TOP

โนโรไวรัส นักฆ่าแห่งฤดูหนาว ทนต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อ

ช่วงนี้ หลายคนอาจจะเห็นข่าว หรือได้รับเรืองราวที่แชร์ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ให้ระวังโรคอาหารเป็นพิษ หรือโรคท้องร่วง จากการติดเชื้อโรคชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า “โนโรไวรัส” ที่ระบาดอยู่ในตอนนี้ ซึ่งไม่ใช่เชื้อก่อท้องเสียไก่กาธรรมดาๆ เพราะเชื้อตัวนี้มีความสามารถพิเศษ สามารถทนความร้อนได้สูง และที่สำคัญสามารถมีชีวิตรอดจากน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่นแอลกอฮอล์เจลได้ด้วย

Norovirus คืออะไร?

โนโรไวรัสเป็นเชื้อไวรัสแบบ Singla Strand – RNA ชนิดหนึ่งในวงศ์ Caliciviridae เดิมมีชื่อว่า Norwalk-like viruses ซึ่งพบการระบาดครั้งแรกที่เมือง Norwalk รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1968 และมักมีการระบาดรุนแรงในฤดูหนาว จึงมีอีกชื่อนึงว่า Snow Moutain Virus, Winter Vomiting Bug หรือ Winter Superbug

วงจรชีวิตของ โนโรไวรัส (ภาพจาก : Nature Reviews Microbiology)

วงจรชีวิตของ โนโรไวรัส (ภาพจาก : Nature Reviews Microbiology)

ลักษณะพิเศษของโนโรไวรัส

อย่างที่กล่าวไปตอนแรกว่า เจ้านี่ ไม่ใช่ไวรัสธรรมดาๆ แต่มันมีไอเทมพิเศษที่ทำให้เราไม่สามารถกำจัดมันได้ง่ายๆ ได้แก่

  • แพร่ระบาดง่ายและรวดเร็ว

ธรรมชาติของเชื้อนี้ เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว อีกทั้งการศึกษาทางจุลชีววิทยายังพบว่า มันเป็นเชื้อที่มี Infectious Dose ต่ำ หมายความว่า การติดเชื้อปริมาณน้อย เพียงแค่ไม่ถึง 100 ตัว ก็สามารถก่อโรคได้แล้ว

  • ช่องทางการติดเชื้อ

นับว่าโชคดีที่มัน ไม่ใช่เชื้อที่แพร่เชื้อทางอากาศ (Airbourne) ซึ่งเป็นช่องทางการแพร่เชื้อที่รุนแรงที่สุดได้ ทำให้เชื้อไม่ได้แพร่กระจายรุนแรงเหมือนพวกไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่เชื้อนี้ก็สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายของเราได้ทางอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนอยู่ (Fecal-oral Route) เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก รวมถึงสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งแม้ช่องทางนี้จะรุนแรงน้อยกว่า แต่ก็เป็นช่องทางที่ติดได้ไม่ยากนัก จึงต้องระมัดระวังในการรับประทานอาหารด้วย

  • ความทนทานของเชื้อ

เชื้อนี้สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีมาก ทนความร้อนได้สูงถึง 60 องศาเซลเซียสและมีชีวิตรอดที่จุดเยือกแข็งได้ และสามารถเกาะอยู่บนพื้นผิวสิ่งของ (นอก Host) ได้นานหลายวัน ซึ่งเชื้อไวรัสปกติไม่ถึกทนขนาดนี้ และที่สำคัญ เชื้อนี้ทนต่อสารชำระล้างและน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ นั่นหมายความว่า การล้างมือด้วยสบู่ที่ไม่นานพอ และการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ไม่สามารถฆ่าเชื้อชนิดนี้ได้ การฆ่าเชื้อให้หมดจำเป็นต้องใช้คลอรีนที่เข้มข้นตั้งแต่ 10 ppm ขึ้นไป ซึ่งเข้มข้นค่อนข้างมากและใช้ไม่ได้กับผลิตภัณฑ์อาหาร

X-ray crystallographic structure ของโนโรไวรัส (ภาพจาก wikipedia.org)

X-ray crystallographic structure ของโนโรไวรัส (ภาพจาก wikipedia.org)

พันธุกรรมมนุษย์กับการติดเชื้อ

จากการศึกษาการติดเชื้อในระดับยีน มีการค้นพบว่า ในมนุษย์อย่างเราบางคน ก็มียีนต้านทานเชื้อโนโรไวรัสนี้อยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ในที่นี้จะขอเล่าเพียงคร่าวๆ ให้พอเข้าใจนะครับ โดยในคนเราบางคนจะมียีนชนิดหนึ่งซึ่งจะสร้างโปรตีนไปจับกับ Histo-blood Group Antigen ในหมู่เลือดต่างๆ ซึ่งในคนที่มียีนนี้จะสามารถต้านทานโนโรไวรัสบางสายพันธุ์ได้ ส่วนคนที่ไม่มียีนนี้จะไม่มีภูมิต้านทาน  แต่หากมีการกลายของยีนก็อาจจะสร้างโปรตีนชนิดนี้ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยีนที่สร้างโปรตีนต้านทานไวรัสนี้จะทำงานมีประสิทธิภาพได้ดีไม่เท่ากันในแต่ละหมู่เลือด อีกทั้งยีนนี้ก็ไม่สามารถต้านทานโนโรไวรัสบางสายพันธุ์ได้ ดังนั้น จึงควรเฝ้าระวังเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งพันธุกรรมกับการติดเชื้อโนโรไวรัสยังคงอยู่ในระยะศึกษาเพื่อหาวัคซีนป้องกันต่อไป

แผนที่การระบาดของอาการท้องเสียจากโนโรไวรัส 2014 (ภาพจาก the lancet)

แผนที่การระบาดของอาการท้องเสียจากโนโรไวรัส 2014 (ภาพจาก the lancet)

การระบาดและอาการของโรค

ไวรัสชนิดนี้ก่อให้เกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลัน หรือที่รู้จักในชื่อ ไวรัสลงกระเพาะ/ลำไส้  มีอาการปวดท้อง อาเจียนและท้องเสีย อาจปวดศีรษะและมีไข้ร่วมด้วย มีกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มักจะมีอาการภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังติดเชื้อ

ระยะอาการของโรค (ภาพจาก Dr Deena's Daily Dose)

ระยะอาการของโรค (ภาพจาก Dr Deena’s Daily Dose)

การรักษา

เนื่องจากเป็นการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียารักษาโดยตรง ให้รักษาตามอาการ ดื่มน้ำเกลือแร่โออาร์เอสเพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หรืออาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ร่วมกับการทานยาตามอาการ เช่นยาแก้ปวด/ลดไข้ อาการจะดีขึ้นและหายเองใน 2-3 วัน ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการให้ชัดเจนก่อนซื้อยามาทาน เพราะท้องเสียอาจมีทั้งเกิดจากไวรัส และแบคทีเรีย ซึ่งใช้ยารักษาต่างกัน

การทานยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) จะไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น เพราะยาปฏิชีวนะจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น การติดเชื้อไวรัสไม่ต้องทาน แต่ใช้การรักษาตามอาการ การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อจะทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาในการป่วยครั้งต่อๆ ไป

การป้องกันโรค

  • ก่อนทานอาหารควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ อย่างน้อย 1 นาที หรือนานเท่ากับร้องเพลงช้าง จบ 1 รอบ (ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ) เพราะการล้างมือที่ไม่นานพออาจทำให้เชื้อถูกชะล้างออกไปไม่หมด
  • ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนสูง ประมาณ 70-75 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ไปก่อนในช่วงนี้
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับราวบันได เสารถไฟฟ้าและลูกบิดประตู หากสัมผัสควรล้างมือให้สะอาดด้วย
  • เฝ้าระวังในเด็กและผู้สูงอายุ หากมีอาการต้องสงสัย ควรพบแพทย์ทันที และไม่ควรซื้อยามาทานเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกรเพื่อป้องกันการรักษาไม่ตรงอาการและการดื้อยา

อ้างอิง: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Centers for Diseases Control and Prevention (USA)กรมประมง, โรงพยาบาลธนบุรี, โรงพยาบาลสมิติเวช, Hfocus.org, NCBI, delish.com

5/5 (1 Review)

"Microbiology Student / 42nd colony / BCC'162 / CU'99 / Writer and Dreamer"

error: