TOP

นักวิจัยไทยไปสำรวจขั้วโลกเหนือ พบน้ำทะเลขั้วโลกอุ่นขึ้นเฉลี่ย 5 องศา หมีขาวกินมอสแทนแมวน้ำ

รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ และ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับผู้ร่วมวิจัยจากประเทศไทยท่านอื่นๆ อีก 13 ชีวิต ได้เดินทางไปสำรวจขั้วโลกเหนือ ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าอุณหภูมิที่ขั้วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่า 5 องศาเซลเซียส และพบเห็นกลุ่มหมีขาวกำลังกินมอสและพืชเป็นอาหาร

การสำรวจขั้วโลกเหนือของนักวิจัยไทยในปี 2561

การเดินทางไปสำรวจขั้วโลกเหนือของอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและคณะนักวิจัยในครั้งนี้ เริ่มสำรวจกันตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมาไปจนถึงวันที่ 12 สิงหาคมนี้ เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขั้วโลกเหนือ โดยคณะสำรวจจะเก็บข้อมูลสภาพน้ำ สัตว์ ตะกอนน้ำ เพื่อมาทำการศึกษาวิเคราะห์ เป็นข้อมูลเปรียบเทียบสภาพของขั้วโลกใต้และขั้วโลกเหนือ ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเช่นไร ภายใต้ความร่วมของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อุณหภูมิขั้วโลกสูงขึ้น หมีขาวเริ่มกินพืชแทนสัตว์ทะเล

จากปฏิบัติการดำน้ำสำรวจของคณะนักวิจัยพบว่า อุณหภูมิที่ขั้วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิปกติ มากกว่า 5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น อาจเป็นผลให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดี และพบแมงกะพรุน และหวีวุ้น (สัตว์จำพวกแมงกะพรุน) จำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต

ปฏิบัติการดำน้ำสำรวจของคณะนักวิจัย

ปฏิบัติการดำน้ำสำรวจของคณะนักวิจัย

แมงกะพรุนขนาดเล็ก

แมงกะพรุนขนาดเล็ก

สิ่งมีชีวิตในบริเวณขั้วโลกเหนือจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร เนื่องจากไม่สามารถหาอาหารได้อย่างเพียงพอ โดยคณะนักวิจัยพบเห็นแม่หมีขาวพร้อมกับลูกๆ กำลังกินมอสและพืชชนิดอื่นเป็นอาหาร จากปกติที่หมีขาวจะเป็นสัตว์กินเนื้อ เช่น แมวน้ำเป็นอาหาร ประกอบกับการผ่าซากของหมีขาวในบริเวณพื้นที่ ก็พบปริมาณของพืชมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยการกินพวกพืชเป็นอาหารมากๆ จะทำให้หมีขาวมีสภาพร่างกายอ่อนแอและไม่แข็งแรง

กลุ่มหมีขั้วโลกกำลังกินมอส

กลุ่มหมีขั้วโลกกำลังกินมอส

ขณะเก็บตัวอย่างดิน

ขณะเก็บตัวอย่างดิน

ขณะเก็บตัวอย่างน้ำ

ขณะเก็บตัวอย่างน้ำ

ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แนวหน้า

0/5 (0 Reviews)

ผู้ร่วมก่อตั้งชมรม SCIREN ชอบการทำสื่อและการตลาด ชอบวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ

error: