลางสัญญาณขนาดเล็กต่อเนื่อง ไม่เหมือนกับพัลซาร์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและสัญญาณบนกราฟออกมาเป็นคาบชัดเจน
FRB ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2544 การตั้งชื่อ FRB จะตั้งตามปี เดือน วันที่ถูกค้นพบ เช่น FRB 010621 ซึ่งเป็น FRB อันแรกถูกค้นพบในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2001 เนื่องจาก FRB เกิดขึ้นสั้นๆ เพียงครั้งเดียว นักดาราศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า ปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการลุกจ้าสั้นๆ ได้ มี 4 สาเหตุหลักๆ ได้แก่
- การระเบิดหรือการชนกันระหว่างวัตถุที่มีพลังงานสูงอย่างดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ
- การระเบิดของซูเปอร์โนวาพลังงานสูงที่อยู่ห่างไกล
- Blitzar หรือพัลซาร์ที่หมุนช้าลงจนแรงหนีศูนย์กลางสู้แรงโน้มถ่วงไม่ไหว จึงยุบตัวกลายเป็นหลุมดำ ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบ Blitzar เป็นเพียงข้อสมมติฐานเท่านั้น
- การระเบิดของดาวนิวตรอนในระบบดาวคู่ มักเกิดกับระบบที่เป็นดาวนิวตรอน 1 ดวงกับดาวฤกษ์หรือดาวแคระขาว เมื่อดาวนิวตรอนเกิดเข้าไปใกล้คู่ของมันจนไปดึงมวลของอีกฝ่ายมาเพิ่มให้กับตนเอง กระทั่งเกินขีดจำกัดที่รับไหวจึงเกิดการระเบิดหรือยุบตัว
ส่วนมาก FRB จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ไม่เกิดซ้ำที่จุดเดิมอีก ดูเผินๆ จึงเป็นเหมือนปรากฏการณ์ธรรมดาทั่วไป แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากสิ่งที่ทำให้ FRB เกิดไม่ธรรมดาขึ้นมา คือการที่มันมีสัญญาณปรากฏขึ้นซ้ำๆ ตรงจุดเดิม แถมเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง หลังตรวจพบ FRB ที่มาจากแหล่งกำเนิดเดิมไม่ต่ำกว่า 17 ครั้ง แถมมาจากจุดที่ห่างไกลมากๆ ในเอกภพด้วย
121102 – Rogue One ในหมู่ FRB
FRB 121102 เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุพลังงานสูงที่อยู่ห่างออกไปราว 3 พันล้านปีแสงในกลุ่มดาวสารถี (Auriga) ค้นพบเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 โดย Dr. Laura Spitler จาก Max Planck Institute for Radio Astronomy ทว่าหลังจากนั้น 3 ปี คือปี 2558 กลับพบการปะทุอีก 2 ครั้งในเดือนพฤษภาคม อีก 8 ครั้งในเดือนมิถุนายน และล่าสุดอีก 6 ครั้งรวดในเดือนพฤศจิกายน โดยครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในเวลาเพียง 10 นาที การค้นพบดังกล่าวได้รับการยืนยันในเดือนมีนาคม 2559 และตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysics Journal เมื่อ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
ในส่วนของสัญญาณวิทยุที่เกิดขึ้นซ้ำๆ นั้น ถูกพบโดยกลุ่มนักดาราศาสตร์จากหลายประเทศ นำโดย Paul Scholz จาก McGill University ประเทศแคนาดา โดยการปะทุ 6 ครั้งล่าสุดนั้น ถูกตรวจพบโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีชื่อเสียงของโลก 2 ตัว ตัวแรกคือกล้องโทรทรรศน์ Green Bank (GBT) ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ตรวจพบการปะทุ 5 ครั้ง แต่ละครั้งมีขนาด 2.0 GHz ส่วนอีก 1 ครั้งมีขนาด 1.4 GHz พบโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Arecibo ทางตอนเหนือของเครือรัฐเปอร์โตริโก (Puerto Rico) ที่หลายคนอาจคุ้นเคยจากภาพยนตร์ James Bond ภาค GoldenEye และยังปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Contact ด้วย
เหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าเป็นสัญญาณวิทยุจากที่เดียวกันจริงๆ เนื่องจากในการศึกษา FRB จะมีการวัดค่า Dispersion Measure (DM) หรือความหนาแน่นของประจุไฟฟ้าตลอดเส้นทางจากแหล่งกำเนิดจนถึงโลก อนุภาคเหล่านี้จะหน่วงให้คลื่นวิทยุเดินทางช้าลง ซึ่ง FRB มักจะมีค่านี้สูงมากเทียบกับวัตถุที่อยู่ในบริเวณเดียวกันแต่อยู่ในทางช้างเผือก จึงสามารถระบุได้ว่าเป็นการลุกจ้าที่มาจากนอกกาแล็กซีของเรา
แผนภาพแสดงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดต่างๆ ที่ปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดพร้อมกันแต่ถูกอิเล็กตรอนหน่วงจนเคลื่อนที่ช้าลง โดยมีผลกับคลื่นยาว (สีแดง) มากกว่าคลื่นสั้น (สีฟ้า) คลื่นยาวจึงเดินทางช้ากว่าคลื่นสั้น เลยเห็นเป็นยอดคลื่นที่เวลาต่างกัน (Cr. Nik Spencer/Nature; Source: Fig. 1 In Keane, E. F. et al. Nature 530, 453–456 (2016))
สำหรับคลื่นที่ออกมาจาก FRB 121102 พบว่าทุกครั้งมีค่า DM เท่ากันคือ 559 ตัวต่อลูกบาศก์เซนติเมตรในหนึ่งพาร์เซก (cm−3 pc) ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกาแล็กซีทางช้างเผือกถึง 3 เท่า สัญญาณทั้ง 17 ครั้งจึงน่าจะมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน
ว่าแต่สัญญาณดังกล่าวมีลักษณะออกมาซ้ำๆ แบบนี้ จะเป็นสัญญาณจากมนุษย์ต่างดาวแบบในเรื่อง Contact หรือเปล่านะ?
การปะทุซ้ำๆ เป็นลักษณะเฉพาะของ FRB 121102 ที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจมาก เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถหาข้อสรุปมาอธิบายได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ไม่น่าจะมาจากดาวระเบิดหรือดาวชนกันที่ทำให้เกิดการปะทุได้ครั้งเดียวแน่ๆ นักดาราศาสตร์จึงสันนิษฐานเหตุการณ์ที่อาจทำให้เกิด FRB ไว้ 3 รูปแบบ คือ
- เป็นพัลซาร์อายุน้อย หรือดาวนิวตรอนสนามแม่เหล็กสูง (Magnestar) ที่เพิ่ง active ในช่วงแรกๆ
- พัลซาร์ธรรมดาๆ ถูกบังโดยดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อย สัญญาณจึงขาดหายเป็นช่วงๆ
- โนวาของดาวนิวตรอนในระบบดาวคู่ที่เข้าใกล้คู่ของมันมากเกินไป เพียงแต่เกิดการการระเบิดเป็นช่วงๆ
ทั้งนี้ คลื่นวิทยุที่ถูกส่งจากจุดที่ไกลถึง 3 พันล้านปีแสง ไกลกว่ากระจุกกาแล็กซีของเราที่มีขนาด 10 ล้านปีแสงเสียอีก แสดงว่าแหล่งกำเนิดของมันต้องอยู่ไกลออกไปมากๆ แถมไม่ใช่จากการระเบิดเพียงครั้งเดียว ปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการปะทุนี้จะต้องใหญ่มากๆ หากสิ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้นอยู่นอกเหนือไปจาก 3 เหตุการณ์ที่ทำนายไว้แล้ว อาจเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเกินกว่าที่ความรู้ในปัจจุบันจะอธิบายได้ แต่ที่แน่ๆ ไม่น่าจะเป็นฝีมือของมนุษย์ต่างดาวแน่นอน ด้วยพลังงานของ FRB ที่เกิดขึ้นมีค่ามหาศาลมาก คิดเป็นประมาณ 1036 TeV (หรือ 4π x 1036 TeV เนื่องจากพลังงานจากแหล่งกำเนิดมีการแผ่ออกไปทุกทิศทางเป็นคลื่นทรงกลม) ขนาดเครื่องเร่งอนุภาคที่ CERN ยังสร้างได้สูงสุดเพียง 14 TeV ไม่ถึงเศษเสี้ยวของ FRB ด้วยซ้ำ จึงต้องเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ยักษ์ระดับดวงดาวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่ FRB 121102 ที่เกิดการปะทุซ้ำ ยังมี FRB 121002 ในกลุ่มดาว Octant ที่เคยเกิดการปะทุ 2 ครั้งไล่เลี่ยกันเพียงแค่ 5.1 มิลลิวินาทีเท่านั้น แต่การปะทุซ้ำๆ ที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นกับ FRB 121102 เพียงแห่งเดียว ทำให้มันเป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุที่นักดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลกจับตามอง ด้วยคาดหวังว่าจะมีการปะทุเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้
Fast Radio Burst สำคัญอย่างไร?
ตั้งแต่ FRB ถูกค้นพบมา นักดาราศาสตร์ก็ให้ความสนใจกับการตรวจจับสัญญาณของ FRB ให้ได้มากๆ โดยมองว่าการศึกษา FRB ก็เหมือนกับการฉายแสงไฟไปบนที่มืดที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน แต่ปัจจุบันมีการค้นพบ FRB บนท้องฟ้าเพียง 20 กว่าแห่งเท่านั้น ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่าในหนึ่งวันมี FRB เกิดขึ้นราว 2,000 ถึง 10,000 ครั้ง เพียงแต่เกิดขึ้นเร็วมากจนกล้องตรวจจับไม่ทัน หรือมีพลังงานอ่อนเกินไปจนกล้องแยกแยะไม่ได้ เพราะการจะพบ FRB ได้นั้น กล้องดังกล่าวจะต้องบังเอิญกราดผ่านตำแหน่งที่เกิดขึ้นพอดี
ในส่วนของการศึกษาตัว FRB เอง นอกจากหาข้อสรุปว่า FRB เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่แล้ว นักดาราศาสตร์ยังพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างการระเบิดในช่วงคลื่นวิทยุกับช่วงคลื่นอื่นด้วย โดยล่าสุดนักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบการปะทุของรังสีแกมมา (Gamma ray burst) ใน FRB อีกอันหนึ่งที่ชื่อ FRB 131104 นอกเหนือจากคลื่นวิทยุแล้วด้วย เมื่อเราได้ข้อมูลจากช่วงคลื่นต่างๆ มากพ เราอาจสร้างโมเดลของ FRB ขึ้นมาเพื่ออธิบายตัว FRB ได้ชัดเจนมากขึ้น
ในส่วนของนักดาราศาสตร์ที่เชื่อว่า FRB เกิดจากการระเบิดหรือการชนกันของดาวนิวตรอนหรือหลุมดำที่สามารถทำให้เกิดคลื่นแรงโน้มถ่วงได้ ไม่แน่ว่า FRB อาจเป็นร่องรอยแรกๆ ของปรากฏการณ์แรงโน้มถ่วงเชิงควอนตัม (Quantum Gravity Effect) ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ ณ ขณะนี้
นอกจากนี้ ผลที่ได้โดยอ้อมจากการศึกษา FRB ก็คือค่า Dispersion Measure ที่วัดได้ เพราะค่านี้สามารถบอกได้ว่าแต่ละจุดในเอกภพมีความหนาแน่นเท่าไร หากเราพบ FRB มากขึ้น ก็อาจทำแผนที่คร่าวๆ ของเอกภพได้ ยิ่งไปกว่านั้น FRB ยังอาจบอกเราได้ว่าเอกภพประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะปัจจุบันเราเชื่อว่าเอกภพมีสสารที่เรามองเห็นเป็นส่วนประกอบเพียง 5% เท่านั้น ที่เหลือเป็นสสารมืดและพลังงานมืดที่มองไม่เห็น แต่มีอิทธิพลกับวิวัฒนาการของเอกภพ ไม่แน่การศึกษา FRB อาจนำไปสู่คำนวณสัดส่วนองค์ประกอบของเอกภพได้แม่นยำขึ้น
จะเห็นได้ว่า แม้แต่การระเบิดเล็กๆ (แต่ยิ่งใหญ่ไม่น้อย) ในอวกาศอย่าง FRB ก็สามารถแตกแขนงให้เกิดคำถามใหม่ๆ รวมถึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยนักดาราศาสตร์หาคำตอบของจักรวาลได้อีกมากมาย ตั้งแต่องค์ประกอบของสสารระหว่างดาวจนถึงวิวัฒนาการของเอกภพ ไม่แน่ FRB นี่ละที่อาจช่วยไขปริศนาการกำเนิดของเอกภพให้เราก็เป็นได้
ดาราศาสตร์วิทยุ: กุญแจสู่เอกภพยุคแรกเริ่ม
ดาราศาสตร์วิทยุ (Radio Astronomy) เป็นสาขาหนึ่งของดาราศาสตร์ที่ศึกษาปรากฏการณ์ในอวกาศต่างๆ ในช่วงคลื่นวิทยุ ตามที่กล่าวเอาไว้ในตอนต้นว่า คลื่นวิทยุเป็นคลื่นพลังงานต่ำสามารถทะลุผ่านชั้นบรรยากาศของโลกมาได้ ในขณะที่คลื่นอื่นๆ จะถูกบล็อกหรือดูดซับโดยโมเลกุลแก๊สต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ การจะเก็บข้อมูลในช่วงคลื่นที่สูงขึ้นไปได้ชัดเจน จะต้องส่งกล้องโทรทรรศน์ที่ออกแบบมาสำหรับความยาวคลื่นนั้นๆ ขึ้นไปอยู่ในวงโคจรรอบโลกเพื่อลดผลกระทบจากชั้นบรรยากาศ ในขณะที่คลื่นวิทยุเราสามารถสร้างกล้องโทรทรรศน์ที่รับจากบนพื้นโลกได้เลย แถมกล้องวิทยุยังสามารถเก็บข้อมูลจากวัตถุท้องฟ้าในเวลากลางวันก็ได้ ต่างจากกล้องเชิงแสงที่ต้องรอให้ถึงเวลากลางคืนจึงจะเปิดใช้งาน
นับตั้งแต่ Karl Jansky วิศวกรของ Bell Labs ค้นพบสัญญาณวิทยุจากนอกโลกเป็นครั้งแรกในปี 1933 ปัจจุบันมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนโลกมากกว่า 100 แห่งกระจายตัวอยู่ในทุกทวีป โดยแบ่งออกเป็นกล้องวิทยุแบบเดี่ยว (Individual radio telescope) และแบบแทรกสอด (Interferometer) ซึ่งใช้จานรับสัญญาณหลายจานเรียงต่อกัน แต่ละแห่งจะออกแบบจานรับสัญญาณให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางสอดคล้องกับความยาวคลื่นของคลื่นวิทยุที่ต้องการตรวจวัด เพื่อให้มี “กำลังขยาย” สูงพอจะแยกสัญญาณดังกล่าวออกได้
1. กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบเดี่ยว (Individual Radio Telescope) เป็นกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่สูง สำหรับศึกษาวัตถุท้องฟ้าในช่วงคลื่นวิทยุความยาวคลื่นระดับมิลลิเมตร ประกอบด้วยตัว mount กับจานรับสัญญาณ (single-dish) แบบจานดาวเทียม หรือเป็นเสาอากาศ (antenna) รูปร่างต่างๆ ก็ได้ กล้องวิทยุแบบเดี่ยวที่สำคัญ ได้แก่
- Arecibo Observatory ขนาด 305 เมตร เมือง Arecibo เครือรัฐเปอร์โตริโก
- Robert C. Byrd Green Bank Telescope (GBT) ขนาด 100 เมตร สูงพอๆ กับอนุสาวรีย์วอชิงตัน
- Parkes Radio Telescope ขนาด 64 เมตร ตั้งอยู่ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
- RATAN-600 ขนาด 576 เมตร เป็นกล้องวิทยุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่ Zelenchukskaya ประเทศรัสเซีย ประกอบด้วยกระจกปฐมภูมิสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกันในแนวรัศมี มีกระจกทุติยภูมิเป็นวงแหวนอยู่ล้อมรอบ สัญญาณวิทยุจะสะท้อนจากกระจกปฐมภูมิไปยังกระจกทุติยภูมิก่อนสะท้อนเข้าเครื่องรับสัญญาณ
ล่าสุดที่ประเทศจีน มีการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Tianyan หรือ FAST (Five-hundred Meter Aperture Spherical Telescope) ขนาด 500 เมตร ขึ้นบนแอ่งระหว่างหุบเขาในมลฑลกุ้ยโจว เมื่อเปิดใช้งานจะเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุเดี่ยวแบบจานรับสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่นับ RATAN-600 เนื่องจากอันหลังไม่ได้เป็นจานเดี่ยว แต่ประกอบขึ้นจากกระจกหลายๆ แผ่นต่อกัน
2. กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบแทรกสอดสัญญาณ (Radio Interferometer) ประกอบด้วยกล้องวิทยุหลายๆ ตัวเรียงต่อกัน อยู่เป็นกลุ่ม หรือจะเป็นเครือข่ายของกล้องวิทยุที่อยู่ห่างกันข้ามทวีปก็ได้ มีไว้ศึกษาโครงสร้างภายในของวัตถุที่อยู่ห่างไกลมากๆ อย่างใจกลางกาแล็กซีอื่นๆ ซึ่งต้องใช้กล้องที่มีกำลังขยายสูงมากๆ ถึงจะสังเกตเห็นได้ ซึ่งลำพังกล้องตัวเดียวทำไม่ไหวแน่ๆ จึงต้องใช้กล้องหลายๆ ตัวทำงานร่วมกัน รวมถึงศึกษาคลื่นวิทยุคลื่นยาวในระดับเซนติเมตรจนถึงหลายเมตร ตั้งแต่คลื่นจาก AGN ที่อยู่ไกลออกไปมากจนถึงคลื่นที่เหลืออยู่จากเอกภพยุคแรกๆ กล้องที่มีชื่อเสียง ได้แก่
- Very Large Array (VLA) ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา
- Atacama Large Millimeter Array (ALMA) ตั้งอยู่บนเทือกเขาแอนดีส ประเทศชิลี
- Very Large Baseline Interferometer (VLBI) เป็นเครือข่ายระหว่างกล้องวิทยุหลักๆ ทั่วโลก ทำหน้าที่เหมือนเป็น “จานรับสัญญาณ” ขนาดเท่าโลก ไว้คอยรับสัญญาณคลื่นวิทยุที่ความยาวคลื่นยาวมากๆ
ในส่วนของประเทศไทยก็ไม่ยอมน้อยหน้า เพราะสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ NARIT ของเรา ก็มีแผนจะสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบจานเดี่ยวขนาด 40 เมตร และแบบเสาอากาศขนาด 13 เมตรขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะถือเป็นกล้องวิทยุตัวแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย หากกล้องตัวนี้สร้างเสร็จ วงการดาราศาสตร์วิทยุของไทยจะต้องก้าวไกลไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ แน่นอน
เหตุที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกทุ่มเทกับการศึกษาคลื่นวิทยุเป็นอย่างมาก เนื่องจากคลื่นวิทยุทำให้เราเห็นเอกภพในมุมมองที่ตาของเราไม่สามารถมองเห็นได้ ได้เห็นโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ภายในดวงอาทิตย์ หรือแม้แต่กาแล็กซีของเราจนนำไปสู่การค้นพบพัลซาร์และแหล่งคลื่นวิทยุ Sagittarius A* ที่ใจกลางกาแล็กซี รวมถึงช่วยให้เราพบวัตถุพลังงานสูงที่อยู่ห่างไกลอย่าง AGN หรือเควซาร์
นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ก็กำลังให้สนใจกับการศึกษาเอกภพยุคแรกเริ่ม เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการกำเนิดของเอกภพ รวมถึงโครงสร้างของเอกภพในยุคนั้น เช่น ดาวดวงแรกๆ หรือกาแล็กซีในยุคแรกๆ มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่การที่จะเข้าใจเอกภพในยุคแรกได้นั้น จะต้องค้นหาวัตถุท้องฟ้าที่ถือกำเนิดในยุคนั้นซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นหลักพันล้านปีแสง แม้วัตถุเหล่านั้นจะดับสิ้นไปแล้ว แต่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากมันยังหลงเหลืออยู่เนื่องจากแสงต้องใช้เวลาเดินทางเป็นพันล้านปีกว่าจะมาถึงเรา คลื่นที่แผ่ออกมามีหลายชนิดก็จริง แต่ก็ถูกการขยายตัวเอกภพยืดออกเป็นคลื่นวิทยุหมดสิ้น ยิ่งห่างออกไปมาก คลื่นก็ยิ่งยาวมาก เลยต้องใช้กล้องวิทยุที่มีกำลังขยายสูงๆ ถึงจะแยกสัญญาณจากวัตถุเหล่านั้นได้
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ดาราศาสตร์วิทยุก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการไขปริศนาเอกภพ ถึงขนาดที่ชาติต่างๆ ยังให้ความร่วมมือสร้างเครือข่ายระหว่างกล้องแต่ละแห่งขึ้นมาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใหญ่ขึ้น เพราะโดยพื้นฐานของดาราศาสตร์แล้ว การที่เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ บ่งชี้ว่าเอกภพของเรายังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้จักและรอการค้นหา การค้นหาความรู้ใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้
ผู้เขียนขอขอบคุณ พี่ภูมิ หรือนายจอมพจน์ วงศ์เพชรอักษร บัณฑิตภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขา Astrophysics ที่ Rheinische Friedrich-Wilhelms-Universität Bonn ประเทศเยอรมนี ที่ช่วยตรวจทานและให้คำแนะนำแก่ผู้เขียนตลอดในการเขียนบทความฉบับนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก: Astrophysics Journal, AstronomyNow, Ancient-Code, NARIT, Nature, NRAO, NSF/HartRAO, Sciencenew, Wikipedia (Fast Radio Burst, Radio Astronomy, Radio Telescope)
หมายเหตุ
– พาร์เซก (parsec; pc) เป็นหน่วยระยะทางที่ใช้ในอวกาศ วัตถุที่อยู่ห่างจากโลก 1 พาร์เซก จะมีการเปลี่ยนตำแหน่งไปเมื่อใช้วิธี Parallax (การวัดตำแหน่งดาวจากโลกห่างกัน 6 เดือน) เป็นมุม 1 พิลิปดา (arcsecond) หรือ 1/3600 องศา เทียบกับดาวพื้นหลัง โดย 1 พาร์เซก มีขนาดเท่ากับ 3.26 ปีแสงหรือประมาณ 30.8 ล้านล้านกิโลเมตร
– หน่วย [cm-3 pc] หมายถึงความหนาแน่นของอิเล็กตรอนตลอดความยาว 1 พาร์เซก หากต้องการทราบความหนาแน่นของอิเล็กตรอนในอวกาศจริงจะต้องหารด้วยระยะทางจากโลกถึงวัตถุนั้นในหน่วยพาร์เซกอีกทีหนึ่ง
– อิเล็กตรอนโวลต์ (electronvolt) เป็นหน่วยวัดพลังงาน 1 eV เท่ากับพลังงานที่ใช้เร่งอิเล็กตรอน 1 ตัวให้เคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่มีความต่างศักย์ 1 โวลต์ มีค่าเท่ากับ 1.602 x 10-19 J สำหรับพลังงานขนาด 1 TeV เท่ากับ 1 x 10¹² eV หรือ 1.602 x 10-7 J ยังถือว่าน้อยมาก เท่ากับพลังงานจลน์ของยุง 1 ตัวที่บินอยู่เท่านั้น