TOP

ยกกล้องขึ้นส่อง “ปอนด์ สุตนันท์” ชายผู้รักการดูนกเป็นชีวิตจิตใจ

มาทำความรู้จักกับ “ปอนด์” นิสิตปริญญาโท จากภาควิชาชีววิทยาผู้รักการดูนกเป็นชีวิตจิตใจ เขาเริ่มสนใจและศึกษาเรื่องนกมาตั้งแต่มัธยมปลาย จนกลายมาเป็นโปรเจคจบปริญญาตรี
ปัจจุบันเราอาจจะตามหานกยากเข้าไปทุกที แต่ผู้ชายคนนี้กำลังชี้ชวนให้เราดูนก ถ้าพร้อมแล้วขยับแว่น ปรับสายตาให้พร้อม แล้วเริ่มส่องชีวิตของชายผู้นี้กันเลย

แนะนำตัวหน่อยครับ

ชื่อ สุตนันท์ ปิ่นมณีนพรัตน์ นะครับ ชื่อเล่นชื่อปอนด์ ตอนนี้เรียนจบปริญญาตรี จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กำลังเรียนป.โท สาขาสัตววิทยาอยู่ครับ ทำวิจัยตั้งแต่ป.ตรีมา ก็เกี่ยวกับเรื่องนกเป็นหลักเลย

ทำไมถึงสนใจเข้าคณะวิทยาศาสตร์

มันเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ เราเป็นคนชอบดูนู่นดูนี่ พวกเก้าอี้ โต๊ะ อะไรพวกนี้ หนังสือกลุ่มแรกๆ ที่ซื้อมาเลยคือสารานุกรมภาพ ในตอนแรกพ่อแม่ซื้อเอามาให้ดูพวกศัพท์ภาษาอังกฤษ พอหลังๆ ก็เริ่มชอบ และเราอ่านจบแล้วก็อยากเห็นอะไรใหม่ๆ เลยไปขอพ่อแม่ซื้อบ้าง ซื้อเองบ้าง พอเห็นหนังสือพวกนี้เราก็จะเห็นการจัดหมวดหมู่ของสิ่งต่างๆ อย่างเช่นบางบทจะเป็น เครื่องใช้ เครื่องเขียน

มันทำให้เราก้าวมาสู่อีกจุดหนึ่งก็คือ เราเริ่มอยากจะจำแนกสิ่งต่างๆ ก็พยายามจะดูว่ามันมีความสัมพันธ์กันยังไง จนมีหนังสือเล่มนึงที่ได้มา คือหนังสือรวมพันธุ์ปลาในประเทศไทยทั้งน้ำจืดน้ำเค็ม ทำให้เราเห็นว่า เฮ้ย ปลามันมีหลายชนิดนะ เลยจุดประกายให้เราอยากไปเห็นปลาพวกนั้นจริงๆ ว่าหน้าตามันเป็นยังไง ชอบไปพวกอควาเรี่ยมอะไรพวกนี้ แต่ปลามันดูยาก เราก็ขยายไปหาสิ่งที่มันมองหาง่ายกว่า ไปดูแมลงก็ต้องไปดักมันมาเอาสวิงไปจับ ไปดูกิ้งก่าจิ้งเหลนไรพวกนี้ให้ตายก็ยังหาไม่เจอเลย สุดท้ายเลยกลายเป็นนก เราเริ่มดูนกตั้งแต่ประถมปลาย ตอนนั้นมันมีวิชา Bird Watching เป็นวิชาเลือกเสรีของโรงเรียน เลยได้อยู่กับนกมาตลอดนับตั้งแต่ตอนนั้น ทีนี้ก็อยากจะไปเรียนหลายคณะแหละ ดูทั้งสถาปัตย์ วิศวะ หมออะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าเราอยากศึกษานก คือมันไม่มีอะไรที่จะไปหานกได้โดยตรง แต่ที่นี่เป็นที่เดียวที่เราจะได้ศึกษานกจริงๆ ก็เลยเลือกวิทยาศาสตร์ก็แล้วกัน

ที่นี่เป็นที่เดียวที่เราจะได้ศึกษานกจริงๆ ก็เลยเลือกวิทยาศาสตร์ก็แล้วกัน

แล้วพอเข้ามาเรียนภาควิชาชีววิทยา การดูนกของเราเปลี่ยนไปไหม

นับตั้งแต่เด็กๆ มามันก็คือการดูเพื่อความเพลิดเพลิน ดูเพราะว่าเราอยากจะเจอตัวใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน แต่พอเราได้เข้ามาเรียนทางชีวะ สิ่งมีชีวิตหนึ่งตัวมันจะมีมุมมองหลายอย่างด้วยกัน ทำให้เรารู้สึกอยากจะรู้จักมันในหลายมุมมองมากขึ้น เพราะฉะนั้นการดูนกมันไม่ใช่แค่เราได้เจอตัวใหม่ มันคือการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากที่ตรงนั้นที่เราเห็น สมมติเราเจอนกหนึ่งตัว สวย ชอบ เราก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ ตัวผู้ตัวเมียต่างกันยังไง แล้วทำไมมันต้องต่างกัน แล้วมันทำรังเมื่อไหร่ ทำไมถึงอยู่ที่นี่ เกิดคำถามเข้ามาในใจ ซึ่งสมัยก่อนที่ยังไม่ได้เข้าคณะมันก็อาจจะยังไม่ได้คิดถึงเรื่องพวกนี้เยอะ ก็เป็นหลักความคิดทางวิทยาศาสตร์แหละ ที่ทำให้การดูนกเปลี่ยนไป

การดูนก ให้อะไรกับเราบ้าง

ประโยชน์โดยตรงมันก็ลำบากอะนะ ก็สนุกแหละ แต่เราจะได้ทักษะการสังเกตเพิ่มขึ้น พูดง่ายๆ เลย ก็จะเป็นคนที่หูไวตาไวกว่าคนปกตินิดนึง พอได้ยินเสียงอะไรเราก็จะรับรู้ทิศทางของเสียงได้แม่นยำขึ้นอะไรประมาณนั้น นกแต่ละตัวจะมีลักษณะต่างๆ กัน นกบางตัวคล้ายกันมาก เลยต้องใช้การสังเกตถึงระดับๆ นึง ต้องใช้ทั้งการมองเห็นและเสียง นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ปลูกฝังเราไปโดยไม่รู้ตัว คือ พอเราชอบดูนก เราอยากเห็นมันในธรรมชาติ ก็จะเกิดขึ้นมาในใจว่า ถ้าเราอยากให้นกอยู่ต่อไป เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้มันมีอยู่ เลยจะพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเองขึ้นมา คนก็จะรักธรรมชาติมากขึ้นไปโดยปริยาย

ถ้าเราอยากให้นกอยู่ต่อไป เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้มันมีอยู่ เลยจะพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเองขึ้นมา คนก็จะรักธรรมชาติมากขึ้นไปโดยปริยาย
มีเทคนิคส่วนตัวในการดูนกไหม
จริงๆ มันก็เป็นเทคนิคที่เค้าทำกันหลายคน คือการที่เราจะดูนกชนิดหนึ่ง เราก็ต้องรู้ชีววิทยาของมัน ว่ามันนิสัยอย่างไร ก็จะทำให้เราไปหามันได้ง่ายขึ้น เช่น นกกินปลาอย่างนกกะเต็น จะขึ้นไปยืนบนตอ แล้วบินลงไปโฉบ ถ้าเราอยากจะเห็นมันตอนโฉบก็ต้องดูว่าปกติมันจะหาอาหารกี่โมง หรือการจะหาตัวมันได้ ก็ต้องหาที่ๆ มีน้ำหรือมีตอ ถ้ามีน้ำไม่มีตอหรือมีตอไม่มีน้ำก็จะหาไม่เจอ

บรรยากาศการเรียนการสอนในภาควิชาเป็นอย่างไร

ตามหลักของภาควิชา องค์ประกอบของมันก็คือเพื่อนกับอาจารย์และห้องเรียน สำหรับเพื่อนก็จะเห็นว่ามีเพื่อนหลายๆ แบบมาอยู่ด้วยกัน สำหรับรุ่นเราเองจะมีการแข่งขันกันพอสมควร ทำให้แต่ละคนมีความกระตือรือร้นในการอ่านหนังสือมาเยอะ อาจารย์ส่วนใหญ่ก็ช่วยสนับสนุนนักเรียนดีนะ พอสงสัยอะไรก็ไปถาม

มีสิ่งไหนที่พอเรียนไปแล้วทำให้เรารู้สึกว้าวมากที่สุด

คนอาจจะรู้กันอยู่แล้ว ก็คือ นกมันเป็นญาติกับไดโนเสาร์ จึงอาจพูดได้ว่านกเป็นไดโนเสาร์ที่เหลือรอดอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นใครที่ชอบไดโนเสาร์ก็มาดูนกได้นะ (ฮา)

ทำไมถึงเลือกเข้าชมรมอนุรักษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

มันก็เริ่มจากการดูนกนี่แหละ ตอนปี 1 มีค่ายของชมรมจัดไปเที่ยวป่า เราก็คิดว่าน่าจะได้ดูนกอะไรแบบนี้ พอเราไปก็ได้ดูนกตามสมใจอยาก แต่ก็ได้เห็นอะไรอีกหลายๆ อย่าง เช่น มีพี่คอยดูแล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในคณะ และยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่ทำให้เราได้พัฒนาความสามารถ เลยทำให้เรารู้สึกว่าอยากทำชมรมต่อ พอพี่ทำอะไรดีๆ ให้ เราก็อยากจะส่งให้น้องต่อไป และค่ายของชมรมมันก็จะมีกิจกรรมตอนเช้าของทุกวันอยู่แล้วก็คือ ดูนก เราก็จะทำหน้าที่เป็นคนนำดูนก ชี้นกให้คนดู

เห็นว่าจะมีโครงการพาดูนกในมหาลัยด้วย เป็นอย่างไรบ้าง

อันนี้เคยจัดมาแล้วครั้งนึง ของที่ใช้ก็จะมีแค่กล้องสองตา จริงๆ มันไม่มีก็ได้แหละ แต่ถ้ามีก็จะทำให้การดูนกมันชัดขึ้น แล้วก็ให้คนได้ตื่นเช้า เพราะนกมีกิจกรรมการหากินตอนเช้าสูงสุด เราเลยเลือกช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน เดินดูนกรอบๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งมีตามที่บันทึกไว้ก็เกือบๆ ร้อยชนิดแล้วนะ ใช้เวลาดูก็แล้วแต่เลย แต่เราจะนัดประมาณ 7 โมง ดูไปจนถึง 7.45 น. อะไรแบบนี้ ให้เวลาเค้าไปเรียนด้วย ส่วนใครที่ว่างสนใจดูต่อ ก็จะดูกันไปจนถึงประมาณ 9 โมง ตอนที่แดดเริ่มร้อน คนก็จะสลายตัวออกไป และในเร็วๆ นี้อาจจะมีอีกครั้งนึง รอติดตามข่าวแล้วกัน

ที่ประจำสำหรับดูนกในจุฬาฯ มีที่ไหนบ้าง

จุดดูนกก็มีรอบๆ สระน้ำจุฬา สนามหน้าพระรูป สวนข้างหอประชุม ต้นโพหน้าหอกลาง เรือนพระรตราชา-จุฬานฤมิตร ธรรมสถาน

มีอะไรอยากจะฝากถึงน้องๆ ไหม

วิทยาศาสตร์เนี่ยจะว่าไปมันก็เป็นวิชาที่ไม่ใช่วิชาชีพ แต่สิ่งที่เราได้มาจากการเรียนวิทยาศาสตร์ก็คือวิธีคิด ที่ทุกคนถูกพร่ำสอนมาในวิชาโครงงานว่าต้องมีการตั้งปัญหา พอมันมีปัญหาก็จะต้องไปค้นคว้าว่ามีเหตุอะไรที่ทำให้มันเกิดขึ้น มีการตั้งสมมติฐาน มีการทดสอบสมมติฐานนั้น เสร็จแล้วเราก็สรุปผล และอภิปรายว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ซึ่งพวกนี้มันไม่ได้ใช้กับวิทยาศาสตร์อย่างเดียว มันสามารถเอาไปใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้หมดเลย แค่แม้กระทั่งเราจะกินข้าว หรือเราจะไปที่ไหน เราสามารถที่จะคิดด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ วิทยาศาสตร์วันเป็นวิชาที่กว้างๆ เอาไปทำอะไรก็ได้ถ้าเรามีความคิดที่ดี

สิ่งที่เราได้มาจากการเรียนวิทยาศาสตร์ก็คือวิธีคิด

แผนในอนาคต อยากทำอะไร

ก็อาจจะไปเรียนต่อปริญญาเอกในต่างประเทศถ้ามีโอกาส หลังจากนั้นก็คงจะเป็นอาจารย์ในสายชีววิทยาเพราะต้องใช้ทุนต่อไป

0/5 (0 Reviews)

ผู้ร่วมก่อตั้งชมรม SCIREN ชอบการทำสื่อและการตลาด ชอบวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ

error: