TOP

ยิ่งมองไกลเท่าไหร่ ยิ่งเข้าใกล้เราเท่านั้น เปิดโลกอวกาศและดาราศาสตร์กับ “กลด บวรปรัชญ์”

เมื่อเอ่ยชื่อวิชา “ฟิสิกส์” เชื่อว่าหลายๆ คนอาจร้องยี้ เพราะในสายตาของคนทั่วไป วิชาฟิสิกส์ถือเป็นยาขมที่จำต้องกิน โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์ แต่จริงๆ แล้วฟิสิกส์สำคัญกับชีวิตประจำวันของเรามาก และยังมีหลายด้านที่ไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด จึงไม่ควรจะมองข้าม วันนี้เราจะไปพบกับ “กลด” ผู้มีความหลงใหลในวิชาดาราศาสตร์ ที่จะมาเล่าอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจของฟิสิกส์และดาราศาสตร์ที่อาจทำให้มุมมองของใครหลายๆ คนเปลี่ยนไปก็เป็นได้

แนะนำตัวหน่อยครับ

สวัสดีครับ ผมชื่อ บวรปรัชญ์ วิจารณ์วรรณลักษณ์ ชื่อเล่นชื่อ กลด เป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 80 มีความสนใจด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ตอนนี้กำลังทำโปรเจกต์เกี่ยวกับดาราศาสตร์อยู่ครับ

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้อยากเรียนดาราศาสตร์

พอดีชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ตอนเด็กๆ คุณพ่อและคุณแม่จะซื้อหนังสือแนววิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะและดนตรีมาให้ผมอ่าน พออ่านแล้วรู้สึกเจ๋งดีนะ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่องอะพอลโล 11 สุดยอดมาก รู้สึกเหมือนเป็นความสำเร็จสุดยอดของมนุษยชาติ พอตอน ป.6 ผมถึงรู้สึกว่าดาราศาสตร์มันใช่สำหรับตัวเองมากที่สุด

จากนั้นพอเข้ามัธยมฯ ก็มีโอกาสเข้าค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกวิชาการของศูนย์จุฬาฯ ได้เรียนทฤษฎี ได้สังเกตดาวจริงๆ ปีสุดท้ายที่เข้าค่ายคือปี 2555 ก็ได้เป็นตัวแทนของศูนย์ฯ ไปแข่งระดับชาติได้เหรียญเงิน นอกจากนี้ก็เคยเข้าค่ายวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศหรือ IESO ของ สสวท.แต่ไม่ได้เป็นตัวแทน และก็เคยทำโปรเจกต์ดาราศาสตร์ง่ายๆ กับศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์หรือ LESA ด้วย

มีด้านที่สนใจเป็นพิเศษไหม

ตอนนี้ที่ผมสนใจหลักๆ ก็คือเรื่องวิวัฒนาการกาแล็กซี ซูเปอร์โนวา และการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เพราะตอนนี้ทฤษฎีกำเนิดระบบดาวเคราะห์ที่เรามีสามารถใช้กับระบบสุริยะของเราได้เท่านั้น พอเราเจอระบบอื่นที่แตกต่างออกไปก็ต้องหาคำอธิบายใหม่

ส่วนที่กำลังทำเป็นโปรเจกต์ในตอนนี้ ผมกำลังศึกษา Quasar ซึ่งเป็น Active Galactic Nuclei (AGN) ชนิดหนึ่ง AGN เป็นบริเวณหนึ่งๆ ในกาแลกซีที่จะมีกำลังส่องสว่างที่มาก บางครั้งก็มากกว่าตัวกาแลกซีเอง กาแลกซีที่มี AGN นั้นจะเรียกว่า Active Galaxy และปัจจุบันมีการทำวิจัยเรื่อง AGN อยู่ทั่วโลก งานนี้ผมทำกับ อ.ดร.วิภู รุโจปการ ที่เขียนหนังสือเรื่องเอกภพ: เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของจักรวาล ซึ่งตอนนี้ก็เป็นอาจารย์ประจำที่จุฬาฯ นี่ด้วย

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

คือเจ้า Quasar ที่ได้พูดถึงเมื่อกี้ มันมีกำลังส่องสว่างมากกว่ากาแล็กซีที่มันอยู่เสียอีก และมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างเรื่อยๆ นักดาราศาสตร์ก็สงสัยว่ามันไปเอาพลังงานมาจากไหนกันถึงได้สว่างขนาดนี้ จึงมีการคิดว่าสิ่งเดียวที่จะให้พลังงานเยอะขนาดนั้นได้ ก็คือความร้อนจากแก๊สที่กำลังตกลงไปในหลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive Black Hole) ที่มีมวลเป็นพันล้านเท่าของดวงอาทิตย์ และปลดปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างเช่นแสงออกมาให้เราเห็น

จุดพีคแรกมันอยู่ตรงนี้ นักดาราศาสตร์ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติของส่วนโป่งของกาแลกซี (Spherical Bulge) กับขนาดของมวลหลุมดำมวลยิ่งยวดข้างใน คุณสมบัติที่ว่านั้นก็มีขนาดมวลของ Bulge กำลังส่องสว่าง กับการกระจายตัวของความเร็วดาวภายใน Bulge เป็นต้น ความสัมพันธ์เหล่านี้เรายังอธิบายไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร แต่นักดาราศาสตร์เชื่อว่าทั้งสองอย่างต้องพัฒนาด้วยกัน มันต้องเกี่ยวข้องกันและมาด้วยกันในวิวัฒนาการของกาแลกซี ทีนี้จุดพีคสองคือ AGN ที่เราดูนั้นมีหลุมดำมวลยิ่งยวดที่กำลังกินมวลมหาศาล มันคือหลุมดำเด็กที่กำลังโต ดังนั้นการศึกษา AGN จึงกลายเป็นช่องทางหนึ่งในการศึกษาวิวัฒนาการของกาแลกซีนั่นเอง

หน้าที่ของผมคือศึกษากลุ่มแก๊สรอบๆ หลุมดำมวลยิ่งยวดนี้ ถ้าเราสามารถวัดความเร็วของมวลที่โคจรรอบหลุมดำได้ เราก็จะทราบมวลคร่าวๆ ของหลุมดำนั้น เพราะเราเชื่อว่าการเติบโตของหลุมดำมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของกาแล็กซี ถ้าเราเข้าใจมัน เราก็อาจจะอธิบายวิวัฒนาการของกาแล็กซีรวมถึงทางช้างเผือกของเราได้ด้วย

เราเชื่อว่าการเติบโตของหลุมดำมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของกาแล็กซี ถ้าเราเข้าใจมัน เราก็อาจจะอธิบายวิวัฒนาการของกาแล็กซีรวมถึงทางช้างเผือกของเราได้ด้วย

ช่วงที่ทำโปรเจกต์ มีโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติมข้างนอกบ้างไหม

ตอนปิดเทอมช่วงปี 1 ขึ้นปี 2 ผมมีโอกาสได้ไปฝึกทำวิจัยกับ อ.วิภู ที่ Kavli Institute of Physics and Mathematics of the Universe หรือ IPMU ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ด้วยเราเป็นเด็ก ป.ตรี ปี 1 คนเดียวไปอยู่ในที่ที่นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลกทำวิจัยกัน

มาช่วงปี 3 เทอมปลาย ผมกับเพื่อนๆ ก็มีโอกาสได้ไปใช้กล้องบนยอดดอยอินทนนท์ทำงานโดยมี อ.วิภูสนับสนุน เพื่อนผมถ่ายรูปเนบิวลามาได้ด้วย แต่ไม่ได้ถ่ายปุ๊บได้ปั๊บนะ ต้องผ่านกระบวนการเยอะแยะ รวมๆ แล้วใช้เวลาเป็นวันกว่าจะได้รูปสวยๆ แบบที่เห็นออกมา

หลังจากนั้นผมก็ได้ไปญี่ปุ่นอีกครั้ง ไม่ใช่แค่รอบเดียวนะแต่ไปถึง 2 รอบ รอบแรกไปในฐานะเด็ก SAKURA Program ซึ่งเป็นโครงการของญี่ปุ่นที่พานักศึกษาจากประเทศต่างๆ ทั้งอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปทำวิจัยเบื้องต้นที่นั่น ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่ฟิสิกส์ ยังมีสาขาอื่น เช่น เคมี ธรณี ชีวะด้วย คราวนี้ผมไปที่ Tokyo Metropolitan University ก็ได้ทั้งเรียน ทั้งเที่ยว ได้ไปทัศนศึกษาที่ Miraikan หรือ National Museum of Emerging Science and Innovation อีกด้วย

ส่วนรอบที่ 2 ไปที่หอดูดาวในจังหวัด Okayama เพื่อฝึกสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์กับรุ่นน้องและอาจารย์ที่ทำงานด้วยกันที่ญี่ปุ่น ที่นั่นผมได้รู้เลยว่านักดาราศาสตร์เขาไม่ได้แค่ส่องกล้องดูดาวคนเดียว ต้องทำร่วมกันหลายๆ คน อากาศเปลี่ยนทีก็ต้องปรับแผนใหม่ แถมกล้องก็ไม่ใช่จะขอได้ฟรีๆ นะ เวลาจะใช้ต้องควักเงินจ่ายค่าเช่า (หรือใช้งบทำวิจัย) ใครบอกว่าเงินซื้อเวลาไม่ได้ ต้องมาเป็นนักดาราศาสตร์ครับ (ฮา)

(ซ้าย) M16 หรือ Eagle Nebula ในกลุ่มดาวงู ถ่ายโดยกล้อง Hubble ในฟิลเตอร์ต่างๆ แล้วนำมารวมกันโดยใช้โปรแกรมเฉพาะ
(ขวา) NGC 7293 หรือ Helix Nebula ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ถ่ายโดยใช้กล้อง TST ของ NARIT ที่ชิลี ผลงานของนายธนกร อังควัฒนะ นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ หนึ่งในสมาชิกทีมนักดาราศาสตร์รุ่นใหม่ของจุฬาฯ

พอได้ไปทำวิจัยจริงๆ มีอะไรต่างจากที่คิดตอนแรกหรือเปล่า

ต่างกันมากเลยครับ ตอนเข้าค่ายโอลิมปิกฯ เราเรียนแต่ทฤษฎีกับปฏิบัติ ไม่เคยได้ลองทำวิจัยจริงๆ จังๆ แบบที่นักดาราศาสตร์เขาทำกันเลย พอมาทำจริงๆ ถึงได้รู้ว่าต่างกันลิบลับ มันมีอะไรยิ่งกว่านั้นมาก ไม่เหมือนแก้โจทย์ทฤษฎี ข้อมูลที่เราเห็นน่ะจริงๆ มีรายละเอียดอีกเยอะที่เราต้องจัดการ แถมเราต้องเขียนโปรแกรมเอง แก้ปัญหาเอง สิ่งแรกเลยที่อาจารย์ให้ทำคือเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการลงมือทำจริง แล้วงานทางดาราศาสตร์นี้ไม่ได้ทำเดือนสองเดือนเสร็จนะ บางอย่างต้องใช้เวลาเตรียมการและสังเกตการณ์อีกหลายสิบปี วิเคราะห์ข้อมูลก็ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี กว่าจะออกมาเป็นองค์ความรู้ที่เราเรียนนี่ใช้เวลานานมาก

จากที่ได้ทำวิจัยมา ประทับใจอะไรมากที่สุด

ความทุ่มเทของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกันครับ ตอนอยู่ที่ IPMU ผมเห็นกระดานดำที่เต็มไปด้วยสูตรสมการ ซึ่งแน่นอนผมไม่รู้เรื่องเลย (ฮา) แต่ก็เห็นนักฟิสิกส์นักดาราศาสตร์มานั่งทานกาแฟทานข้าวด้วยกันและคุยกันเรื่องเปเปอร์คุยกันเรื่องวิจัย มันเป็นบรรยากาศที่สุดยอดมาก มันเห็นถึงความทุ่มเทของคนที่ต้องการตอบคำถามที่อยากรู้ ที่สำคัญทุกคนมีความสุขมากในการทำงานในการแก้ปัญหาและการช่วยเหลือกัน สามารถสัมผัสได้เลย

ปัจจุบันนักดาราศาสตร์สนใจอะไรกันอยู่

ตอนนี้นักดาราศาสตร์ก็สนใจวิวัฒนาการของกาแล็กซี ซูเปอร์โนวา รวมถึงวัตถุต่างๆ ในระบบสุริยะ กำเนิดเอกภพ และอีกเยอะมาก จริงๆ ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนด้วย เพราะเอกภพมันกว้าง มันเลยน่าสนใจไปหมด ซึ่งก็เป็นข้อดี บางคนทำวิจัยเรื่องหนึ่งแต่ก็ติดตามการวิจัยอีกเรื่องหนึ่งด้วย อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ฟีลด์นี้ไปเร็วมาก ตอนนี้เราอาจศึกษาความรู้ของ 20 ปีที่แล้ว วันต่อมาอาจมีข้อมูลใหม่ๆ ทำให้เราต้องมานั่งศึกษาอีกก็เป็นได้ แถมบางเรื่องก็ศึกษากันเร็วมากจนต้องเตรียมเรื่องที่จะศึกษากันต่อไว้ด้วย ไม่งั้นตกงานแน่นอน (ฮา)

อะไรคือความเจ๋งของดาราศาสตร์

ดาราศาสตร์เป็นอะไรที่ผูกพันกับเรามาก มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว เอาง่ายๆ ตื่นเช้ามา ก็เจอดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ฤดูกาลนี่ก็มาจากแกนโลกเอียง สภาพอากาศก็มาจากผลของดวงอาทิตย์ สิ่งมีชีวิตเกิดได้ก็เพราะดวงอาทิตย์ พลังงานจากดวงอาทิตย์ถูกพืชนำไปสังเคราะห์ด้วยแสง สะสมเป็นอาหาร สัตว์กินพืช เกิดเป็นห่วงโซ่อาหาร เกิดเป็นวัฎจักร ดาราศาสตร์ยังทำให้เราเข้าถึงกำเนิดของทุกสิ่ง เอกภพ ระบบสุริยะ รวมถึงค้นหาโลกอื่นๆ ว่ามีดาวที่เหมือนโลกอีกมั้ย สิ่งมีชีวิตนอกโลกมีจริงรึเปล่า ผมว่านี่ละคือความเจ๋งของมัน

ทำไมเราต้องศึกษาเรื่องกำเนิดเอกภพ

ผมที่เป็นสายสังเกตการณ์ เราก็อยากรู้ว่าจักรวาลนี้ ตัวเรานี้เกิดมาได้ยังไง เหมือนเป็นองค์ความรู้ซะมากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ ความอยากรู้ของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด มันเลยเป็นแรงบันดาลใจให้คนได้มาก แต่ที่สำคัญกว่าคือระหว่างทางเราจะพบว่ารอบๆ ตัวเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วส่งผลต่อกันและกันในแง่ใด

ดาราศาสตร์ก็เหมือนไทม์แมชชีน เราส่องวัตถุที่อยู่ห่างไกล เหมือนเรายิ่งมองย้อนเข้าไปในอดีต ยิ่งไกลเท่าไหร่ ก็ยิ่งย้อนกลับเข้าไปใกล้จุดกำเนิดของเรามากขึ้นเท่านั้น

คิดว่าฟิสิกส์น่าสนใจอย่างไร มีประโยชน์กับชีวิตของคนเราในด้านไหนบ้าง

ผมว่าฟิสิกส์เป็นสิ่งที่สำคัญนะ เทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ทุกวันก็เกี่ยวพันกับฟิสิกส์ รู้จักทรานซิสเตอร์แบบสารกึ่งตัวนำมั้ย คนคิดชื่อ John Bardeen เป็นนักฟิสิกส์ที่ได้รางวัลโนเบลตั้ง 2 ครั้ง ซึ่งต่อมาก็พัฒนามาเป็น CPU ในคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เช่นสายไฟ ระบบไฟฟ้า พื้นฐานไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ก็เพราะฟิสิกส์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เราใช้กันอยู่ เทคโนโลยีรอบๆ ตัวเราแทบทุกอย่างเริ่มจากแนวคิดพื้นๆ สทางด้านฟิสิกส์ทั้งนั้น ฟิสิกส์อาจเป็นสิ่งที่คนไม่ชอบ แต่ก็ทำให้เราสะดวกสบายอยู่ได้ในทุกวันนี้

ดาราศาสตร์อาจจะไกลตัวนิดนึง แต่ก็นำเครื่องมือทางฟิสิกส์ไปใช้ในการสำรวจอวกาศ ในทางกลับกัน หลายๆ อย่างที่คิดขึ้นมาเพื่อใช้ในการสำรวจอวกาศ ก็ต่อยอดมาเป็นอุปกรณ์ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันเช่นกัน อย่างเช่น มือถือที่เราใช้นี่ก็เกิดจากนาซ่าคิดอุปกรณ์ไร้สายที่ใช้ถ่านชาร์จแทนสายไฟสำหรับใช้ในอวกาศ เหล็กดัดฟันเดิมก็ใช้โลหะผสมทนความร้อนที่ใช้ทำจรวจ แม้แต่อาหารอบแห้งในสุญญากาศนี่ก็พัฒนามาจากอวกาศของนักบินอวกาศอีกที

ฟิสิกส์อาจเป็นสิ่งที่คนไม่ชอบ แต่ก็ทำให้เราสะดวกสบายอยู่ได้ในทุกวันนี้

มาที่ภาควิชาฟิสิกส์กันบ้าง ช่วยเล่าเรื่องของดาราศาสตร์ที่จุฬาฯ ให้ฟังหน่อย

สำหรับดาราศาสตร์ที่จุฬาฯ ต้องขอบอกว่าตอนนี้อยู่ในช่วงฟื้นตัว เพราะเคยห่างหายไปนาน จนกระทั่งสองสามปีนี้เริ่มมีเด็กที่สนใจดาราศาสตร์เข้ามากันมาก มีทั้งรุ่นพี่ รุ่นผม และก็รุ่นน้อง ส่วนผู้สอนเริ่มมีอาจารย์จบใหม่ที่เชี่ยวชาญสาขานี้เข้ามามากขึ้น รวมเก่าและใหม่ก็ 4-5 คน

ในส่วนของวิชาที่เปิดสอนจะมี 4 วิชา ตัวแรกคือ Introduction to Astronomy เป็นการปูพื้นฐานดาราศาสตร์ที่ควรรู้ทั้งหมดเพื่อเทรนคนเข้าสู่ field นี้ ตัวนี้ผมไม่ได้ลงเรียน เพราะอาจารย์บอกว่าพื้นฐานผมแน่นแล้ว แต่วิชานี้เป็นวิชาเปิด ทุกคนเข้ามาเรียนได้ไม่ว่าจะคณะไหนก็ตาม ครุศาสตร์ก็เข้ามาเรียนกันเยอะ

ต่อไปเป็นวิชา Celestial Mechanics (กลศาสตร์ท้องฟ้า) สอนเกี่ยวกับวงโคจรของวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์เป็นวงรี ดาวเทียมส่วนใหญ่เป็นวงกลม ส่วนดาวหางหรืออุกกาบาตมีทั้งที่เป็นวงรี (มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ มีคาบแน่นอน มาแล้วมีโอกาสมาอีก) เป็นพาราโบลา ไฮเพอร์โบลา (พวกนี้ถูกแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ดึงเข้ามาชั่วคราว พอผ่านไปแล้วจะกลับสู่ชั้นนอกของระบบสุริยะ ไม่กลับมาอีก) นอกจากนี้ยังสอนคำนวณการเคลื่อนที่ของดาวเทียมหรือยานอวกาศ ว่าเราจะส่งมันไปดาวดวงอื่นๆ ยังไง

ส่วนอีกวิชาก็คือ Spherical Astronomy (ดาราศาสตร์ทรงกลม) จะสอนในสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นมาหน่อย เช่น การเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า พิกัดต่างๆ ที่ใช้ในดาราศาสตร์ การวัดมุม ทำให้เราสามารถระบุตำแหน่งดาว หาเวลาขึ้นตกของดาว และสามารถคำนวณเวลาต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังเรียนเรื่องฤดูกาล การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ เรียนแล้วเราจะรู้ว่า ผลของแกนโลกที่เอียงนี่ทำให้ดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าไม่ได้เคลื่อนที่เป็นเส้นตรงตลอดทั้งปี แต่วิ่งขึ้นเหนือในหน้าร้อน (ในซีกโลกเหนือ) และลงใต้ในหน้าหนาว (คล้ายคลื่นไซน์) ทำให้กลางวันกลางคืนของแต่ละวันยาวไม่เท่ากัน

สุดท้ายคือวิชา Theoretical Astrophysics (ฟิสิกส์ดาราเชิงทฤษฎี) มีทั้ง ป.ตรีและ ป.โท ของ ป.ตรีจะสอนเนื้อหาเบื้องต้น เกี่ยวกับทฤษฎีกำเนิดระบบสุริยะ การหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ดาวฤกษ์ รวมถึงปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในดาวฤกษ์

นอกจากนี้ดาราศาสตร์ยังใช้ฟิสิกส์สาขาอื่นๆ ด้วย ทั้ง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Mechanics รวมถึง Quantum ด้วย เพราะมันต้องใช้ประยุกต์ อีกอันนึงที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ Computational Physics (ฟิสิกส์เชิงคำนวณ) เพราะดาราศาสตร์ต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างแบบจำลองกันเยอะมากๆ

ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ระหว่างไทยกับหน่วยงานระดับโลก

สำหรับประเทศไทยก็ถือว่าไม่น้อยหน้าใครเลยนะ เรามีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT เป็นตัวหลัก ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานสากลอื่นๆ เรามีหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติที่เชียงใหม่ มีหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติที่ จ.นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และหอดูดาวอื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับ University of North Carolina Chapel Hill จัดตั้งกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติซีกฟ้าใต้ Thai Southern Hemisphere Telescope (TST) ขนาด 0.6 เมตรตั้งอยู่ที่ Cerro Tololo Inter-American Observatory (CTIO) บนเทือกเขาแอนดีส ประเทศชิลี หนึ่งในไม่กี่ที่บนโลกที่ท้องฟ้าเปิดแทบตลอดทั้งปี ล่าสุดนี้เรามีโครงการจะสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 40 เมตรที่เชียงใหม่ ซึ่งสุดยอดมากๆ ถ้านึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นยังไงให้นึกถึงกล้อง Arecibo ที่เปอร์โตริโก หรือกล้อง FAST ขนาด 500 เมตรที่จีน คิดดูว่าถ้าประเทศไทยมีกล้องวิทยุเป็นของตัวเองจะเจ๋งขนาดไหน ในอนาคตเราคงเห็นโครงการอีกมากมายในด้านดาราศาสตร์ ดังนั้นติดตามต่อไปนะครับ

ตอนนี้ดาราศาสตร์ที่ภาควิชาฟิสิกส์ทำอะไรกันอยู่

ตอนนี้ก็มีอาจารย์ 3 คนกำลังทำโปรเจกต์อยู่ คนแรกคือ ผศ.อำนาจ สาธานนท์ กำลังทำด้านดาราศาสตร์วิทยุ ร่วมมือกับอาจารย์ที่ ม.เชียงใหม่และ NARIT อีกคนที่ศึกษาดาราศาสตร์วิทยุเหมือนกันก็คือ อ.วิภู แต่ท่านก็ทำด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ซูเปอร์โนวา AGN และอีกมากมาย ร่ายไม่หมด (ฮา)

ส่วน อ.ดร.ไพศาล ตู้ประกาย ท่านสนใจเรื่องระบบสุริยะเป็นหลัก ตอนนี้กำลังทำเรื่องการวัดจำนวนนิวตรอนร่วมกับอาจารย์ชาวต่างชาติที่มหิดล คือ Prof. Dr. David Ruffolo (ไม่ได้เป็นญาติกับ Mark Ruffalo ที่เล่นเป็นเดอะฮัลค์นะ!) รู้มั้ยว่าประเทศไทยเป็นที่ที่ตรวจวัดจำนวนนิวตรอนได้มากที่สุด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรด้วย ท่านทั้งสองก็เลยสนใจมากๆ

นอกจากดาราศาสตร์แล้ว ภาคฟิสิกส์ยังมีของดีอื่นๆ อีกมั้ย

ภาควิชาฟิสิกส์มีกลุ่มวิจัยอยู่ทั้งหมด 8 กลุ่ม เช่น Condensed Matter (สสารควบแน่น), Advanced Materials, Biological Physics (ฟิสิกส์ชีวภาพ), Optics (ทัศน์ศาสตร์) และ Acoustics (สวนศาสตร์ หรือฟิสิกส์ของเสียง) เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาฟิสิกส์ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ โดยทุกกลุ่มวิจัยจะมีความเจ๋งอยู่เป็นตัวของมันเอง งานที่ทำในภาควิชาก็กว้างขวางเหมือนกัน เช่น Material กับ Condensed matter เราพัฒนาวัสดุต่างๆ เช่นฟิล์มบางกับโซลาร์เซลล์ ฟิสิกส์อนุภาคเราก็มีแล็บทาร่วมกันเซิร์น มีฟิสิกส์อุตสาหกรรม ฟิสิกส์ทฤษฏีเราก็เก่งใช่ย่อย อาจารย์เราวิจัยอยู่หลายด้านเช่นกันตั้งแต่ทฤษฏีเกี่ยวกับของแข็งถึงทฤษฏีกำเนิดเอกภพ แถมยังมีฟิสิกส์ของการกรองของเสียในไต พูดได้ว่าเราอยู่ทุกที่จริงๆ (ฮา) อาจารย์ของเราก็เก่งมากๆครับ หลายท่านเขียนหนังสือขายด้วย เช่น Higgs Boson อนุภาคพระเจ้า, ทะลุมิติวิทยาศาสตร์ใน Interstellar และอีกหลายเล่ม

ที่ภาควิชามีโครงการใหม่ชื่อ CUniverse มันคืออะไรเหรอ?

CUniverse ย่อมาจาก โครงการยกระดับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศระดับโลกด้านฟิสิกส์ฐานรากของเอกภพ ที่นี่เราศึกษาเอกภพโดยใช้ความรู้ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ทฤษฎี และฟิสิกส์อนุภาค ในส่วนของฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เราจะศึกษาเอกภพในส่วนที่จับต้องได้ ก็คือใช้ข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์ ส่วนฟิสิกส์ทฤษฎีจะเป็นกลุ่มของ อ.อรรถกฤต โดยนำทฤษฎีของฟิสิกส์พลังงานสูงมาอธิบายเอกภพ ส่วนฟิสิกส์อนุภาคก็ศึกษาอนุภาคต่างๆ ที่พบในเอกภพ เช่น ฮิกส์โบซอน เป็นต้น โครงการนี้เป็นโครงการเปิด ใครสนใจก็ติดต่อภาควิชาเข้ามาจอยกันได้

จบฟิสิกส์ทำอะไรได้บ้าง

เท่าที่ทราบก็เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ไปเป็นนักวิจัยให้กับหน่วยงานต่างๆ บางคนก็ไปเป็นครูสอนตามโรงเรียน หรือถ้าสนใจสายประยุกต์ก็ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมก็ได้ ก็มีหลายคนที่ไปทำโรงงานซีดี ฮาร์ดดิสก์ อ้อ จบฟิสิกส์ก็เป็นตำรวจได้นะ ส่วนใหญ่ก็ทำงานในกองพิสูจน์หลักฐาน เพราะเราใช้ฟิสิกส์ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของวัสดุต่างๆ ที่พบในที่เกิดเหตุ หรือแม้แต่วิเคราะห์วิถีกระสุนหรือรถชนก็ใช้ฟิสิกส์ด้วยเช่นกัน (ฟิสิกส์มันสามารถต่อยอดได้หลายด้านมากๆครับ)

ความประทับใจในภาคฟิสิกส์

อย่างแรกเลย ภาคฟิสิกส์ของเราเล็กมาก เราเลยเป็นภาควิชาที่อบอุ่น ทุกคนมีความใกล้ชิดกัน ทั้งในรุ่นเดียวกันและระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง รวมถึงอาจารย์ ซึ่งหลายๆ คนก็เป็นศิษย์เก่าที่นี่

ทีนี้ เนื่องจากภาคเรามีขนาดเล็ก ทำให้ทุกคนที่ศึกษามีโอกาสได้ใกล้ชิดกัน ช่วยเหลือกันด้วย เจอระหว่างทางก็สามารถถามตอบได้ คุยไม่จบก็นัดคุยกันต่อได้ ใครสนใจอะไรก็สามารถเข้าไปหาอาจารย์ที่เก่งในสาขานั้นได้เลย จะนัดเจอกันทุกสัปดาห์ แต่ละคนก็จะไปศึกษาเปเปอร์มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน ที่สำคัญคือถ้าเรียนสาขานี้แล้วเราอาจจะได้ผูกพันกันไปชั่วชีวิต บางคนเป็นนักศึกษามีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ พอจบมาเข้าทำงานเป็นนักวิจัยเป็นอาจารย์ก็ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์คนเดิม พูดได้ว่าเราไม่เคยขาดจากกัน

เห็นคนชอบบอกว่าฟิสิกส์ยาก สำหรับกลดแล้วเป็นอย่างไร

มีอะไรในโลกนี้บ้างที่ไม่ยาก? ผมคิดว่าทุกวิชามันก็ยากในแบบของมันเองนะ ขึ้นอยู่กับเราว่าเราถนัดอะไร และเราคุ้นเคยกับมันมั้ยมากกว่า

อยากให้ทุกคนถอยหลังมาก้าวนึง ค่อยๆ มองฟิสิกส์จากคอนเซปต์ ว่าแต่ละเรื่องมีหลักการ มีความเกี่ยวข้องกันยังไง แล้วค่อยใช้คณิตศาสตร์มองให้ลึกขึ้น

ส่วนตัวผมอยากให้เริ่มมองฟิสิกส์จากหลักการ จริงๆ หลักการมันเรียบง่าย แต่ต้องทำความคุ้นเคยกับมันมากพอ หลังจากคุ้นเคยกับหลักการแล้ว ค่อยใช้คณิตศาสตร์เข้าช่วย เพื่อนผมหลายคนชอบฟิสิกส์จากหลักการนี่ละ แต่ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ยังไงก็ต้องพึ่งคณิตศาสตร์อยู่ดี พอคณิตศาสตร์มาจับปุ๊บ เราจะเห็นความสวยงามอีกขั้นหนึ่งของฟิสิกส์ ซึ่งนักฟิสิกส์ๆจำนวนมากประทับใจ (เรียกได้ว่าฟิน) กับความสวยงามนั้นๆ อยากให้ทุกคนถอยหลังมาก้าวนึง ค่อยๆ มองฟิสิกส์จากคอนเซปต์ ว่าแต่ละเรื่องมีหลักการ มีความเกี่ยวข้องกันยังไง แล้วค่อยมองให้ลึกขึ้น โดยใช้คณิตศาสตร์ แต่เอาเข้าจริงมันก็ยากจริงๆ นะแหละ (ฮา)

เป้าหมายสูงสุดของกลดคืออะไร

ผมรู้สึกว่าดาราศาสตร์ยังเข้าไม่ถึงประชาชนทั่วไปมากนัก ผมอยากจะใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนต่อกลับมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศ กลับมาพัฒนาองค์ความรู้ ให้คนไทยได้รู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์มากขึ้น อยากให้การวิจัยดาราศาสตร์ในประเทศพัฒนาเป็นที่สุดของเอเชียเลย แต่ถ้าเป็นตอนนี้คงต้องสอบเข้า ป.โทให้ได้ก่อนละครับ (ฮา)

อยากกลับมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ทำให้การวิจัยดาราศาสตร์ของไทยเป็นที่สุดของเอเชีย

สำหรับคนที่สนใจหรืออยากเรียนดาราศาสตร์ มีวิธีการค้นหาตนเองอย่างไรที่บอกได้ว่าเราชอบด้านนี้จริงๆ

อย่างแรกที่อยากให้ทำเลยก็คือ กดติดตามเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น NASA ESO หรือ NARIT เพราะตอนนี้ทุกอย่างก็อยู่ในอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว หรือจะ Facebook Twitter เขาก็มีนะ อีกวิธีนึงก็คืออ่านวารสารต่างๆ ก็มีหลาย topic ที่น่าสนใจ หรือถ้าอยากค้นคว้า แหล่งรวมเอกสารทางวิชาการ เช่น Arxiv, Astrobites หรือสารานุกรมเสรีอย่างวิกิพีเดียก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี (แนะนำให้เป็นภาษาอังกฤษนะ) ถ้าอยากลงลึก ก็ไปดูที่เอกสารอ้างอิง หรือเข้า Google เอาคีย์เวิร์ดต่อด้วย NASA เป็นต้น แต่ถ้าต้องการคำตอบไวๆ ที่ NARIT หรือ สมาคมดาราศาสตร์ไทยก็มีผู้เชียวชาญหลายท่าน ที่สามารถติดต่อสอบถามได้ (อาจารย์หลายคนที่จุฬาฯ ก็เป็นสมาชิกอยู่)

ส่วนน้องๆ ที่อยากรู้ว่าดาราศาสตร์เรียนกันยังไง หากพอมีความรู้ด้านฟิสิกส์หรือดาราศาสตร์อยู่บ้าง ก็อยากให้ลองสมัครเข้าค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกวิชาการ ที่ศูนย์โอลิมปิกฯ ในภูมิภาคของเราดู ดาราศาสตร์โอลิมปิกไทยถือว่ามีคุณภาพ อาจารย์ที่สอนโอลิมปิกเก่งๆ ทั้งนั้น เขาช่วยคุณนำไปต่อยอดได้แน่นอน การแข่งขันออกมาเป็นยังไงไม่สำคัญ เพราะหากเราผ่านเข้าค่ายได้ ก็มีสิทธิยื่นโควตาสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะอื่นๆ อย่างแพทย์หรือวิศวะได้

นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการต่างๆ เช่น ค่ายเยาวชนคนดูดาวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของ NARIT หรือกิจกรรมดูดาวของสมาคมดาราศาสตร์ไทย จัดขึ้นให้คนทั่วไปได้เข้ามาสัมผัสการทำงานของนักดาราศาสตร์ หากมีประกาศเมื่อไหร่ น้องสามารถสมัครหรือเชิญชวนเพื่อนๆ ไปสมัครหรือเข้าร่วมกิจกรรมตรงนี้ได้ เผื่อจะช่วยจุดประกายและสนใจเรียนด้านนี้ในอนาคต

สุดท้ายอยากจะบอกอะไรกับน้องที่สนใจมาเรียนฟิสิกส์หรือดาราศาสตร์บ้าง
สำหรับน้องๆ มัธยมที่สนใจจะเป็นนักฟิสิกส์นะครับ เช็คให้ดีๆว่าตัวเองชอบไหม ถ้ามันใช่ก็ลุยเลยเข้าโอลิมปิกฟิสิกส์หรือดาราศาสตร์ ไปหาเรื่องแข่งขัน ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับฟิสิกส์ ตั้งใจทำเกรดให้ดี พยายามรุกเข้าไปหาฟิสิกส์ ตอนสมัครเรียน ป.ตรี จะได้มีประวัติเจ๋งๆ สำหรับรับตรงและมีพื้นฐานดีๆ สำหรับการเรียน หลังจากที่เข้าเรียนได้แล้วก็พยายามรักษาเกรดไว้ ที่สำคัญลองเริ่มทำวิจัยกับอาจารย์ตั้งแต่ปีหนึ่งเลย ยิ่งเร็วยิ่งดี เป็นการค้นหาตัวเองอีกรอบว่าสนใจหัวข้อไหนของฟิสิกส์บ้าง แล้วก็ทำงานไปเรื่อยๆ พยายามให้งานนั้นสามารตีพิมพ์ได้ ตอนสมัครเรียนตัวงานตีพิมพ์ทั้งหลายจะช่วยให้เราดูน่าสนใจแตกต่างจากผู้สมัครรายอื่นตอนสมัครเรียนต่อ ป.โท ป.เอก โดยสรุปคือ ตั้งใจ ทุ่มเท ลุยเลย ที่สำคัญ อย่าลืมมาเข้าจุฬาฯ เยอะๆ นะคร้าบบบบบบบบบบบ!

*ปัจจุบัน กลดสำเร็จการศึกษาแล้วจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุนการศึกษา International Graduate Program for Advanced Science (IGPAS) จากกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอกด้านดาราศาสตร์ ณ บัณฑิตวิทยาลัย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโทโฮกุ (Tohoku University) โดยระหว่างนี้ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

4.5/5 (2 Reviews)

ผู้ร่วมก่อตั้งชมรม SCIREN ชอบการทำสื่อและการตลาด ชอบวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ

error: