ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก NASA ได้เผยแพร่งานวิจัยที่แสดงถึงหลักฐานว่าบนพื้นผิวของดวงจันทร์ในบริเวณขั้วเหนือและใต้มีน้ำแข็งอยู่จริง และส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหลุมอุกกาบาต ซึ่งมีอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดอยู่ที่ -157 องศาเซลเซียส
ขั้วเหนือและใต้ของดวงจันทร์ เป็นในบริเวณที่มืดที่สุดและหนาวที่สุด ไม่โดนแสงจากดวงอาทิตย์ ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก NASA จึงได้มุ่งเป้าค้นหาหลักฐานว่ามีน้ำแข็งอยู่บนพื้นผิวของดวงจันทร์จริงหรือไม่ในบริเวณนี้ โดยน้ำแข็งที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบก็กระจายตัวกันอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ และอาจอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์มาอย่างยาวนาน โดยในบริเวณขั้วใต้ น้ำแข็งที่พบส่วนใหญ่จะกระจุกตัวกันอยู่อยู่บริเวณหลุมอุกกาบาต ในขณะที่น้ำแข็งบริเวณขั้วเหนือจะอยู่กระจายเป็นหย่อมกันออก
NASA ยืนยัน มีน้ำแข็งอยู่บนผิวบริเวณขั้วเหนือและใต้ของดวงจันทร์
ทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดย ดร. Shuai Li แห่งมหาวิทยาลัยฮาวายและมหาวิทยาลัยบราวน์ ร่วมกับดร. Richard Elphic จากศูนย์วิจัย Ames ของ NASA ในซิลิคอนวัลเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้ข้อมูลการสะท้อนแสงอินฟราเรด และตรวจวัดการดูดกลืนแสงอินฟราเรด ในบริเวณขั้วเหนือและใต้ ที่เก็บได้จากอุปกรณ์ชื่อ Moon Mineralogy Mapper (M3) ที่ติดอยู่บนดาวเทียม Chandrayaan-1 มาวิเคราะห์ ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถค้นหาน้ำและบอกความแตกต่างได้ว่าน้ำที่พบนั้นอยู่ในสถานะของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส โดยจากข้อมูลที่เก็บมาได้ตั้งแต่ปี 2008 ทำให้สรุปได้ว่า มีน้ำแข็งอยู่บนพื้นผิวบริเวณขั้วเหนือและใต้ของดวงจันทร์อยู่จริง
ก่อนหน้านี้ในปี 2009 ดาวเทียมแอลครอส (LCROSS) ได้เดินทางไปเพื่อ “ชน” หลุมอุกกาบาตคาบีอัสบริเวณขั้วใต้บนดวงจันทร์ ซึ่งผลจากการชนในครั้งนั้นเผยให้เห็นว่าที่ใต้พื้นผิวของดวงจันทร์นั้นไม่ได้แห้ง และอาจมีน้ำแข็งอยู่ แต่ข้อมูลจากดาวเทียมแอลครอสนี้ไม่สามารถสรุปได้ว่าของผิวดวงจันทร์มีน้ำแข็งอย่างแน่นอน เนื่องจากข้อมูลที่เก็บได้สามารถอธิบายได้ด้วยปรากฎการณ์อื่นๆ เช่น การสะท้อนของดินบนดวงจันทร์ที่มีความผิดปกติ
การค้นพบน้ำแข็งบนดวงจันทร์ในครั้งนี้ นำไปสู่คำถามถัดๆ ไป ว่ามีน้ำแข็งอยู่บนดวงจันทร์ได้อย่างไร หรือส่งผลกระทบอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์บ้าง คำตอบของคำถามเหล่านี้เหล่านักวิทยาศาสตร์จาก NASA คงต้องศึกษาค้นคว้าในภารกิจถัดๆ ไป
การค้นพบนี้ ได้เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561
อ้างอิง: NASA, Space.com, Weather.com